วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 11
อ.เมธาพร กาญจนเตชะ

ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คืออะไร ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice) เป็นกระบวนทัศน์กระบวนการยุติธรรมรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะเด่นคือเป็นทั้ง “วิธีการแบบสันติวิธี” ในการจัดการความขัดแย้งและการกระทำผิดกฎหมายที่นำสู่ “เป้าหมายเชิงสมานฉันท์” ในตัวเอง
ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนมุมมองจากเดิมที่ว่าอาชญากรรมคือการกระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ไปสู่มุมมองที่ว่าอาชญากรรมคือการกระทำที่ทำลายสัมพันธภาพระหว่างบุคคลก่อนที่จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำให้วิธีการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมภายใต้กรอบทัศนะยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มุ่งเน้น “การฟื้นฟูสัมพันธภาพระหว่างบุคคล” ด้วยการประชุมผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย คือผู้กระทำผิด เหยื่ออาชญากรรม ผู้แทนชุมชน เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงาน และอาจมีผู้สนับสนุนของคู่กรณีหรือผู้เกี่ยวข้องอื่นด้วยก็ได้ โดยให้ความสำคัญกับเหยื่ออาชญากรรมและชุมชนที่ได้รับผลกระทบเป็นศูนย์กลาง ซึ่งแตกต่างจากกระบวนทัศน์เชิงแก้แค้นทดแทน (retributive paradigm) อันเป็นกระบวนทัศน์กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักของสังคมที่ให้ความสำคัญต่อการลงโทษผู้กระทำผิดและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมขณะเดียวกันก็ละเลยเหยื่ออาชญากรรมและชุมชน
การประชุมจะช่วยให้ผู้กระทำผิดตระหนักถึงอันตรายหรือความเสียหายที่ตนได้กระทำแก่เหยื่ออาชญากรรมและชุมชนซึ่งเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางอ้อมอันนำไปสู่การชดใช้เยียวยาความเสียหายทั้งทางร่างกาย ทรัพย์สิน และความสัมพันธ์ รวมทั้งสร้างแผนความรับผิดชอบหรือสัญญาข้อตกลงที่เป็นไปได้สำหรับผู้กระทำผิดหรือสำหรับทั้งสองฝ่ายร่วมกัน
ด้วยเหตุนี้ผลลัพธ์ที่เกิดจากวิธีการเชิงสมานฉันท์จึงได้ปรับเปลี่ยนความขัดแย้งและการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทนไปสู่การสมานไมตรีระหว่างบุคคลและความสมานฉันท์ของชุมชนอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของสังคมมนุษย์
ส่วนหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการดำเนินโครงการกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในเรื่องทางอาญา ได้อธิบายความหมายคำที่เกี่ยวข้องไว้ ดังนี้
“โครงการกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” หมายถึง โครงการใดๆ ซึ่งใช้กระบวนการเชิงสมานฉันท์และมุ่งหมายที่จะให้บรรลุผลในทางสมานฉันท์
“กระบวนการเชิงสมานฉันท์” หมายถึง วิธีการใดๆ ซึ่งผู้เสียหายและผู้กระทำความผิด และในกรณีที่สมควรอาจมีบุคคลอื่นๆ หรือสมาชิกคนอื่นๆ ของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมนั้น ได้เข้ามามีส่วนร่วมกันอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากอาชญากรรม โดยทั่วไปแล้วอาจมีการช่วยเหลือโดย “ผู้ประสานงาน” กระบวนการการเชิงสมานฉันท์อาจได้แก่การไกล่เกลี่ย การประนอมข้อพิพาท การประชุมกลุ่ม และการพิพากษาโดยการประชุมล้อมวง
“ผลในทางสมานฉันท์” หมายถึง ข้อตกลงที่เป็นผลมาจากกระบวนการเชิงสมานฉันท์ ผลในทางสมานฉันท์ได้แก่การตอบสนองและโครงการ เช่น การฟื้นฟู การเยียวยา และการทำงานบริการสังคมโดยมุ่งหมายเพื่อให้ตรงกับความต้องการและความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลและความต้องการและความรับผิดชอบร่วมกันของคู่กรณีและเพื่อให้บรรลุผลในการทำให้ผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดได้กลับคืนมามีความสัมพันธ์ใหม่ที่ดีต่อกัน
“คู่กรณี” หมายถึง ผู้เสียหาย ผู้กระทำความผิด และบุคคลอื่นๆ หรือสมาชิกคนอื่นๆ ของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมซึ่งอาจมีส่วนร่วมในโครงการกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้น
“ผู้ประสานงาน” หมายถึง บุคคลซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการช่วยเหลือสนับสนุนการมีส่วนร่วมของคู่กรณีในโครงการกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยมีความยุติธรรมและเป็นกลาง
นอกจากนี้ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้แทนประเทศที่เข้าร่วมประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่างหลักการพื้นฐานว่าด้วยการดำเนินโครงการกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในคดีอาญา ซึ่งสหประชาชาติจัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2001 ณ ประเทศแคนาดา เป็นคนแรกผู้ริเริ่มใช้คำภาษาไทยว่า “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” สำหรับคำว่า “restorative justice” อธิบายเหตุผลที่ใช้คำภาษาไทยเช่นนี้ว่าเนื่องจากในขณะนั้น restorative justice เป็นแนวคิดใหม่สำหรับวงการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมและมีผู้ใช้ศัพท์ภาษาไทยหลากหลาย อาทิเช่น “ความยุติธรรมเชิงสร้างสรรค์” “การพื้นฟูความยุติธรรม” เป็นต้น แต่เนื่องจากว่าการแปลความตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษอาจจะไม่สามารถสื่อความหมายชัดเจน จึงใช้คำว่า “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” โดยคำนึงปรัชญาของแนวคิดนี้ และผลสุดท้ายที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์ในสังคม (social harmony) (กิตติพงษ์ กิตยารักษ์, 2545: 180)
“อันที่จริงยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถใช้ได้กับความขัดแย้งทุกประเภทและทุกระดับความรุนแรงเมื่อคู่กรณียินยอมและผู้ประสานงานเห็นสมควรนำเข้าสู่การประชุม อย่างไรก็ตาม ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถใช้ได้ดีกับคดีที่มีอัตราโทษไม่สูงนัก”
การก่อตัวของแนวคิดยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในไทย แนวคิดยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้รับการแนะนำเข้าสู่เวทีวิชาการด้านการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเมื่อปี พ.ศ. 2543 และมีเวทีสัมมนาทางวิชาการเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2546 จากนั้นเป็นต้นมาแนวคิดยุติธรรมเชิงจารีตซึ่งมีลักษณะคล้ายยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่มีใช้อยู่เดิมในสังคมไทยก็ได้รับการรื้อฟื้นและนำกลับมาใช้คู่ขนานในระบบงานยุติธรรมของไทยเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในฐานะกระบวนการยุติธรรมทางเลือก รวมทั้งได้มีการพัฒนาแนวคิดยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ตามรูปแบบสากลที่กำหนดไว้ในหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการดำเนินโครงการกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในเรื่องทางอาญา และนำมาใช้อย่างแพร่หลายในหน่วยงานต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ และในระยะต่อมาแนวคิดนี้ได้ขยายเข้าสู่โรงเรียน ชุมชน โรงพยาบาล และวงการอื่นๆ ที่เกิดปัญหาความขัดแย้งและต้องการทางเลือกใหม่ๆ เชิงสมานฉันท์ในการแก้ไขความขัดแย้งเหล่านั้น
รูปแบบต่างๆ ของยุติธรรมเชิงสมานฉันท์องค์การสหประชาชาติได้กำหนดรูปแบบของยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไว้ 4 รูปแบบ ดังนี้
รูปแบบแรก การไกล่เกลี่ยเหยื่อ-ผู้กระทำผิด (victim-offenders mediation หรือ VOM) วิธีการไกล่เกลี่ยเหยื่อ-ผู้กระทำผิดประกอบด้วย “การเผชิญหน้า” ระหว่างเหยื่ออาชญากรรมกับผู้กระทำผิดซึ่งพนักงานคุมประพฤติหรือนักสังคมสงเคราะห์หรืออาสาสมัครอาจทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานจัดการให้เกิดการประชุมขึ้น และมีข้อสังเกตสำคัญที่ว่าทั้งเหยื่ออาชญากรรมและผู้กระทำผิดต้องพูดคุยทำความเข้าใจกันในโลกของความเป็นจริงและบนฐานของความสมเหตุสมผลของสองฝ่ายโดยพยายามขจัดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จุดประสงค์สำคัญของการไกล่เกลี่ย คือ เพื่อสนับสนุนให้มีการเยียวยาเหยื่ออาชญากรรมโดยการจัดเวทีที่เป็นกลาง ปลอดภัย และควบคุมได้ให้เขาได้พบปะพูดคุยกับผู้กระทำผิดบนพื้นฐานของความสมัครใจ เปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้เรียนรู้ผลกระทบของอาชญากรรมที่มีต่อเหยื่ออาชญากรรม และเข้ามาแสดงความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของเขาที่กระทำไป และให้โอกาสเหยื่ออาชญากรรมและผู้กระทำผิดได้ร่วมกันพัฒนาและยอมรับแผนการเยียวยาชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมนั้น
รูปแบบที่สอง การประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชน (family and community group conference หรือ FCGC) การประชุมกลุ่มครอบครัวอาจใช้ในโรงเรียน โบสถ์ หรือกลุ่มทางสังคมอื่นๆ โดยกระบวนการนี้มีการย้ำถึงความเอาจริงเอาจังของชุมชนต่ออาชญากรรมและความเต็มใจของชุมชนที่จะยอมรับผู้กระทำผิดกลับคืนสู่ชุมชนอีกครั้ง เมื่อเขาได้รู้สึกสำนึกเสียใจต่อการกระทำผิดของตนแล้ว การประชุมกลุ่มครอบครัวใช้กระบวนการดำเนินการเช่นเดียวกับการไกล่เกลี่ยเหยื่อ-ผู้กระทำผิดแต่มีลักษณะสำคัญคือใช้กับเด็กและเยาวชนกระทำผิดจึงมีครอบครัวเข้าร่วมประชุมด้วยซึ่งทำให้สมาชิกครอบครัวได้มีโอกาสพูดคุยแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับผลกระทบที่พวกเขาได้รับจากอาชญากรรมที่เกิดขึ้น
รูปแบบที่สาม การพิจารณาแบบล้อมวง (sentencing circles) การพิจารณาแบบล้อมวงเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น “วงกลมแห่งสันติวิธี” ใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มชาวพื้นเมืองของทวีปอเมริกาเหนือโบราณโดยเฉพาะชาวอะบอริจินแคนาเดียนและประชากรทางตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกาโดยผู้เข้าร่วมในการพิจารณาแบบล้อมวง ได้แก่ สมาชิกของชุมชนเป็นผู้ที่เคยทำงานเป็นผู้พิพากษา ตำรวจ และอื่นๆ มาแล้วเป็นเวลาหลายปีในแคนาดารวมทั้งที่เคยรับผิดชอบงานการพิจารณาคดีและการควบคุมสอดส่องมาแล้ว การล้อมวงสามารถดำเนินการได้ในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรมรวมทั้งภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว ระหว่างการล้อมวงผู้เข้าร่วมจะได้รับการสนับสนุนให้พูดจากันอย่างเปิดเผยด้วยความเคารพต่อผลกระทบที่เกิดจากอาชญากรรมที่มีต่อชุมชน ขณะเดียวกันก็แสวงหาวิธีในการเยียวยาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายและหาวิธีการบูรณาการผู้กระทำผิด โดยใช้ขนนกเป็นสัญลักษณ์ส่งผ่านไปรอบๆ วง ผู้ที่ถือขนนกคือผู้ที่ได้รับโอกาสเป็นผู้พูดในขณะนั้นโดยไม่มีการขัดจังหวะ กระบวนการนี้อาจมีการล้อมวงเพียงวงเดียวหรือหลายวงซึ่งแต่ละคนมีโอกาสนำเสนอเรื่องราวของตนแตกต่างกันไป
รูปแบบที่สี่ คณะกรรมการบูรณาการชุมชน (community reparative boards) คณะกรรมการบูรณาการชุมชน เป็นวิธีการเชิงสมานฉันท์ในชุมชนที่หวนกลับคืนมาใหม่ เป็นต้นแบบใหม่ที่ชุมชนแสดงความรับผิดชอบต่อเด็กเยาวชนกระทำผิดอย่างกว้างขวาง รู้จักกันในนามของคณะกรรมการเยาวชน คณะกรรมการเพื่อนบ้าน หรือคณะกรรมการยุติธรรมชุมชน คณะกรรมการนี้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเบี่ยงเบนคดีหรือการคุมประพฤติ คณะกรรมการประกอบด้วยผู้คนในชุมชน ผู้กระทำผิด เหยื่ออาชญากรรม ผู้แทนจากกระบวนการยุติธรรม และบางครั้งก็มีสมาชิกครอบครัวของผู้กระทำผิดรวมอยู่ด้วย ใช้กับผู้กระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรง และดำเนินการเช่นเดียวกับรูปแบบอื่นๆ คือ มีการพูดคุยกันด้วยความเคารพก่อนที่คณะจะพิจารณาโทษ คณะกรรมการเหล่านี้มีความสำคัญต่อสมาชิกชุมชนในการอำนวยความยุติธรรมในขั้นตอนที่อยู่ระหว่างชุมชนกับระบบงานยุติธรรมทางอาญา
สำหรับสังคมไทย จัดว่ามีการใช้ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในรูปแบบนี้ซึ่งใช้จารีตประเพณี ขนบธรรมเนียมของท้องถิ่น หรือของกลุ่มชาติพันธุ์ ในการประชุมเพื่อจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยมีการกำหนดข้อตกลงอันนำไปสู่กิจกรรมการชดใช้ความเสียหาย ตลอดจนเยียวยาสมานฉันท์ความรุนแรงอันเกิดจากอาชญากรรมและรับผู้กระทำผิดกลับคืนสู่ชุมชนไปพร้อมๆ กัน เช่น สภาผู้เฒ่า เจ้าโคตร มูชาวาเราะฮฺ ฯลฯ ซึ่งอนุโลมจัดอยู่ในรูปแบบนี้



ประเภทคดีความอาญาที่สามารถใช้ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
อันที่จริงยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถใช้ได้กับความขัดแย้งทุกประเภทและทุกระดับความรุนแรงเมื่อคู่กรณียินยอมและผู้ประสานงานเห็นสมควรนำเข้าสู่การประชุม อย่างไรก็ตาม ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถใช้ได้ดีกับคดีที่มีอัตราโทษไม่สูงนัก ได้แก่
ความผิดที่เด็กหรือเยาวชนเป็นผู้กระทำ (juvenile delinquents) ความผิดที่เด็กหรือเยาวชนเป็นผู้กระทำหรือที่กล่าวมาแล้วข้างต้นโดยเรียกว่า “การกระทำผิด” นั้น จัดว่าเป็นพฤติกรรมกึ่งอาชญากรรมที่มีรูปแบบพิเศษเพราะผู้กระทำเป็นเด็กหรือเยาวชนที่หลักการสากลต่างยึดถือร่วมกันว่าเป็นผู้อ่อนเยาว์ต่อโลก สมควรได้รับการปฏิบัติแตกต่างจากผู้ใหญ่ที่กระทำผิดในเรื่องราวหรือคดีความเดียวกัน
ความผิดจากความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) ความรุนแรงในครอบครัวที่มีผู้หญิง เด็กและอาจรวมถึงคนชราที่ตกเป็นเหยื่อนั้น เป็นปัญหาสังคมกึ่งอาชญากรรมที่ต้องใช้ช่องทางพิเศษของกระบวนการยุติธรรมหรือใช้กระบวนการยุติธรรมที่มีออกแบบเฉพาะสำหรับคดีความประเภทนี้ โดยให้ความสำคัญกับ “เหยื่ออาชญากรรม” ในฐานะประธานของปัญหามากยิ่งขึ้นกว่าเดิมด้วยการคำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้เสียหายและแสวงหาวิธีการที่จะให้ผู้กระทำผิดเยียวยาชดใช้และปรับปรุงนิสัยความประพฤติอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นด้วยการเข้ารับการบำบัดรักษาโดยเล็งเห็นว่าหากส่งตัวผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักและรับโทษจำคุกก็รังจะเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาในครอบครัวเช่น ขาดรายได้ เกิดความแปลกแยก เพราะขาดมาตรการและกลไกสนับสนุนให้เกิดความสมานฉันท์ในครอบครัว ซึ่งกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาใช้กับเรื่องนี้ได้
ความผิดอาญาต่อส่วนตัวหรือความผิดอาญาที่ยอมความกันได้ คดีอาญาประเภทนี้เป็นความผิดที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้เป็นความผิดอันยอมความกันได้ ซึ่งโดยปกติจะมีลักษณะที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิส่วนบุคคลมิได้กระทบกระเทือนสาธารณชน กฎหมายจึงยินยอมให้ถอนคำร้องทุกข์หรือยอมความกันได้และเมื่อยอมความกันแล้วผู้เสียหายจะนำคดีมาฟ้องร้องอีกไม่ได้ คดีอาญาประเภทความผิดที่ยอมความกันได้ตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ (1) ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา (มาตรา 276 วรรค 1) (2) ความผิดฐานอนาจาร (มาตรา 278 และ มาตรา 284) (3) ความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ (มาตรา 309 วรรค 1) (4) ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น (มาตรา 310 วรรค 1 และ มาตรา 311 วรรค 1) (5) ความผิดฐานหมิ่นประมาท (มาตรา 326-328) (6) ความผิดฐานฉ้อโกง (มาตรา 341-342, 344-346 และ มาตรา 349-350) (7) ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ (มาตรา 352-355) (8) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358-359) และ (9) ความผิดฐานบุกรุก (มาตรา 362-364) ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีความผิดที่กฎหมายกำหนดให้เป็นความผิดอันยอมความได้นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว เมื่อเหยื่ออาชญากรรมและผู้กระทำผิดเป็นญาติกันตามมาตรา 71 ได้แก่ ความผิดฐานลักทรัพย์ (มาตรา 334-335) ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ (มาตรา 336 วรรค 1) ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน (มาตรา 343) ความผิดฐานรับของโจร (มาตรา 357) ความผิดฐานทำให้ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย (มาตรา 360)
ข้อพิพาททางแพ่งเกี่ยวเนื่องทางอาญา การกระทำผิดบางอย่างผู้กระทำมีความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา เนื่องจากการกระทำนั้นเข้าองค์ประกอบความผิดทางอาญาในขณะเดียวกันยังทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายด้วยลักษณะของการกระทำที่เป็นความผิดทางแพ่งเกี่ยวเนื่องทางอาญา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญานั้น ผู้กระทำผิดต้องรับผิดตามกฎหมายอาญาและยังต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหายอีกด้วย เพราะฉะนั้นข้อพิพาทในลักษณะนี้จะระงับลงได้ก็ต่อเมื่อคู่พิพาทตกลงประนีประนอมกันทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งด้วย ถ้าตกลงเฉพาะคดีแพ่งโดยไม่ได้กล่าวถึงความผิดทางอาญานั้นหามีผลต่อเนื่องถึงการยอมความในทางอาญาไม่ ในทำนองเดียวกันการยอมความในคดีอาญาอย่างเดียวก็หามีผลรวมถึงการประนีประนอมในทางแพ่งไม่ และในกรณีที่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญานี้ก็ต้องพิจารณาก่อนว่าคดีอาญานั้นเป็นคดีอาญาอันยอมความกันได้หรือไม่ด้วย ซึ่งถ้าเป็นคดีอาญาแผ่นดินซึ่งยอมความกันไม่ได้ก็จะประนีประนอมยอมความกันได้เฉพาะคดีแพ่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ความผิดเล็กๆ น้อยๆ อื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการจำคุกระยะสั้น คดีอาญาประเภทนี้เป็นความผิดประเภทที่แม้จะมีโทษเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่กฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นคดีความผิดอันยอมความกันได้ เพราะถือว่าเป็นความผิดต่อแผ่นดิน ทำให้ต้องมีการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีไปตามลำดับขั้นตอน แต่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมแต่ละลำดับ ได้แก่ ตำรวจ อัยการ และศาลอาจใช้ดุลพินิจเพื่อเบี่ยงเบนคดีประเภทนี้ออกนอกกระบวนการตามอำนาจที่กฎหมายกำหนดไว้ได้เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้โทษจำคุกระยะสั้นอันก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ผู้กระทำผิดและสังคมมากกว่า รวมทั้งลดความแออัดในเรือนจำได้ทางหนึ่ง ความผิดคดีอาญาเล็กๆ น้อยๆ ประเภทนี้ได้แก่ความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ (มาตรา 334) ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ (มาตรา 336) ความผิดที่กระทำโดยประมาท ฯลฯ เป็นต้น
คดีครอบครัว นอกจากคดีอาญาเหล่านี้แล้ว ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ยังสามารถนำมาใช้กับคดีครอบครัว เช่น กรณีฟ้องหย่าต่างๆ ได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้ประโยชน์สูงสุดเกิดแก่เด็กและเยาวชนผู้เป็นผลผลิตที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความแตกร้าวแห่งสัมพันธภาพของครอบครัว
ขั้นตอนและกระบวนการที่สามารถใช้การจัดการความขัดแย้งเชิงสมานฉันท์ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นมาตรการที่สามารถใช้ได้ในทุกขั้นตอนทั้งก่อนพิจารณาคดี ระหว่างการพิจารณาคดี และภายหลังจากการพิพากษาคดี ดังนี้ ขั้นตอนก่อนคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในชุมชน มีการใช้วิธีการเชิงสมานฉันท์โดยชุมชนเพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่ไม่ซับซ้อนสำหรับคดีความอาญาบางประเภทที่ไม่ร้ายแรง ก่อนมีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งเครือข่ายยุติธรรมชุมชน กระทรวงยุติธรรมอาจจัดให้มีหรือเข้าร่วมประชุมหรือฟื้นฟูยุติธรรมเชิงจารีตในชุมชนของตนในขั้นตอนนี้ได้
ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในโรงเรียน ใช้กับความขัดแย้ง พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และพฤติกรรมเกเรของเด็กเยาวชนในโรงเรียน โดยใช้กับกรณีต่างๆ ได้แก่ การทะเลาะเบาะแว้ง ชุลมุนทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน ลักทรัพย์ ลักขโมยของในห้างสรรพสินค้า เสพยาเสพติด มีพฤติกรรมเกเรในชั้นเรียน ขีดเขียนทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ทำลาย
ขั้นตอนเมื่อคดีความเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและก่อนพิพากษาคดี
ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในชั้นตำรวจ ในทางปฏิบัติ ชั้นพนักงานสอบสวนมีการใช้วิธีการเชิงสมานฉันท์อยู่แล้วในคดีประมาท คดีความรุนแรงในครอบครัว คดีความผิดอันยอมความกันได้ ฯลฯ (อยู่ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน พ.ศ. ...)
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในชั้นอัยการ สามารถใช้วิธีการเชิงสมานฉันท์ในชั้นพนักงานอัยการในคดีความผิดกึ่งอาชญากรรม (quasi criminal) เช่น คดีความรุนแรงในครอบครัว คดีที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะในการฟ้องร้องดำเนินคดี คดีเด็กและเยาวชนเป็นผู้กระทำผิด ฯลฯ ซึ่งอาจใช้หลักการดำเนินคดีอาญาตามดุลพินิจ และใช้การชะลอการฟ้องประกอบ (อยู่ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ชะลอการฟ้อง พ.ศ....)
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในชั้นพิจารณาคดีของศาล ศาลสามารถใช้วิธีการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้ตลอดเวลาก่อนที่จะมีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดในขั้นตอนการสืบเสาะและพินิจของงานคุมประพฤติ รวมทั้งปัจจุบันมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับแก้ไข) พ.ศ. 2548 เกี่ยวกับสิทธิในการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาของผู้เสียหาย โดยศาลเพิ่มสิทธิให้ผู้เสียหายในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์สามารถร้องขอศาล เพื่อสั่งให้จำเลยชดเชยค่าเสียหายในคดีอาญาได้โดยไม่ต้องฟ้องแพ่งอีกด้วย (มาตรา 44/1) ภาพลักษณ์ของโรงเรียน ฆ่าหรือทรมานสัตว์ อนาจาร มีอาวุธ เป็นต้น
ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในที่ทำงาน มีการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในที่ทำงานในเรื่องเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยนความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างกรณีไม่ร้ายแรง และ กรณีมีการอนาจาร หรือ ล่วงละเมิดทางเพศด้วยวาจาในที่ทำงาน เป็นต้น
ขั้นตอนหลังการพิจารณาคดี
ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในชั้นราชทัณฑ์ เมื่อมีการจำคุกผู้กระทำผิดไประยะหนึ่งแล้ว หากผู้กระทำผิดได้รับการพักการลงโทษ หรือในเวลาใดก็ตามก่อนที่ผู้กระทำผิดจะสิ้นสุดการรับโทษจำคุกกลับคืนสู่ชุมชนสามารถใช้ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์รูปแบบการไกล่เกลี่ยเหยื่อ-ผู้กระทำผิดได้เช่นกัน
บทสรุป
ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้ชื่อว่าเป็นระบบยุติธรรมแห่งอนาคต เนื่องจากในศตวรรษที่ 21 กระแสสังคมโลกพัฒนาไปสู่อีกยุคสมัยหนึ่งที่ “อำนาจ” มิได้อยู่ที่ “รัฐ” อีกต่อไป แต่ “อำนาจ” จะกลับมาอยู่ที่ประชาชนและเครือข่ายประชาสังคมแทน เพราะอิทธิพลของเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ “รัฐ” เล็กลงไปทุกทีๆ และไร้อำนาจการควบคุมความคิดและแบบแผนพฤติกรรมความสัมพันธ์ของคนในรัฐเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ พัฒนาการการเปลี่ยนที่ทางของ “อำนาจ” ในลักษณะนี้ทำให้ประชาสังคมที่โยงใยสัมพันธ์กันเป็นเครือข่ายต่างๆ มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การมีเครือข่ายเชิงยุติธรรมที่เกาะเกี่ยวกันไว้ด้วยกิจกรรมชุมชนเชิงสร้างสรรค์ย่อมทำให้ชุมชนเกิดพลังที่เข้มแข็งในการควบคุมสังคมไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมได้ทันเวลากับการที่รัฐต้องสูญเสียพลังอำนาจในการควบคุมสังคมลงไปในที่สุด ระบบความยุติธรรมที่แท้จริงย่อมนำผู้คนให้บรรลุถึงความสันติสุขสมานฉันท์ และการที่จะไปสู่ระบบความยุติธรรมที่ดีในความคาดหวังในอนาคตนั้นจำเป็นต้องอาศัยยุทธวิธีที่สื่อความหมายและสร้างความศรัทธาแก่ประชาชนในลักษณะเดียวกัน รวมทั้งมีเอกลักษณ์ความเป็นไทยผสมผสานอยู่ด้วย ซึ่ง “ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เชิงสันติวิธีแห่งระบบยุติธรรมในอนาคตของไทยที่ผูกโยงรัฐ ชุมชน คู่กรณี และกลไกการจัดการความขัดแย้งเชิงสมานฉันท์รวมเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างแนบเนียน

http://rescom2006.trf.or.th/display/show_colum_print.php?id_colum=1836

เอกสารชุดที่ 10

วิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 10
อ.เมธาพร กาญจนเตชะ

มาตรการของศาลในการลดปริมาณคดี
การนั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ คืออะไร
คือการที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดในคดีใดคดีหนึ่งออกนั่งพิจารณาคดีสืบพยาน เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากพยาน ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่า คดีที่ขึ้นสู่ศาลยุติธรรมจะได้รับการพิจารณาพิพากษาด้วยความรอบคอบ
การพิจารณาคดีต่อเนื่อง คืออะไร
คือการที่ศาลพิจารณาคดี โดยสืบพยานติดต่อกันตั้งแต่ต้นจนกว่าจะเสร็จคดี จากนั้นจึงจะเริ่มพิจารณาคดีใหม่เรียงลำดับไป
การพิจารณาคดีต่อเนื่อง เป็นแบบ "สืบจนเสร็จ ม้วนเดียวจบ"
ศาลจะนัดสืบพยานทั้งหมดในคดีให้เสร็จในรวดเดียว ไม่สืบไปเลื่อนไป โดยจะนัดสืบพยานวันหนึ่งหรือช่วงเวลาหนึ่งเพียงคดีเดียว ทำให้ศาลมีเวลาอย่างเต็มที่ ที่จะสืบพยานตามที่นัดได้ทุกปาก
ข้อดีของการพิจารณาคดีต่อเนื่อง
· เพิ่มความเชื่อมั่น
โดยเป็นหลักประกันว่าผู้พิพากษาที่นั่งสืบพยานคดีใดจะสืบพยานคดีนั้นโดยตลอดจนเสร็จคดี ทำให้ได้ฟังข้อเท็จจริงจากพยานทั้งหมดด้วยตนเอง การพิพากษาคดีจึงเป็นไปด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ
· รวดเร็ว
โดยศาลได้สร้างกระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนวันนัด เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องมีการดำเนินคดีล่วงหน้า ทำให้สามารถป้องกันการเลื่อนคดีและใช้วันนัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินคดีในภาพรวมทั้งระบบก็จะรวดเร็วขึ้น
· ประหยัด
ศาลจะสืบพยานเท่าที่จำเป็น ไม่ยึดเยื้อและกำหนดวันนัดติดต่อกันไป คู่ความและพยานไม่ต้องมาศาลบ่อยครั้ง ซึ่งจะประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
ประโยชน์แก่พยานและคู่ความ
คู่ความมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาคดีครบองค์คณะ ศาลและคู่ความต้องประสานงานในการหาแนวทางที่จะให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยต้องศึกษารูปคดีเพื่อให้มีการสืบพยานเท่าที่จำเป็น ต้องมีการตรวจสอบความพร้อมของคดีและพยานเพื่อมิให้เกิดข้อขัดข้องในวันนัดสืบพยานและต้องให้ความสำคัญแก่วันนัดสืบพยาน เพื่อให้วันนัดสืบพยานและต้องให้ความสำคัญแก่วันนัดสืบพยาน เพื่อให้วันนัดสืบพยานมีความแน่นนอน ไม่ต้องเลื่อนคดีซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่พยานแลคู่ความทุกฝ่าย
สรุป
การพิจารณาคดีต่อเนื่องและครบองค์คณะเป็นระบบการพิจารณาคดีที่ทำให้ศาลสามารถค้นหาข้อเท็จจริงจากพยานได้อย่างสมบูรณ์ และถูกต้อง ส่งผลให้การพิจารณาคดีรวดเร็วและเป็นธรรม ทั้งเป็นการพัฒนาการพิจารณาพิพากษาคดีในระบบองค์คณะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2553

เอกสารประกอบการสอนชุดที่ 8

เอกสารวิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 8
อาจารย์ เมธาพร กาญจนเตชะ
รูปแบบการระงับข้อพิพาท
1. กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice)
คำว่า “Restorative Justice” หรือ “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” เป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสังคมโลก โดยสหประชาชาติ ได้เสนอให้ใช้คำนี้ในการประชุม UN Expert Meeting on Restorative Justice ที่รัฐบาลคานาดาจัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2544 หมายถึง “การอำนวยความยุติธรรมที่ต้องการทำให้ทุกฝ่ายซึ่งได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมได้กลับคืนสู่สภาพดีเช่นเดิม อันเป็นการสร้าง ‘ความสมานฉันท์ในสังคม’ เป็นเป้าหมายสุดท้าย”[1]
ลักษณะและรูปแบบของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ต้องพิจารณาใน 2 ส่วน คือ
1.1 กระบวนการที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์
กระบวนการ (Process) ต้องเป็นกระบวนการที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ ทำให้ฟื้นฟู โดยมีหลักการว่า ควรเป็นกระบวนการที่ไม่เป็นทางการ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้มาพบในบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดความปรองดอง ส่งเสริมให้ผู้กระทำความผิดได้สำนักผิด ได้ชดใช้ ส่งเสริมให้ชุมชนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วน เกี่ยวข้อง
ในต่างประเทศมีกระบวนการที่ใช้หลายรูปแบบ ได้แก่ การประชุมกลุ่ม อาจเป็นกลุ่มครอบครัว กลุ่มชุมชน หรือประชุมวงกลม (Sentencing Circle) เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตามความสำคัญก็คือ การสร้างความปรองดองของทุกฝ่าย
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ สามารถใช้ได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ได้แก่
- ชั้นตำรวจ หลายประเทศได้ใช้กระบวนการนี้สำหรับความผิดที่ใช้การตักเตือนหรือปรับ
- ชั้นอัยการ กรณีมีการชะลอการฟ้องก็สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้
- ชั้นศาล สามารถใช้ประกอบเป็นเงื่อนไขในการกำหนดคำพิพากษาว่าควรจะเข้าสู่กระบวนการนี้ก่อน
- หลังคำพิพากษา สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ประกอบเงื่อนไขการพักการลงโทษได้
1.2 ผลลัพธ์ที่จะก่อให้เกิด “ความสมานฉันท์” เป็นหัวใจสำคัญ คือ “การแสดงความสำนึกผิด” “การยินยอมที่จะปรับพฤติกรรม” การเยี่ยวยาชดใช้ที่ผู้กระทำผิดพร้อมที่จะชดใช้ให้กับผู้เสียหาย ซึ่งอาจจะไม่ใช่เป็นเรื่องเงินเท่านั้น อาจเป็นการบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะอื่น ๆ
ประเภทความผิดที่สามารถนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาปรับใช้ [2]
1) ความผิดที่เด็กเป็นผู้กระทำความผิด
2) ความผิดจากความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) กรณีสามีทำร้ายภริยา การนำตัวผู้กระทำความผิดที่จะต้องพึ่งพากันไปจำคุกไม่ได้ประโยชน์อะไร
3) ความผิดที่กระทำโดยประมาท ก็สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้ดี
4) ความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ อื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการจำคุกระยะสั้น
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เป็นกระบวนการยุติธรรมแนวใหม่ ที่ฟื้นฟูความยุติธรรม (Restorative Justice) และองค์การสหประชาชาติมีข้อมติที่จะให้ประเทศต่าง ๆ ศึกษาและประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง โดยเห็นว่าอาชญากรรมเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหาย โดยผู้กระทำผิดควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง และมีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบ การจัดการกับอาชญากรรมไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องของรัฐที่จะทำการลงโทษ โดยเฉพาะโทษจำคุกโดยที่ผู้กระทำผิดไม่ได้สำนึกในการกระทำของตน และกลับไปกระทำผิดอีก
การจัดการกับอาชญากรรมควรเป็นการดำเนินการฟื้นฟูความเสียหายให้กลับคืนมา โดยผู้มีส่วนรับผิดชอบคือ ผู้เสียหาย ผู้กระทำผิด และชุมชน เช่นนี้จึงจะเกิดความยุติธรรม จะต้องมุ่งฟื้นฟูความเสียหายทั้งทางวัตถุและจิตใจของผู้เสียหาย และผู้กระทำผิดจะต้องรู้สึกรับผิดชอบสำนึกผิด และอยากเข้ามาชดเชยหรือทำให้ความเสียหายลดน้อยลง กระบวนการดังกล่าวนี้จะเป็นกระบวนการที่แตกต่างไปจากการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรมโดยทั่วไป โดยเป็นกระบวนการที่เน้นการตกลงกันของฝ่าย ผู้เสียหาย ผู้กระทำผิดและชุมชน
กระบวนการยุติธรรมแบบดั้งเดิม ผู้กระทำผิดมักจะพยายามหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ และมักไม่รับรู้หรือสำนึกในการกระทำผิดของตนว่าก่อความเสียหายเพียงใด แต่การฟื้นฟูความยุติธรรมจะทำให้ผู้กระทำผิดต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน และทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในการชดเชยต่อผู้เสียหายและชุมชน
จุดหลักของการฟื้นฟูความยุติธรรมอยู่ที่การพบปะร่วมกันของผู้เสียหาย ผู้กระทำผิดและสมาชิกของชุมชน ในระหว่างการพบปะแต่ละฝ่ายจะมีโอกาสได้เปิดเผยเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และแสดงความรู้สึกของตนเองออกมา การพบปะจะต้องช่วยให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เข้าใจฝ่ายอื่น ๆ และขั้นตอนในการที่จะชดเชยความเสียหาย การพบปะจะจบลงด้วยการตกลงกันว่าผู้กระทำผิดจะชดเชยความเสียหายได้อย่างไร การชดเชยการเป็นในรูปของการจ่ายค่าชดเชย การทำงานให้ผู้เสียหายหรือชุมชน หรือวิธีการอื่น ๆ การตกลงกันของฝ่ายต่าง ๆ อาจทำได้ในรูปแบบต่าง ๆ คือ[3]
1) การใช้วิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้เสียหายกับผู้กระทำผิด
โดยมีคนกลางเรียกว่า ผู้ไกล่เกลี่ย (Mediator) ซึ่งผ่านการอบรมมาอย่างดี มาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือไกล่เกลี่ย เพื่อมุ่งให้ผู้กระทำผิดยอมรับผิดชอบในการกระทำของเขาและยอมรับผิด รวมทั้งพร้อมที่จะขอโทษชดเชย หรือแก้ไขตนเองไม่กระทำผิดซ้ำอีก ขณะเดียวกันก็มุ่งที่จะทำให้ผู้เสียหายพอใจและให้อภัย แต่ก่อนที่จะให้ผู้เสียหายและผู้กระทำผิดมาพบกันเพื่อรับการไกล่เกลี่ยนั้น ต้องผ่านขั้นตอนการไกล่เกลี่ยมาก่อน กล่าวคือ ผู้เสียหายและผู้กระทำผิดต้องยินยอมที่จะเข้าโครงการ และยอมรับในหลักการเบื้องต้นก่อน จึงจะนำเข้ามาพบกัน วิธีการดังกล่าวนี้มีใช้กันมากในแคนาดา สหรัฐ อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ออสเตรีย นอร์เวย์ และฟินแลนด์
2) การประชุมกลุ่มครอบครัว (Family group Conferencing)
เป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพากษาอีกรูปแบบหนึ่ง โดยนอกจากจะมี ผู้กระทำผิด ผู้เสียหาย และผู้ไกล่เกลี่ยแล้ว ยังมีตัวแทนของชุมชนและครอบครัวของ ทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมปรึกษาหารือประชุมกันถึงแนวทางในการจัดการกับความผิดที่เกิดขึ้น นับเป็นการจัดการกับความผิดที่เกิดขึ้นที่แตกต่างจากการพิจารณาคดีโดยทั่วไป โดยยอมรับความเท่าเทียมกันของทุกฝ่ายในการที่จะตกลงแก้ปัญหาร่วมกัน
การประชุมจะเริ่มจากการที่แต่ละฝ่ายจะเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความรู้สึก โดยมีผู้ไกล่เกลี่ยที่จะแปรเปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นความเข้าใจ และทำให้การจัดการกับความผิดที่เกิดขึ้นเป็นไปในทางสร้างสรรค์ โดยเริ่มจากการให้ผู้กระทำผิดสำนึกและรับผิดชอบในการกระทำ พร้อมทั้งทำสิ่งใดในการชดเชยให้ผู้เสียหายและ ชุมชน ในขณะที่ผู้เสียหายและชุมชนก็ให้อภัยและพร้อมที่จะช่วยเหลือให้ผู้กระทำผิดไม่กระทำผิดซ้ำอีก วิธีการนี้มีใช้กันในนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อัฟฟาริกาใต้ อังกฤษ สหรัฐ และ แคนาดา
3) การล้อมวงพิจารณาความ (Sentencing Circle)
เป็นการพิจารณาความที่มีรูปแบบไม่เป็นทางการ โดยผู้พิพากษา อัยการ ทนาย จำเลย ผู้เสียหาย ญาติ และครอบครัว ตลอดจนพยานและตำรวจ จะมานั่งล้อมวงเป็นวงกลมเพื่อพิจารณาความที่เกิดขึ้น โดยให้แต่ละฝ่ายทุกคนได้พูดถึงเหตุ- การณ์ที่เกิดขึ้น ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ จากนั้นจึงเป็นการทำความเข้าใจร่วมกัน การยอมรับผิดของผู้กระทำผิด การให้อภัยของฝ่ายผู้เสียหาย และการชดเชยความเสียหายที่ฝ่ายผู้กระทำผิดจะชดเชยให้ผู้เสียหายหรือสังคม รวมทั้งที่ประชุมจะร่วมกันกำหนด วิธีการลงโทษที่เหมาะสมกับผู้กระทำผิดที่จะช่วยป้องกันการกระทำผิดซ้ำขึ้นอีก
การพิจารณาความวิธีนี้ จึงเปรียบเสมือนคนในชุมชนที่ร่วมกันจัดการกับการกระทำผิดที่เกิดขึ้น โดยใช้วิธีการพิจารณาแบบไม่เป็นทางการ ทุกคนนั่งล้อมวงเสมอกัน และช่วยกันคิดหาหนทางที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมต่อทุกฝ่ายมากกว่าที่จะเน้นการลงโทษ โดยที่ผู้เสียหายไม่ได้รับการทดแทน ในการตกลงไกล่เกลี่ยและการล้อมวงพิจารณาความ อาจลงเอยโดยการให้ผู้กระทำผิดยอมรับผิดและทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อชุมชน เช่น การทำงานบริการสาธารณะ หักเงินเข้ากองทุนสงเคราะห์เหยื่ออาชญากรรม ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหาย เข้าร่วมในการอภิปรายเพื่อให้ความรู้ในการป้องกันอาชญากรรมกับชุมชน ขณะที่ชุมชนเองก็มีการรวมกลุ่มในการสงเคราะห์ผู้พ้นโทษและช่วยเหลือผู้เสียหาย
ในแคนาดา ตำรวจที่ทำงานด้านชุมชนสัมพันธ์จะรับบทบาทในเรื่องนี้ ตำรวจเหล่านี้ใกล้ชิดกับชุมชน ผู้เสียหาย และผู้กระทำผิด จะทำหน้าที่ในการดำเนินการข้างต้น การให้ความรู้และการป้องกันอาชญากรรม โดยการทำงานอย่าง ใกล้ชิดกับผู้นำชุมชน เมื่อมีคดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเกิดขึ้น ตำรวจจะส่งเข้าโครงการ โดยมีผู้ไกล่เกลี่ย ผู้นำชุมชน ร่วมกันเป็นคณะในการตกลงของคู่คดี หากตกลงกันได้ก็ไม่ต้องดำเนินคดีในศาล หากจะมีกิจกรรมที่ผู้กระทำผิดจะต้องกระทำ ก็ร้องขอให้ศาลพิจารณาส่งต่อไป กระบวนการดังกล่าวนี้จะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน โดยไม่ต้องรอการพิจารณาคดีเป็นปี
ในออสเตรเลียมีการนำระบบการล้อมวงพิจารณาความไปใช้ในคดีเด็กและเยาวชนและคดีอาญาทั่วไป จุดประสงค์ก็เพื่อที่จะเบี่ยงเบนผู้กระทำผิดออกจากกระบวนการยุติธรรมแบบดั้งเดิม โดยการให้โอกาสผู้กระทำผิดเข้ามาแก้ปัญหา ข้อพิพาทในที่ประชุมชุมชนแทนการพิจารณาคดีในศาล ยกเว้นในกรณีผู้กระทำผิดปฏิเสธคดีและต้องการที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน การประชุมแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง จะประกอบด้วย ผู้เสียหายและญาติพี่น้อง ผู้กระทำผิดและญาติ พี่น้อง และกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ รวมทั้งผู้นำประชุม
การล้อมวงพิจารณาความ ผู้นำประชุมจะเน้นการอภิปรายถึงการประณามการกระทำผิด โดยหลีกเลี่ยงการประณามคุณลักษณะของผู้กระทำผิด โดยผู้กระทำผิดจะต้องอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีความรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์และคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ส่วนผู้เสียหายจะแถลงถึงผลกระทบของอาชญากรรมทางร่างกาย เศรษฐกิจ และอารมณ์ ซึ่งจะทำให้ผู้กระทำผิดและญาติมีโอกาสที่จะรู้สึกสำนึกในการกระทำของพวกเขาและขอโทษผู้เสียหาย จากนั้นจึงให้มีการตกลงที่จะลงนามข้อตกลงที่จะชดเชยความเสียหาย เช่น ในรูปของการจ่ายค่าชดเชย ทำงานชดใช้ผู้เสียหายหรือสังคม หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ ตามแต่จะตกลง
ปัจจุบันการพิจารณาคดีโดยชุมชนมีกฎหมายรองรับ บางรัฐดำเนินการโดยตำรวจ บางรัฐ อัยการ และบางรัฐผ่านอำนาจศาล และบางรัฐโดยองค์กรศาสนา ใช้กับคดีเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ และคดีอาญาในบางส่วน นอกจากนี้บางประเทศมีการประยุกต์ใช้แนวคิดนี้กับงานราชทัณฑ์ กล่าวคือ ให้เหยื่อและชุมชนเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการราชทัณฑ์
การฟื้นฟูความยุติธรรมจะใช้ในคดีที่ผู้กระทำผิดรับสารภาพหรือยอมรับผิด และทั้งผู้เสียหายและผู้กระทำผิดยินยอมที่จะเข้าร่วมในกระบวนการไกล่เกลี่ย โดยส่วนใหญ่จะใช้กับความผิดในคดีลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ปล้น บุกรุก กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอก และคดีทางเพศ ในส่วนของขั้นตอนที่จะนำการฟื้นฟูความยุติธรรมมาใช้นั้น อาจทำได้ในขั้นตอนของตำรวจ อัยการ หรือของศาล ภายหลังการพิจารณาคดี โดยเป็นคำสั่งศาล ทั้งนี้ บางประเทศจะให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ดำเนินการ บางประเทศให้องค์กรในชุมชนดำเนินการ หรือร่วมกันระหว่างฝ่ายรัฐกับชุมชน ซึ่งรวมถึงการดำเนินการติดตามดูแลให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม ประเทศส่วนใหญ่จะใช้กระบวนการฟื้นฟูความยุติธรรมกับคดีเด็กและเยาวชน แต่ก็มีหลายประเทศที่ใช้ในคดีอาญาทั่วไปเช่นกัน ทั้งนี้ จะต้องมีกฎหมายรองรับให้อำนาจในการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวนี้
เห็นได้ว่า การฟื้นฟูความยุติธรรม เป็นทางเลือกในการจัดการกับการกระทำผิดที่แตกต่างไปจากกระบวนการยุติธรรมแบบดั้งเดิม ซึ่งเน้นในเรื่องการลงโทษผู้กระทำผิด การฟื้นฟูความยุติธรรมจะเน้นการฟื้นฟูความยุติธรรมให้กลับคืนมา โดยให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบและชดเชยให้ผู้เสียหายและชุมชนในทางใดทางหนึ่ง ทั้งนี้ โดยมีกระบวนการในการไกล่เกลี่ย ซึ่งทุกฝ่ายจะเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนร่วมกันในการชดเชยความเสียหาย และทำให้ความยุติธรรมกลับคืนมา การฟื้นฟูความยุติธรรมจึงเป็นกระบวนการยุติธรรมทั้งของผู้เสียหายและผู้กระทำผิด
2 การชะลอการฟ้อง (Suspension of Prosecution)
การชะลอการฟ้องเป็นการสั่งคดีประการหนึ่งของพนักงานอัยการในต่าง- ประเทศ ซึ่งเป็นอำนาจในการใช้ดุลพินิจที่จะไม่ฟ้องผู้ต้องหาซึ่งมีมูลเชื่อว่ากระทำผิด อันมีส่วนช่วยในการลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล หมายความถึงการที่พนักงานอัยการมีความเห็นแล้วว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย แต่จะยังไม่ฟ้องทันที หากจะกำหนดเงื่อนไขควบคุมความประพฤติที่ผู้ต้องหาจะต้องปฏิบัติในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งหากผู้ต้องหาสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นได้ครบถ้วนตลอดช่วงเวลานั้น พนักงานอัยการจะสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหานั้น แล้วปล่อยตัวไป แต่ถ้าผู้ต้องหาไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นได้ พนักงานอัยการจะมีคำสั่งฟ้องและนำตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องต่อศาลต่อไป[4] เป็นการลดจำนวนคดีบางประเภทซึ่งไม่ควรนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลออกไปจากระบบ อันเป็นการลดคดีที่คั่งค้างในศาล และเป็นการกลั่นกรองคดีอาญาบางประเภทที่สามารถแก้ไข ผู้กระทำผิดให้สามารถปรับตัวให้เข้าสู่สังคมได้ดีกว่ากระบวนการตามปกติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี โดยเฉพาะในคดีความผิดบางประเภท เช่น ความผิดซึ่งกระทำโดยประมาท ความผิดระหว่างสมาชิกในครอบครัว ความผิดซึ่งเด็กเป็นผู้กระทำผิด เป็นต้น
วัตถุประสงค์อันสำคัญที่นำวิธีการชะลอฟ้องมาใช้ คือ
1) ให้มีการชะลอการฟ้องผู้กระทำผิดอาญาบางประเภทไว้ชั่วระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาได้มีโอกาสกลับตัวเป็นคนดีได้ภายใต้ความควบคุม ดูแลของเจ้าหน้าที่ และทำให้ไม่เป็นการเสียหายแก่ประวัติและชื่อเสียงของบุคคลนั้น
2) เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีชั้นศาล และการควบคุมทั้งของผู้กระทำผิดและของแผ่นดิน และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดอาญาได้กลับตัวเป็นคนดีแทนที่จะส่งฟ้องศาลและร้องขอการลงอาญา หรือการรอการกำหนดโทษตามวิธีเดิม
วิธีการและระยะเวลาดำเนินการ [5]
การชะลอการฟ้องให้อำนาจพนักงานอัยการที่จะพิจารณาเสนอความเห็นว่า ผู้ต้องหาคนใดที่ตามการสอบสวนได้ความว่า กระทำผิดตามข้อหา แต่เมื่อคำนึงถึงประวัติ ความประพฤติ อุปนิสัย การดำเนินอาชีพ สติปัญญา การศึกษาอบรม สภาพความผิดและสภาพแวดล้อมแห่งจิต แล้วควรได้รับการชะลอการฟ้อง ให้พนักงานอัยการเสนอความเห็นควรชะลอการฟ้องไปยังคณะกรรมการชะลอการฟ้อง (Board of Suspend Prosecution) ซึ่งอาจประกอบด้วยหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
เมื่อคณะกรรมการชะลอการฟ้องพิจารณาแล้วไม่เห็นชอบด้วยกับความเห็นของพนักงานอัยการ ก็ต้องยื่นฟ้องผู้ต้องหาคดีนั้นไป ถ้าเห็นชอบด้วยก็จะอนุญาตให้มีการชะลอการฟ้อง
ผู้ต้องหาที่ได้รับอนุญาตให้ชะลอการฟ้อง ต้องได้รับการคุมประพฤติโดยพนักงานคุมประพฤติ (Probation Officer) และต้องรายงานตัวตามกำหนดด้วย ทั้งนี้ ทั้งผู้ต้องหาและผู้เสียหายต้องยินยอมให้มีการชะลอการฟ้อง เมื่อครบกำหนดการชะลอการฟ้องแล้ว พนักงานคุมประพฤติจะรายงานเสนอพนักงานอัยการเกี่ยวกับความประพฤติของผู้ต้องหาดังกล่าว และพนักงานอัยการจะทำความเห็นเสนอคณะกรรมการชะลอการฟ้องต่อไปว่าควรระงับการฟ้องเด็ดขาดหรือไม่
ระหว่างการคุมประพฤติถ้าผู้ต้องหามีพฤติการณ์ชัดเจนว่า ไม่สามารถกลับตนเป็นคนดีหรือผิดเงื่อนไขที่กำหนดไว้สำหรับการคุมประพฤติ คณะกรรมการชะลอการฟ้องอาจระงับการชะลอการฟ้อง และให้ฟ้องคดีนั้นต่อไป
ถ้าระหว่างการคุมประพฤติ ผู้ต้องหากระทำผิดอีก ก็จะถูกฟ้องทั้งคดีที่ชะลอไว้และคดีความผิดใหม่ด้วย
3. การให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการคำตักเตือนและทำทัณฑ์บนแก่ผู้กระทำผิด[6]
การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการระงับข้อพิพาท มีอยู่ทั่วไป เช่น ในประเทศไทยที่ให้อำนาจตำรวจในการเปรียบเทียบปรับคดีลหุโทษ และคดีที่มีอัตราโทษปรับสถานเดียวและเจ้าพนักงานตามกฎหมายได้ให้อำนาจพนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบปรับได้ แม้คดีนั้นจะมีอัตราโทษเกินกว่าลหุโทษก็ตาม แต่สำหรับคดีอันยอมความได้อื่น ๆ และคดีอาญาแผ่นดินที่ไม่ร้ายแรงและไม่มีบทกฎหมายบังคับให้ต้องนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลเท่านั้นแล้ว พนักงานสอบสวนก็อาจจะจัดทำสำนวนการสอบสวนและเสนอความเห็นเบื้องต้นเห็นควรไม่ฟ้องไปยังพนักงานอัยการเพื่อสั่งไม่ฟ้องต่อไปหากคู่กรณีสามารถทำการเจรจาและตกลงกันได้
ในประเทศนิวซีแลนด์ เลือกที่จะให้อำนาจตำรวจในการดำเนินการตักเตือนและทำทัณฑ์บนผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ได้อย่างเป็นการทั่วไป โดยมีโครงการที่จะดำเนินการอย่างจริงจังมาตั้งแต่ ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา การดำเนินการของประเทศนิวซีแลนด์ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกฎหมาย ของกระทรวงยุติธรรมได้ให้ ข้อเสนอแนะบางประการดังนี้
1) การพิจารณากำหนดกรอบของกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ชัดเจน
2) การกำหนดกรอบการกระทำผิด เพื่อใช้ในการกระบวนยุติธรรมทางเลือก
อย่างไรก็ตาม นิวซีแลนด์ ยังจะไม่นำกระบวนการเตือนหรือทัณฑ์บนโดยตำรวจมาใช้กับการกระทำผิดของผู้ใหญ่ในทันที ทั้งนี้ เนื่องจากจะต้องมีการทบทวนมาตรการที่จะนำมาใช้ให้เหมาะสม ก่อนการดำเนินการเกี่ยวกับการผันคดีไม่ให้ขึ้นสู่ศาล
4. มาตรการตามกฎหมาย การต่อรองการรับสารภาพ
การต่อรองการรับสารภาพเป็นกระบวนการหนึ่งของการกลั่นกรองคดีอาญา(Screening Criminal Cases) ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาล เพื่อประโยชน์และความจำเป็นในด้านต่างๆ นอกเหนือไปจากวิธีการอื่นๆ เช่น การกันผู้ต้องหาเป็นพยาน (Crown Witness)การชะลอการฟ้อง (Suspension of Prosecution) หรือการไต่สวนมูลฟ้อง (Preliminary Inquiry) เป็นต้น ประโยชน์ของการต่อรองการลงโทษสำคัญ 2 ประการ คือ 1. ด้านการบริหารกระบวนการยุติธรรม เพื่อแบ่งเบาภาระหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุกราย โดยผ่านการพิจารณาโดยศาลอย่างเต็มรูป ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลานานและเป็นการสิ้นเปลืองเวลาและงบประมาณอย่างมาก และช่วยแบ่งเบาภาระของการพิจารณาคดีในศาลอาจกระทำได้ โดยจะมีประโยชน์ในแง่การสร้างกระบวนการทางกฎหมายที่มีความชัดเจนเพื่อรองรับวิธีการที่จะได้มาซึ่งคำรับสารภาพ และจะเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย 2. ด้านประสิทธิภาพการปราบปรามการกระทำความผิด การต่อรองการรับสารภาพ จะเป็นเครื่องมือทางกฎหมายอีกมาตรการหนึ่งที่จะส่งผลเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามปัญหายาเสพติด โดยจะสามารถจูงใจให้ผู้กระทำความผิด ที่เป็นเพียงรายย่อยให้ข้อมูลที่สำคัญ อาจสามารถขยายผลการจับกุมผู้กระทำความผิดรายใหญ่ ซึ่งอาจรวมถึงบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการค้ายาเสพติดที่แท้จริงได้ ทั้งนี้ เพื่อตัดสายใยเชื่อมโยงขององค์กรอาชญากรรม (Organized Crime) นอกจากนี้ การนำวิธีการต่อรองการรับสารภาพมาใช้บังคับในประเทศไทยนั้น มีข้อพิจารณาสำคัญบางประการที่จะนำไปสู่การบังคับใช้วิธีการต่อรองการรับสารภาพอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ 1. การมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อคุ้มครองสิทธิของจำเลย 2. การมีหลักการตรวจสอบดุลพินิจและความถูกต้องของการต่อรองการรับสารภาพ 3. การมีหลักเกณฑ์ปฏิบัติภายในและการทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรประกอบ 4. การมีการคุ้มครองความปลอดภัยของพยานความร่วมมือจากต่างประเทศ (การส่งผู้ร้ายข้ามแดน)


[1][Online], available URL: http://www.polsci.chula.ac.th/sumonthip/crime-cj.htm
[2]กิตติพงษ์ กิตยารักษ์, “ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์:หลักการและแนวคิด,” ใน กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: ทางเลือกใหม่สำหรับกระบวนการยุติธรรมไทย (กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2545), หน้า 15-16.
[3][Online], available URL: http://www.correct.go.th/journal/j2/new4.html
[4]เรวัต ฉ่ำเฉลิม, “ชะลอการฟ้อง,” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2522), หน้า 20.
[5]ประเทือง กีร์ติบุตร, “การชะลอการฟ้อง,” บทบัณฑิตย์ 1, 34 (มกราคม 2520): 56-58.
[6][Online], available URL: http://www.bloggang.com/viewblog.

เอกสารประกอบการสอนชุดที่ 7

วิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 7
อาจารย์เมธาพร กาญจนเตชะ
ประเภทของโทษอาญา
1. โทษที่กระทบต่อชีวิตของผู้กระทำความผิด
โทษประเภทนี้ ได้แก่ การประหารชีวิตผู้กระทำความผิด ซึ่งจะใช้เฉพาะการกระทำความผิดที่รุนแรงมากหรือที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างมาก เป็นวิธีการลงโทษที่อยู่ในกลุ่มของการกำจัดออกไปจากสังคมอย่างถาวร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแก้แค้นทดแทน และการข่มขู่ยับยั้งไม่ให้ผู้อื่นกระทำตาม รวมทั้งเป็นการคุ้มครองสังคม โดยตัดโอกาสไม่ให้กระทำผิดอีกโดยเด็ดขาดนับว่าเป็นโทษที่หนักที่สุด ซึ่งมีความเหมาะสมกับความผิดที่ร้ายแรงและความผิดที่มีความทารุณโหดร้าย แต่อย่างไรก็ตามโทษประหารชีวิตก็มีข้อเสียคือ เมื่อเกิดการผิดพลาดแล้วไม่มีทางแก้ไขได้ นอกจากนี้ยังขัดต่อหลักมนุษยธรรมด้วย ถือได้ว่าเป็นการลงโทษเกินกว่าสัญญาประชาคมที่ได้ให้ไว้ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว การให้สัญญานั้นไม่มีผู้ใดสละเสรีภาพของตนเพื่อให้บุคคลอื่นสังหารตน รัฐจึงไม่มีสิทธิที่จะทำการดังกล่าวได้
2. โทษที่กระทบต่อเสรีภาพของผู้กระทำความผิด
ได้แก่ การจำคุกและการกักขังเป็นวิธีการลงโทษที่อยู่ในกลุ่มของการตัดผู้กระทำความผิดออกไปจากสังคมเป็นการถาวร เช่น การกำหนดโทษจำคุกสูง หรือตลอดชีวิต หรือเป็นการชั่วคราว เช่น การกำหนดโทษจำคุกโดยมีกำหนดเวลาและการกักขัง เป็นต้น ซึ่งการตัดผู้กระทำความผิดออกจากสังคมในช่วงนี้เป็นการดัดนิสัยของผู้กระทำความผิดก่อนที่จะคืนสู่สังคม
วัตถุประสงค์ของการลงโทษจำคุกมีด้วยกัน 4 ประการ คือ
1) เพื่อการแก้แค้นทดแทน กล่าวคือ การจำคุกทำให้ผู้กระทำผิดถูกจำกัดเสรีภาพ เพื่อเป็นการตอบแทนพฤติกรรมที่ได้กระทำไป ทำให้บุคคลทั่วไปเกิดความรู้สึกสาสมกับผลร้ายซึ่งผู้กระทำผิดได้ก่อให้เกิดขึ้นต่อสังคม
2) เพื่อเป็นการข่มขู่ กล่าวคือ การถูกจำกัดเสรีภาพ ถือว่าเป็นสิ่งที่ข่มขู่ตัวผู้กระทำผิดเองมิให้กระทำความผิดซํ้าขึ้นมาอีก หรือเป็นการข่มขู่บุคคลทั่วไปไม่ให้กล้ากระทำความผิดขึ้น
3) เพื่อตัดโอกาสมิให้กระทำความผิดขึ้นมาอีก
4) เพื่อปรับปรุงแก้ไข กล่าวคือ ในช่วงเวลาที่ถูกควบคุมตัวนั้น ทางเรือนจำได้ใช้มาตรการต่างๆในการปรับปรุงแก้ไขฟื้นฟู เพื่อให้กลับตัวเป็นคนดี เช่น การฝึกอาชีพ การให้การศึกษา เป็นต้น ดังนั้น การลงโทษจำคุกจึงถือว่าเป็นการลงโทษแบบบูรณการ (Integration) โดยเป็นการรวมวัตถุประสงค์ของการลงโทษหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งศาลจะนิยมนำโทษจำคุกมาใช้มากที่สุด เพราะทำให้ประชาชนในสังคมยอมรับและไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบ
อย่างไรก็ตามโทษจำคุกก็มีข้อเสีย เช่น รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการควบคุมดูแลมากที่สุด และยังทำให้ผู้กระทำผิดปรับตัวเข้ากับสังคมได้ยากตามหลักของทฤษฏีการตราหน้า (lebeling Theory) ด้วย เนื่องจากอาจถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็นคนขี้คุกอันจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง ความเป็นอยู่ต่อไปในสังคม อีกทั้งในระหว่างจำคุกทำอาจได้รับอิทธิพลหรือพฤติกรรมที่ไม่ดีจากผู้ต้องโทษด้วยกัน
โทษจำคุกเป็นการนำผู้กระทำความผิดไปควบคุมไว้ในเรือนจำและอยู่ภายใต้การควบคุม
ดูแลอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มักใช้กับความผิดที่ร้ายแรงหรือความผิดที่ฝ่าฝืนศีลธรรมหรือความสงบเรียบร้อยของสังคมอย่างมาก ในการใช้โทษจำคุกนั้นจึงมีข้อพิจารณากรณีดังนี้
(1) ผู้กระทำความผิดร้ายแรงบางประเภท เช่น ผู้กระทำผิดที่ก่อภยันตรายหรือคุกคามความปลอดภัยต่อชีวิตของผู้อื่น
(2) ผู้กระทำความผิดซึ่งมีพฤติกรรม หรือกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อค่านิยมพื้นฐานในสังคม อันควรแก่การประณามอย่างยิ่ง เช่น การทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือการหลอกลวงฉ้อฉลที่ก่อความเสียหายต่อสาธารณชนและเศรษฐกิจของชาติ เป็นต้น
(3) ผู้กระทำความผิดซึ่งไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือบทลงโทษที่ศาลได้พิพากษาไว้แล้ว เช่น ผู้กระทำผิดที่จงใจไม่ชำระค่าปรับและชดใช้ค่าเสียหาย หรือได้กระทำผิดเงื่อนไขการคุมประพฤติ เป็นต้น
การกักขังเป็นการกักตัวผู้กระทำความผิดไว้ในสถานที่ที่กำหนด เช่น ในบ้านผู้กระทำความผิดเอง มักใช้กับผู้กระทำความผิดสถานเบา
ปัจจุบันหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ได้เปลี่ยนแนวทางการลงโทษจำคุกใหม่โดยใช้เฉพาะความผิดที่ร้ายแรง และนำโทษกักขังมาใช้กับความผิดไม่ร้ายแรงโดยการกักขังผู้กระทำความผิดไว้ในบ้านของผู้กระทำความผิดเอง (House arrest) หรือสถานที่ที่กำหนดและติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันผู้กระทำความผิดหลบหนี การเปลี่ยนแนวทางการลงโทษนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐที่เกี่ยวกับการจำคุกได้เป็นจำนวนมาก และเป็นการป้องกันมิให้ผู้ที่กระทำความผิดไม่ร้ายแรงเข้าไปอยู่ร่วมกับผู้กระทำความผิดร้ายแรงซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเรียนรู้พฤติกรรมต่างๆจากผู้กระทำความผิดร้ายแรงได้
3. โทษที่กระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของผู้กระทำความผิด
โทษประเภทนี้ได้แก่ การสั่งให้ทำงานเพื่อสังคม (Community service)ในเรื่องต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้กระทำความผิดโดยไม่มีเจตนาร้ายได้รู้สำนึกในการกระทำของตน และหลาบจำการลงโทษประเภทนี้มิได้ใช้เฉพาะผู้กระทำความผิดที่เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่ยังใช้ได้กับผู้กระทำความผิดที่เป็นนิติบุคคลด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น การสั่งให้นิติบุคคลที่ปล่อยมลพิษออกสู่สภาพแวดล้อมต้องดำเนินการกำจัดมลพิษที่ตนปล่อยออกไป หรือโดยการจ่ายเงินสนับสนุนแก่องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น สำหรับประเทศไทยนั้นมาตรการนี้ยังไม่ถือเป็นโทษแต่อาจถูกนำมาใช้ในการคุมประพฤติหากศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำความผิด
4. โทษที่กระทบต่อทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด
โทษประเภทนี้ได้แก่การปรับและการริบทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด การปรับเป็นโทษที่บังคับเอากับทรัพย์สินของผู้กระทำผิดตามที่ศาลกำหนด โดยมักจะกำหนดโทษปรับเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน ซึ่งเป็นโทษที่ใช้กันทั่วไปในความผิดที่ไม่รุนแรงแต่การกำหนดโทษปรับเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน ซึ่งเป็นโทษที่ใช้กันทั่วไปในความผิดที่ไม่รุนแรง แต่การกำหนดโทษปรับที่มีอัตราค่าปรับสูงจะใช้กับความผิดทางเศรษฐกิจหรือความผิดที่กระทำโดยนิติบุคคล เช่นความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น ส่วนการริบทรัพย์สินนั้นเป็นการริบทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิด หรือที่ใช้ในการกระทำความผิด หรือที่ได้มาจากการกระทำความผิดเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดใช้หรือประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นอีกต่อไป เช่น ความผิดคดียาเสพติด หรืออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทยบัญญัติไว้ในมาตรา 18 ได้กล่าวถึงโทษทางอาญาที่จะใช้ลงโทษผู้กระทำผิดไว้ 5 ประการได้แก่
1. ประหารชีวิต
2. จำคุก
3. กักขัง
4. ปรับ
5. ริบทรัพย์สิน
โดยโทษประหารชีวิต นั้นเดิมกฎหมายกำหนดให้เอาไปยิงเสียให้ตาย ต่อมาปีพ.ศ.2546 ได้เปลี่ยนเป็นให้เอาไปฉีดยาหรือสารพิษแทน เนื่องจากการประหารชีวิตแบบเดิมเป็นวิธีการที่ทารุณโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม และกำหนดห้ามนำโทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมาใช้กับผู้กระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยให้เปลี่ยนโทษดังกล่าวเป็นโทษจำคุกห้าสิบปีแทน ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.1989 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก

วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2553

เอกสารชุดที่ 6

วิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 6
อาจารย์เมธาพร กาญจนเตชะ
สำนักงานศาลยุติธรรม
สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นองค์กรอิสระที่ดูแลงานธุรการของศาลยุติธรรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอิสระในการบริหารงานบุคคลการงบประมาณและการดำเนินการอื่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา การแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
ประวัติสำนักงานศาลยุติธรรม
นับจากวันที่ 20 สิงหาคม 2543 ศาลยุติธรรมที่เคยสังกัดอยู่กับกระทรวงยุติธรรมมากว่า 108 ปี ได้แยกออกเป็นองค์กรอิสระ โดยมีหน่วยงานธุรการที่เรียกว่า สำนักงานศาลยุติธรรม และมี เลขาธิการ สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นการปฏิรูปการ ศาลยุติธรรมครั้งสำคัญ นับเนื่องจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5ทรงปฏิรูป การศาลในรัชสมัยของพระองค์แล้ว ทั้งนี้ด้วยเจตนารมณ์เพื่อให้ศาลยุติธรรมมีความเป็นอิสระอย่าง แท้จริง ให้สามารถดุลและคานกับอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหารได้อย่างเหมาะสม แต่เดิมนั้น แม้ว่าอำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีภายใต้พระปรมาภิไธย มีความเป็นอิสระ แต่การที่งานธุรการของศาลอยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นองค์กรของฝ่ายบริหาร อาจทำให้ความเป็น อิสระของผู้พิพากษาถูกบั่นทอนไปได้ ทั้งนี้ ด้วยตามระบบการศาลยุติธรรมเดิม รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงยุติธรรมมีอำนาจที่ จะสั่งให้ผู้พิพากษาที่มีตำแหน่งต่ำกว่าประธานศาลฎีกาไปช่วยราชการที่ ศาลอื่นในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิมได้ นอกจากนี้ยังมีอำนาจเสนอบัญชีรายชื่อการพิจารณา ความดีความชอบ และการแต่งตั้ง โยกย้ายผู้พิพากษา อันทำให้เสถียรภาพ ของผู้พิพากษาสั่นคอน เนื่องจากหวั่นเกรงว่าอาจถูกกระทรวงยุติธรรมแทรกแซงไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งนี้ตราบใดที่ศาลยังสังกัดอยู่ในกระทรวงยุติธรรม รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงได้แยกอำนาจตุลาการออกจาก อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหารอย่างเบ็ดเสร็จด้วยการให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยงานธุรการเป็นอิสระ ที่เรียกว่า สำนักงานศาลยุติธรรม
ประโยชน์ที่บังเกิดขึ้นจากการแยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรมมาเป็นสถาบันอิสระ สามารถจำแนก ได้หลายประการ กล่าวคือ
1) ประชาชนได้ความเชื่อมั่นว่าอำนาจตุลาการมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ทั้งอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี และอิสระในการบริหารงานธุรการของตนเอง สามารถ เป็นหลักประกันความ เที่ยงธรรมของสังคม และความยุติธรรมที่ประชาชนจะได้รับแม้ในกรณีที่ ประชาชนมีคดีพิพาทกับฝ่ายบริหารก็ตาม
2) ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ในการรับบริการจากศาล เนื่องจากศาลยุติธรรมมีอิสระในการบริหาร งานบุคคล การงบประมาณและการดำเนินการอื่นๆ ทำให้สามารถพัฒนา องค์กรให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดีและแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานที่เดิมเคยมีให้ลุล่วงไปได้ รวมทั้งส่งเสริมให้งานพิจารณาพิพากษาของศาล เป็นไปได้ด้วยความสะดวกรวดเร็ว คล่องตัว และสามารถอำนวยความยุติธรรม ให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3) ประชาชนได้มีโอกาสตรวจสอบข้าราชการ ตุลาการมากขึ้น เกิดความมั่นใจ ในความโปร่งใสของศาลยุติธรรม ด้วยการเพิ่มกลไกการตรวจสอบของประชาชนอันได้แก่การกำหนดให้ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งมีบทบาทในการคุ้มครองและให้ ความเป็นธรรมแก่ผู้พิพากษา และเดิมประกอบด้วยกรรมการที่เป็น ข้าราชการตุลาการทั้งหมด มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการเลือกสรร จากกระบวนการทางวุฒิสภาให้เข้ามามีส่วนสำคัญในการบริหารราชการ ศาลยุติธรรม และเช่นเดียวกันในองค์กรการบริหารศาลยุติธรรมอื่นๆ เช่น คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ที่เรียกว่า ก.บ.ศ. หรือ คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ที่เรียกว่า ก.ศ. ประกอบด้วย กรรมการส่วนหนึ่ง ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการ งบประมาณ ด้านการพัฒนาองค์กร หรือด้าน การบริหารจัดการ ที่ไม่ เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตุลาการหรือข้าราชการศาลยุติธรรมมาก่อน รวมอยู่ด้วย อันทำให้ระบบการบริหารของศาลยุติธรรมเป็นระบบเปิด โปร่งใส พร้อมต่อการตรวจสอบ และมีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชนมากยิ่งขึ้น
4) ประชาชนได้ระบบการศาลยุติธรรมที่เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศดี ยิ่งขึ้นอันจะสนับสนุนส่งเสริมให้ ระบบเศรษฐกิจเข้มแข็งและทำให้ชาวต่างประเทศที่คิดจะลงทุน หรือทำการ ค้าในประเทศไทย เกิดความมั่นใจว่าประเทศเรามีสถาบันตุลาการเป็นอิสระ และมีเสถียรภาพ ไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายใด

เอกสารประกอบการสอน ชุดที่ 5

เอกสารประกอบวิชาระบบความยุติธรรมทางอาญาชุดที่ 5
อาจารย์เมธาพร กาญจนเตชะ
บทบาทของพนักงานอัยการ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เกี่ยวกับบทบาทและอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการกับการสอบสวนคดีอาญา ซึ่งมีลักษณะในการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งการเริ่มต้นให้พนักงานอัยการเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหามากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เดิม ซึ่งจะขอกล่าวรายละเอียดเป็นข้อๆ ดังนี้
1. การมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมก่อนมีความเห็นหรือคำสั่งคดี
เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเห็นว่าการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และมีความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องตามมาตรา 140 มาตรา 141 หรือมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ส่งไปพร้อมกับสำนวนยังพนักงานอัยการแล้ว พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติมได้อีก การจะสอบสวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 และในกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา แล้วส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมคำสั่งเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อทำความเห็นแย้งตามมาตรา 145 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่มีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีดังกล่าวสอบสวนเพิ่มเติมได้อีกเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนมีความคิดเห็นหรือคำสั่งในคดี ให้พนักงานอัยการพิจารณาพยานหลักฐานในคดีให้ได้ความแน่ชัดเสียก่อน ว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดหรือไม่ หากไม่แน่ชัดก็สั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้ส่งพยานมาซักถามตามรูปคดี แม้ในคดีที่แม้จะมีคำรับสารภาพองผู้ต้องหาอยู่แล้วก็ตาม ก็ควรพิจารณาพยานหลักฐานให้แน่ชัดเสียก่อนด้วย นอกจากนี้หากมีการร้องขอความเป็นธรรม เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควร หรือผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องในคดีร้องขอ พนักงานอัยการอาจสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้ส่งพยานมาเพื่อซักถามเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคดีก็ได้ โดยคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม ให้พนักงานอัยการทำความเห็นเสนอสำนวนตามลำดับชั้นถึงอธิบดีเพื่อพิจารณาสั่งประการใดให้ปฏิบัติตามนั้น
เมื่อพิจารณาระเบียบดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่าบทบาทของพนักงานอัยการในส่วนนี้ เป็นบทบาทที่สำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งในคดีอาญา โดยเฉพาะการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานแห่งคดี ซึ่งพนักงานอัยการเห็นสมควรสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมก็สั่งให้พนักงานสอบสวนสอบสวนเพิ่มเติมแทนก็ได้ หรือสั่งให้พนักงานสอบสวนส่งพยานมาเพื่อสอบสวนเองก็ได้ กระบวนการนี้ถือเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาที่สำคัญที่สุด เพราะในกระบวนการใช้ดุลพินิจดังกล่าวของพนักงานอัยการ ถือว่าหากไม่มีน้ำหนักพยานจริงก็ต้องสั่งสอบสวนใหม่ หรืออาจสั่งไม่ฟ้องคดีนั้น หรือหากมีความสงสัยแม้ว่าจะมีคำรับสารภาพก็ตาม ก็สามารถสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมได้ หรือในคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม พนักงานอัยการสามารถสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้ส่งพยานมาเพื่อซักถามเองได้ โดยกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจการสอบสวนคดีอาญาที่ดีทางหนึ่ง อันกล่าวได้ว่าเป็นการรักษาความสมดุล (Balance) ระหว่างกระบวนการดำเนินคดีอาญาของรัฐในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ กับหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ให้เกิดความผิดพลาดในคดีอาญา เป็นหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาตามกฎหมายที่สำคัญเช่นกัน
2. การมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว
การปล่อยชั่วคราวเป็นมาตรการอย่างหนึ่งในคดีอาญา เป็นมาตรการผ่อนคลายการจำกัดเสรีภาพในร่างกาย หรืเสรีภาพในการเคลื่อนไหวเปลี่ยนที่ทางของผู้ต้องหาหรือจำเลย ที่ว่าการปล่อยชั่วคราวเป็นการผ่อนคลาย ก็เพราะว่าในกรณีนั้นเป็นกรณีที่มีความจำเป็นที่ต้องเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ เพราะหากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐแล้ว กรณีก็ต้องปล่อยตัวผู้นั้นไปเลยที่เดียว ทั้งนี้ การควบคุมตัวในระหว่างคดีนั้นถือเป็นเรื่องของข้อยกเว้น กล่าวคือ โดยหลักแล้วจะไม่ต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ในอำนาจรัฐ เว้นแต่มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวในกรณีที่มีความจำเป็น ที่จะต้องมีการควบคุมตัวไว้ในระหว่างคดี อาจมีการพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกัน ซึ่งสามารถพิจารณาได้ดังนี้
การปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน หมายถึง การปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีสัญญาประกันไว้ให้กับเจ้าพนักงาน หรือศาลเลย ผู้ต้องหาหรือจำเลยเพียงสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะมาตามนัดหรือหมายเรียก ขณะที่ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน หมายถึง การปล่อยชั่วคราวโดยผู้ต้องหาหรือจำเลยเองหรือบุคคลอื่น เข้าทำสัญญาประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล ว่าจะมาหรือจะนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย มาส่งตามวันเวลาที่เจ้าพนักงานหรือศาลนัดหรือหมายเรียกมา โดยกฎหมายบัญญัติไว้ว่าเมื่อจะปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก่อนปล่อยไปให้ผู้ประกันหรือผู้เป็นหลักประกันลงลายมือชื่อในสัญญาประกันนั้น
ในสัญญาประกันนอกจากข้อความอื่นอันพึงมี ต้องมีข้อความดังนี้ด้วย
1) ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวหรือผู้ประกัน แล้วแต่ก็กรณี จะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของเจ้าพนักงานหรือศาล ซึ่งให้ปล่อยชั่วคราว


2) เมื่อความสัญญาจะใช้เงินจำนวนที่ระบุไว้
ในสัญญาประกันจะกำหนดภาระหน้าที่หรือเงื่อนไข ให้ผู้ถูกปล่อยชั่งคราว หรือผู้ประกันปฏิบัติเกินความจำเป็นแก่กรณีมิได้
ส่วนปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกัน หมายถึง การปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไปชั่วคราว โดยมีสัญญาประกันพร้อมด้วยหลักประกันอย่างใดอย่างหนึ่งคือมีเงินสดมาวาง มีหลักทรัพย์อื่นมาวาง หรือมีบุคคลอื่นมาเป็นหลักทรัพย์มาวาง หรือมีบุคคลอื่นมาเป็นประกัน โดยแสดงหลักทรัพย์
สำหรับการปล่อยชั่วคราว ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 กำหนดหลักการในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไว้ว่า การกระทำของรัฐที่เป็นการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาตัวบุคคลมาไว้ในอำนาจรัฐ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น เหตุนี้การคุมขังผู้ต้องหา หรือจำเลย ตามปกติจักต้องพิจารณาว่าเป็นกรณีที่น่าเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไม่ด้วย ฉะนั้น หากกรณีคดีมีหลักฐานตามสมควรว่าการกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นความผิดร้ายแรง หรือเป็นที่น่าเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือเป็นที่น่าเชื่อถือว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยินกับพยานหลักฐาน หรือกรณีคดีมีหลักฐานตามสมควรว่า การกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นความผิด และมีเหตุอื่นที่จำเป็นและสมควร ก็จะเป็นกรณีที่จะต้องนำเหตุดังกล่าวมาพิจารณาว่า จำเป็นต้องคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลย เพื่อดำเนินคดีต่อไปหรือไม่ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้การพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาพนักงานอัยการต้องพิจารณาถึงความจำเป็น ในการเอาตัวบุคคลนั้นไว้ในอำนาจรัฐโดยชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ของรัฐ ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและสิทธิเสรีภาพของบุคคลจะถูกกระทบเกินความจำเป็นหรือเกินสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นว่าพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไม่มีเหตุอื่นที่จำเป็นและสมควรแล้ว พนักงานอัยการต้องปล่อยตัวบุคคลหรืออนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตามคำร้องขอเสมอ
อย่างไรก็ตาม แม้ในข้อกฎหมายหรือระเบียบจะกล่าวไว้เช่นนี้แต่ในทางปฏิบัติต้องยอมรับว่า การคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยกลายเป็นเรื่องหลัก แต่ปล่อยชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น ดังนั้น การพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราว พนักงานอัยการจะต้องพิจารณาถึงหลัก และข้อยกเว้นให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน โดยเฉพาะเมื่อได้ทำความเข้าใจหลักการดังกล่าวแล้ว ในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา พนักงานอัยการต้องพิจารณาโดยไม่ชักช้า โดยหัวหน้าพนักงานอัยการเป็นผู้สั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยจะต้องบันทึกเหตุผลในการสั่งไว้ให้ชัดเจน ในกรณีสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว พนักงานอัยการต้องแจ้งผลการพิจารณา พร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราวทราบโดยเร็ว
3. ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรม
ในการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ ที่พนักงานอัยการจะเป็นผู้รับสำนวนการสอบสวนพร้อมผู้ต้องหา เพื่อยื่นฟ้องคดีความนั้นๆ ต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ซึ่งในระหว่างที่รับสำนวนการสอบสวน ผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีอาญาอาจยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในกรณีต่างๆ เกี่ยวกับคดี พนักงานอัยการจึงมีหน้าที่ในการใช้ดุลพินิจสั่งคดีกรณีร้องขอความเป็นธรรมด้วย ซึ่งการใช้ดุลพินิจสั่งคดีดั่งกล่าว ถือเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลอีกกรณีหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควร หรือผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องในคดีร้องขอ พนักงานอัยการอาจสั่งให้พนักงานสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้ส่งพยานมาเพื่อซักถามเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคดีก็ได้
ในคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม ให้พนักงานอัยการทำความเห็นเสนอสำนวนตามลำดับชั้นถึงอธิบดีเพื่อพิจารณาสั่ง เมื่ออธิบดีมีคำสั่งประการใดก็ให้ปฏิบัติตามนั้น
กล่าวโดยสรุป ภาระหน้าที่พนักงานอัยการในการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในฐานะองค์กรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา นับเป็นหน้าที่ที่ทีความสำคัญยิ่ง ที่พนักงานอัยการจะต้องเป็นกลไกการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาในด้านต่างๆ ให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ ในขณะที่งานด้านการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในด้านอื่นๆ ของพนักงานอัยการก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน รวมทั้งภาระหน้าที่ของพนักงานอัยการที่อาจจะต้องมีภารกิจสำคัญเพิ่มขึ้น ในฐานะองค์กรหรือหน่วยงานที่จะต้องรับผิดชอบในการสอบสวนคดีอาญา หรือโดยร่วมกับองค์กรอื่นในอนาคต
4. การใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดี
พนักงานอัยการสามารถใช้ดุลพินิจในการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีได้ ซึ่งขึ้นอยู่สภาวการณ์และเงื่อนไขต่างๆ สำหรับเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องในการสั่งไม่ฟ้องในคดีในชั้นการพิจารณาของพนักงานอัยการนั้น พนักงานอัยการชอบที่จะเป็นไปตามลำดับ ดังนี้
1) พิจารณาเงื่อนไขให้อำนาจดำเนินคดีหรือเงื่อนไขระงับคดี ซึ่งพนักงานอัยการจะต้องกระทำ ก่อนที่จะพิจารณาในเนื้อหาคดีในขั้นต่อไป ถ้ากรณีมีเงื่อนไขระงับคดีพนักงานอัยการก็จะต้องสั่งระงับการดำเนินคดีหรือยุติการดำเนินคดีเพราะเหตุนั้น

2) เมื่อพนักงานอัยการพิจารณาแล้วว่ากรณีไม่มีเงื่อนไขระงับคดีพนักงานอัยการก็จะต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า การกระทำที่กล่าวหานั้นเป็นความผิดต่อกฎหมายหรือไม่ ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำที่กล่าวหา ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมาย พนักงานอัยการก็ต้องสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา
3) พนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำที่กล่าวหานั้น เป็นความผิดต่อกฎหมาย พนักงานอัยการก็ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำผิดหรือไม่ ถ้าผู้ต้องหามิได้เป็นผู้กระทำผิด พนักงานอัยการก็ต้องสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหานั้น
4) ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำที่กล่าวหา เป็นความผิดต่อกฎหมายและเห็นว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิด พนักงานอัยการก็ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าพยานหลักฐานเพียงพอ แก่การพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาหรือไม่ ถ้าเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ พนักงานอัยการก็ต้องสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา
5) แม้ว่าการกระทำที่กล่าวหาเป็นความผิดต่อกฎหมาย ผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดและมีพยานหลักฐานเพียงพอ พนักงานอัยการก็ชอบที่จะพิจารณาต่อไปเป็นลำดับสุดท้ายอีกว่า มีเหตุอันควรที่จะไม่ฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่ ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่ามีเหตุอันควรไม่ฟ้องผู้ต้องหา พนักงานอัยการก็ต้องสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหานั้น
จากกระบวนการหรือขั้นตอนในการสั่งคดีของพนักงานอัยการข้างต้น จะเห็นได้ว่าการใช้ดุลพินิจในการไม่ฟ้องคดี เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการ และโดยที่หลักการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ คือ หลักการดำเนินคดีอาญาตามดุลพินิจ ฉะนั้น ในการสั่งคดีพนักงานอัยการจะต้องพิจารณาในเรื่องดุลพินิจนี้ด้วยเสมอ กล่าวคือหากพนักงานอัยการเห็นว่ามีเหตุตามดุลพินิจ หรือพิจารณาถึงหลักการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา ที่จะไม่ควรถูกดำเนินคดีในชั้นศาล ก็พิจารณาไม่ฟ้องคดีนั้นได้ แต่ดุลพินิจในการสั่งฟ้องคดีจะต้องมีขอบเขตเช่นกัน เพราะดุลพินิจไม่มีขอบเขตย่อมไม่ใช่ดุลพินิจแต่เป็นอำเภอใจ ซึ่งโดยปกติแล้วการสั่งคดีนั้นย่อมถือหลักว่าผู้กระทำได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหรือไม่ ถ้ากระทำผิดต่อกฎหมายก็สั่งดำเนินคดีฟ้องร้องไป แต่ในบางกรณีพนักงานอัยการอาจสั่งไม่ฟ้องคดีที่มีผู้กระทำผิดต่อกฎหมายก็ได้เพราะไม่มีกฎหมายห้าม แต่ต้องมีเหตุอันสมควรที่พนักงานอัยการจะสั่งไม่ฟ้องในกรณีเช่นนั้น ไปพร้อมๆ กันเลย โดยเหตุผลว่าอาจเกิดความขัดแย้งกันในการปฏิบัติหน้าที่ และปัญหาการประสานงานกัน ระหว่างหน่วยงานทั้งสองหน่วยงาน เพียงแต่ตราเป็นข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย กำหนดให้ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มีอำนาจหน้าที่สอบสวนคดีอาญา หรือให้ฝ่ายปกครองตรวจสอบถ่วงดุลเท่านั้น
5. การคุ้มครองสิทธิในกรณีผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี
กรณีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี นั้น การสอบสวนคดี ดังกล่าวประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาได้กำหนดมาตรการและแนวทางในการคุ้มครองสิทธิของเด็กไว้ โดยกฎหมายได้กำหนดให้บุคคลต่อไปนี้เข้าร่วมสอบสวนด้วย คือ
1) พนักงานสอบสวน
2) พนักงานอัยการ
3) นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์
4) บุคคลที่เด็กร้องขอ
5) ทนายความ
การสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี นั้น กฎหมายมีความประสงค์ที่จะให้พนักงานอัยการเข้าคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการคุ้มครองเด็กและเป็นการตรวจสอบอำนาจรัฐไปด้วยในตัว
หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาเกี่ยวกับการสอบสวนในคดีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี นั้น มีดังนี้
1) ผู้ต้องหาต้องอายุไม่เกิน 18 ปี ในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ไม่ใช่วันกระทำความผิด
2) กรณีถืออายุผู้ต้องหาไม่เกิน 18 ปี เป็นหลัก มิได้ถือเอาอัตราโทษเป็นหลัก ดังนั้นถ้าผู้ต้องหาอายุไม่เกิน 18 ปีแล้ว พนักงานอัยการต้องเข้าร่วมคุ้มครองสิทธิโดยร่วมทำการสอบสวนกับพนักงานสอบสวน
3) การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ให้นำบทบัญญัติมาตรา 133 ทวิ และมาตรา 133 ตรี ว่าด้วยการสอบสวนผู้เสียหายหรือพยานอายุไม่เกิน 18 ปีมาใช้บังคับโดยอนุโลม
4) ในการถามปากคำผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เพื่อที่จะได้ใช้คำถามที่เหมาะสม
จากการที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดให้พนักงานอัยการเข้าร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนกรณีของผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ถือเป็นการเริ่มต้นที่ให้พนักงานอัยการเข้าคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาเพื่อให้ผู้ต้องหาได้รับการสอบสวนที่รวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปีพุทธศักราช 2550 มาตรา 40




6. กรณีร่วมชันสูตรพลิกศพ
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคสาม ได้บัญญัติให้พนักงานอัยการเข้าร่วมชันสูตรพลิกศพในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้น โดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ความตายที่เกิดขึ้นจากทั้ง 2 กรณีดังกล่าวนี้ พนักงานอัยการต้องเข้าร่วมกับแพทย์ พนักงานสอบสวน และพนักงานฝ่ายปกครอง ทำการชันสูตรพลิกศพที่เกิดจากการตายทั้ง 2 ประเภทตามที่ได้กล่าวมาแล้ว กฎหมายมาตรานี้ได้แก้ไขใหม่เพื่อที่จะให้ตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวน ทั้งกฎหมายยังได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการในการร้องขอต่อศาลเพื่อทำการไต่สวนถึงเหตุแห่งการตายโดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้
1) ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ ร่วมชันสูตรพลิกศพกับพนักงานสอบสวนและแพทย์
2) ให้พนักงานสอบสวนทำการชันสูตรพลิกศพ ในกรณีที่จะต้องร้องขอให้ศาลไต่สวนการตาย เพื่อส่งให้พนักงานอัยการ ภายในเวลาสามสิบวัน นับแต่วันได้ทราบเรื่อง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนการชันสูตรพลิกศพ
3) เมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนการตาย ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวน ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ
4) ให้ศาลปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่จะทำการไต่สวนไว้ที่ศาลและให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลส่งสำเนาคำร้องและแจ้งกำหนดวันนัดไต่สวนให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือญาติของผู้ตายตามลำดับ อย่างน้อยหนึ่งคนเท่าที่สามารถทำได้ก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
5) ให้พนักงานอัยการนำพยานหลักฐานทั้งปวงที่แสดงถึงการตายมาสืบ
6) ก่อนการไต่สวนเสร็จสิ้น สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล ขอเข้ามาซักถามพยานที่พนักงานอัยการนำสืบ และนำสืบพยานอื่นได้ด้วยเพื่อการนี้ บุคคลดังกล่าวมีสิทธิแต่งตั้งทนายความดำเนินการแทนได้ หากไม่มีทนายความที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาในคดีกฎหมายให้ศาลแต่งตั้งทนายความขึ้นเพื่อทำหน้าที่ทนายความฝ่ายญาติผู้ตาย
7) เมื่อศาลเห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะเรียกพยานที่นำสืบมาแล้วมาสืบเพิ่มเติม หรือเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบก็ได้และศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการไต่สวนหรือทำคำสั่ง
8) ญาติของผู้ตายที่นำสืบพยานตามข้อ 6) มีสิทธิให้ศาลเรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญอื่นมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลเรียกได้
9) เมื่อไต่สวนเป็นที่พอใจแล้ว ศาลจะมีคำสั่งว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และเหตุแห่งการตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครทำร้าย และวินิจฉัยว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามกฎหมายหรือไม่ แต่จะไม่สั่งว่าการกระทำให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่ เพราะไม่ใช่การวินิจฉัยคำฟ้องทางอาญา
10) คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุดแต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิฟ้องร้อง และการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล หากพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้องหรือจะฟ้องเกี่ยวกับการตายนั้น
11) เมื่อศาลมีคำสั่งแล้ว ให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการ เพื่อส่งให้แก่พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป

วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

เอกสารการสอนชุดที่ 4

ระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 4
อาจารย์เมธาพร กาญจนเตชะ
องค์กรตำรวจ
1. ความหมาย
ตำรวจ หมายถึง เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานที่สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็น "ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง" มีฐานะเป็นกรม และอยู่ในบังคับของนายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่รักษา ความสงบเรียบร้อยเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนตรวจสอบและสอดส่องดูแลทุกข์สุขของประชาชน ป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดทางกฎหมาย รักษากฎหมาย รวมทั้งดูแลรักษาผลประโยชน์สาธารณะ
ตำรวจเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งและเป็นส่วนแรกในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตำรวจทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนด้วย โดยมีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้ต้องหา ค้นหาหลักฐาน สอบสวน และสรุปสำนวนว่าจะสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่ แล้วจึงส่งเรื่องไปยังอัยการ
2. อำนาจหน้าที่ของตำรวจ
2.1 อำนาจหน้าที่ทั่วไป มีดังนี้
1) รักษาความสงบเรียบร้อยทั้งภายในและภายนอกประเทศเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
2) รักษากฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดทางอาญา
3) บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน
4) ดูแลรักษาผลประโยชน์สาธารณะ
2.2 อำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีอาญา แยกออกได้ 2 กรณี
1) อำนาจหน้าที่ทั่วไป
1.1) อำนาจในการสอบสวนคดีอาญา
1.2) อำนาจในการสืบสวนคดีอาญา
2) อำนาจหน้าที่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สรุปสาระสำคัญและจัดแบ่งเฉพาะที่สำคัญได้ 8 ขั้นตอน ดังนี้
2.1) การร้องทุกข์ในคดีอาญา เมื่อเกิดอาชญากรรมหรือคดีอาญาขึ้น
(1) ผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดที่เกิดขึ้น
(2) เจ้าพนักงานผู้ประสบเหตุ หรือ
(3) ผู้เห็นเหตุการณ์ ฝ่ายหนึ่ง อาจนำเรื่องไปแจ้ง กล่าวโทษ หรือร้องทุกข์ต่อตำรวจ โดยผู้ต้องหา ซึ่งหมายถึง ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดคดีอาญานั้น ๆ อยู่อีกฝ่ายหนึ่ง
2.2) ตำรวจทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน โดยรับแจ้งเหตุแล้วทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเป็นสำนวนคดี และเพื่อให้ตำรวจสามารถดำเนินการได้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติให้อำนาจตำรวจ (พนักงานสอบสวน) ไว้ดังนี้
(1) อำนาจในการสอบสวนและสืบสวนคดีอาญา เพื่อให้ทราบตัวผู้กระทำความผิดและหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์การกระทำผิด
(2) ตรวจค้นตัวบุคคลและสถานที่ เพื่อหาพยานหลักฐานและจับกุมผู้ต้องหา
(3) จับกุมผู้ต้องหา เพื่อนำมาดำเนินคดี
(4) ออกหมายเรียกพยานและผู้ต้องหา มาเพื่อทำการสอบสวนไว้เป็นพยานหลักฐานในคดี
(5) ยึดวัตถุพยาน เพื่อเป็นพยานหลักฐานในคดี
(6) ควบคุมตัวผู้ต้องหา เพื่อทำการสอบสวน
(7) ให้ประกันตัวผู้ต้องหาในระหว่างการสอบสวน
2.3) คดีอาญาที่เลิกกันได้ในชั้นตำรวจในฐานะเป็นพนักงานสอบสวน ดังนี้
(1) คดีอาญาที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว เช่น คดีฉ้อโกงทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์
(2) คดีที่ตำรวจมีอำนาจเปรียบเทียบปรับ และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามกำหนดแล้ว เช่น คดีความผิดพระราชบัญญัติจราจร เป็นต้น
2.4) อำนาจการควบคุมผู้ต้องหาในระหว่างการสอบสวนของตำรวจ เฉพาะคดีที่มีอัตราโทษที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจตำรวจทำการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ในระหว่างการสอบสวนได้ แยกเป็น 2 กรณี คือ
(1) คดีที่อยู่ในอำนาจศาลแขวง ควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ 48 ชั่วโมง
(2) คดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญา ควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ 3 วัน
2.5) การขอผัดฟ้อง และฝากขังผู้ต้องหา หลังจากครบอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาแล้ว หากการสอบสวนยังไม่เสร็จ ตำรวจต้องนำผู้ต้องหาไปขอผัดฟ้อง ฝากขัง ต่อศาลแขวงหรือศาลอาญา ดังนี้
(1) คดีที่อยู่ในอำนาจศาลแขวง ผัดฟ้อง (ในกรณีผู้ต้องหามีประกันตัว) หรือผัดฟ้องฝากขังในกรณีผู้ต้องหาไม่มีประกันตัวได้ไม่เกิน 5 ครั้ง ๆ ละไม่เกิน 6 วัน
(2) คดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญา
(3) คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่า 6 เดือน แต่ไม่ถึง 10 ปี หรือปรับเกินกว่า 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฝากขังได้หลายครั้งติด ๆ กัน แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 48 วัน
(4) คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป ฝากขังได้หลายครั้งติด ๆ กัน ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน รวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 84 วัน
เมื่อศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องฝากขัง (คดีศาลแขวง) หรือฝากขัง (คดีอาญา) แล้ว จะมอบตัวผู้ต้องหาให้อยู่ในอำนาจการควบคุมของศาลซึ่งศาลจะได้มอบให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวไปควบคุมไว้ในเรือนจำต่อไป
กรณีผู้ต้องหาได้ประกันตัวในชั้นสอบสวน ตำรวจไม่ต้องขออำนาจศาลฝากขังแต่อย่างใด
2.6) การสรุปสำนวนของตำรวจ เมื่อตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้ว ก็จะสรุปสำนวนการสอบสวน มีความเห็นทางคดีได้ 3 ทาง ดังนี้
(1) เห็นควรงดการสอบสวน (กรณีไม่มีตัวผู้ต้องหา)
(2) เห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา
(3) เห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา
2.7) กรณีตำรวจมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมตัวผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนการประกันตัวชั้นการควบคุมของอัยการ ผู้ต้องหามีสิทธิจะยื่นคำร้องขอประกันตัวต่ออัยการได้
2.8) กรณีตำรวจมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการเพื่อพิจารณาต่อไป ส่วนตัวผู้ต้องหาหากอยู่ในความควบคุมของตำรวจให้ปล่อยตัวไป หากอยู่ในความควบคุมของศาล ให้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวผู้ต้องหาต่อศาล
สรุป ตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมเป็นลำดับแรก อำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานหรือบริหารงานราชการของตำรวจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาที่สำคัญ มี 8 ขั้นตอน ซึ่งมากเพียงพอที่จะให้ความยุติธรรมและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนได้

3. ขอบเขตอำนาจของตำรวจในการดำเนินคดีอาญา
· ป.วิอาญา มาตรา 120
4. เขตอำนาจสืบสวนคดีอาญาของตำรวจ
· ป.วิอาญา มาตรา 17 “ ...ตำรวจมีอำนาจสืบสวนคดีอาญาได้”
5. ความแตกต่างและความสัมพันธ์ระหว่างการสืบสวนกับการสอบสวนคดีอาญา
· ป.วิอาญา มาตรา 2(10) “การสืบสวน”
· ป.วิอาญา มาตรา 2(11) “การสอบสวน”
6. การใช้ดุลพินิจของตำรวจ
6.1 ประเภทของดุลพินิจตำรวจไทย อาจแยกออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
(1) ดุลพินิจเพื่อดำเนินคดี
(2) ดุลพินิจเพื่อระงับคดี

6.2 การใช้ดุลพินิจของตำรวจ
6.3 กรณีที่ต้องใช้ดุลพินิจ
7. การควบคุมดุลพินิจของตำรวจ
8. มาตรการควบคุมดุลพินิจของตำรวจ
8.1 มาตรการควบคุมภายใน (Internal Control)
8.2 มาตรการควบคุมภายนอก (External Control)

เอกสารการสอนชุดที่ 3

วิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 3
อาจาร ย์เมธาพร กาญจนเตชะ
ทฤษฎีเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา[1]
1. ทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม (Crime Control)
ทฤษฎีนี้ต้องการส่งเสริมและเน้นประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม โดยมุ่งควบคุมระงับและปราบปรามอาชญากรรมเป็นหลัก ทฤษฎีนี้เชื่อว่าการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถจะควบคุมและปราบปรามอาชญากรรม หรือจับกุมอาชญากรมาลงโทษตามกฎหมายได้ ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม และเสรีภาพของประชาชนผู้สุจริตจากการถูกคุกคามจากอาชญากรรม ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมที่ดีต้องมีสถิติการจับกุมผู้กระทำความผิดสูง และผู้ที่ถูกจับกุมได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่กระทำผิดจริง โดยมีหลักประกันแก่สังคมว่าในการดำเนินคดีอาญาจะต้องดำเนินไปอย่างรวดเร็วและมีความแน่นอนและด้วยความเชื่อว่าฝ่ายปกครอง (เจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการ) จะค้นหาข้อเท็จจริงในคดีได้ดีกว่าศาล การค้นหาข้อเท็จจริงในคดีจะพยายามให้ยุติในขั้นต้นของกระบวนการยุติธรรมให้มากที่สุด[2] และหากยอมรับว่าการค้นหาข้อเท็จจริงในชั้นตำรวจและอัยการเพียงพอที่จะเชื่อถือได้แล้ว การใช้ดุลพินิจสั่งคดีย่อมสามารถกระทำได้อย่างไม่ต้องลังเล คดีอาญาต่างๆ ก็สามารถดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอและมีความต่อเนื่อง[3] ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ต้องสงสัยที่เป็นผู้บริสุทธิ์ถูกปล่อยตัวโดยเร็ว และผู้ต้องหาที่มีหลักฐานว่าเป็นผู้กระทำผิดจะถูกดำเนินคดีแน่นอนเช่นกัน

2. ทฤษฎีกระบวนการนิติธรรม (Due Process)
ทฤษฎีนี้ยึดหลักกฎหมายหรือหลักนิติธรรมมากกว่าความคิดในเรื่องการควบคุมอาชญากรรม และไม่เชื่อว่าความความคิดในการควบคุมอาชญากรรมนั้นจะมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการค้นหาข้อเท็จจริง ดังนั้น แนวความคิดของทฤษฎีกระบวนการนิติธรรม จึงไม่เห็นด้วยกับการแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างไม่เป็นทางการของทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม การใช้อำนาจของเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่จำเป็นต้องได้รับการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานมิให้ล่วงละเมิดสิทธิของบุคคล และต้องการให้มีการพิจารณาคดีหรือไต่สวนข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการ และเปิดเผยในศาลสถิตยุติธรรม ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและกฎหมายต่อหน้าองค์คณะของผู้พิพากษาที่เป็นกลาง ไม่ลำเอียงเข้ากับฝ่ายใด
ในปัจจุบัน การดำเนินคดีอาญาไม่สามารถดำเนินตามทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งได้ ต้องนำทฤษฎีทั้งสองมารวมกันจึงจะเกิดผลดีสำหรับดำเนินคดีอาญา ซึ่งการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะต้องสามารถควบคุมและปราบปรามผู้กระทำความผิด และในขณะเดียวกันต้องให้มีการพิจารณาคดีที่เป็นกลางและไม่ลำเอียงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นการคุ้มครองบุคคลตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานซึ่งไม่ควรให้รัฐมาทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ได้ หรือเรียกว่าเป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทางอาญา
[1] Packer, Herbert. The Limits of Criminal Sanction (Stanford : 1968) อ้างใน อภิรัตน์ เพ็ชรศิริ และคณะ, สิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทย (กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2529), หน้า 1.
[2] ประธาน วัฒนวาณิชย์, “ระบบความยุติธรรมทางอาญา : แนวความคิดเกี่ยวกับการควบคุมอาชญากรรมและกระบวนการนิติธรรม”, วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 2520, หน้า 151-152
[3] ประธาน วัฒนวาณิชย์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 151.

เอกสารการสอนชุดที่ 1

วิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 1
อ.เมธาพร กาญจนเตชะ
การดำเนินคดีอาญา
1. การดำเนินคดีอาญาตามแนวความคิดสากล
การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอาญา มีแนวปฏิบัติตามมาตรฐานสากล คือ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญา คือ
บุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมายอย่างเป็นธรรมและเปิดเผยในศาลซึ่งเป็นอิสระและไร้อคติ และการพิจารณาคดีอาญาบุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันขั้นต่ำอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันในเรื่องต่างๆ เช่น มีสิทธิที่จะมีเวลาและได้รับความสะดวกเพียงพอในการสู้คดี สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยปราศจากการชักช้าอย่างไม่เป็นธรรม สิทธิที่จะอุทธรณ์การลงโทษ และคำพิพากษาต่อศาลสูงให้พิจารณาทบทวนอีกครั้งตามกฎหมาย เป็นต้น
2. การดำเนินคดีอาญาตามหลักผู้ที่เข้ามาดำเนินคดี
2.1 หลักการดำเนินคดีอาญาโดยผู้เสียหาย
เป็นเรื่องของผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือบุคคลที่ใกล้ชิดของผู้เสียหายกระทำการดำเนินคดีเอง[1] เป็นในรูปของการแก้แค้นเป็นการส่วนตัวหรือทำสงครามระหว่างกลุ่มชนที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐทำหน้าที่เป็นคนกลางตัดสินความถูกผิด รวมถึงการบังคับให้ผู้กระทำความผิดรับผิดตามข้อเรียกร้องของผู้เสียหาย ด้วยเหตุนี้หลักการดำเนินคดีจึงคำนึงเฉพาะส่วนได้เสียบุคคลเป็นหลัก ไม่มีส่วนได้เสียของสังคมเข้าไปเกี่ยวข้อง[2]
2.2 หลักการดำเนินคดีอาญาโดยประชาชน
การดำเนินคดีอาญาโดยประชาชน (Popular Prosecution) เป็นระบบการดำเนินคดีที่ถือว่าประชาชนทุกคนเป็นหน่วยหนึ่งของรัฐหรือสังคม ถ้ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น ประชาชนทุกคนมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ด้วยและถือว่ามีหน้าที่ในการฟ้องร้องและดำเนินคดีอาญาเป็นของประชาชน จึงทำให้ประชาชนทุกคนเป็นผู้เสียหาย[3] แนวความคิดเช่นนี้ปรากฏขึ้นอย่าง ชัดเจนในระบบกฎหมายโรมัน โดยจำแนกความผิดระหว่างการกระทำผิดต่อส่วนตัว (Delit Private) กับการกระทำความผิดอาญาแผ่นดิน (Delit Public) ออกจากกันและจากการจำแนกการกระทำผิดนี้เอง จึงให้เกิดการฟ้องคดีอาญาตามหลักการดำเนินคดีอาญาโดยประชาชน[4]
2.3 หลักการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ
การดำเนินคดีโดยรัฐ (Public Prosecution) เป็นหลักการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นแนวความคิดทางอรรถประโยชน์นิยม คือ การกระทำใดที่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสังคม รัฐซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมจะต้องเข้าไปดำเนินการป้องกันการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อสังคม หลักการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐมีแนวคิดพื้นฐานหรือแหล่งที่มาจากประเทศในภาคพื้นยุโรปเป็นส่วนใหญ่ โดยจะมุ่งให้ความคุ้มครองสิทธิของสมาชิกในสังคมหรืออาจเรียกว่า ประโยชน์สาธารณะ ประเทศที่ใช้หลักการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ ส่วนมากจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเรียกว่า “พนักงานอัยการ” มีสถานภาพเป็นตัวแทนของรัฐ
ดังนั้น ตามแนวคิดพื้นฐานของหลักดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ บุคคลซึ่งเสียหายไม่มีสิทธิในการเข้ามาฟ้องร้องและดำเนินคดีอาญา โดยมีประโยชน์ของรัฐหรือสังคมเหนือกว่าประโยชน์ของบุคคลรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้ใช้อำนาจในการดำเนินคดีอาญาในการรักษาความสงบเรียบร้อย
การดำเนินคดีอาญาผู้ที่เข้ามาดำเนินคดีไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด คือ ผู้เสียหาย ประชาชน หรือ รัฐก็ตาม สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องอำนวยความยุติธรรมอย่างเสมอภาคกันโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าบุคคลที่เข้ามาจะมีสถานะเช่นไร เนื่องจากบุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกันในการเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ดังนั้น ไม่สมควรให้ความสำคัญกับการดำเนินคดีอาญาในกรณีใดกรณีหนึ่ง เช่น ให้เอกสิทธิหรือให้ความสำคัญกับการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐมากกว่ากรณีที่ผู้เสียหายที่เข้ามาดำเนินคดีอาญาเอง เป็นต้น


[1] อรรถพล ใหญ่สว่าง, ผู้เสียหายในคดีอาญา, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2524), หน้า 5.
[2] อุดม รัฐอมฤต, “การฟ้องคดีอาญา”, วารสารนิติศาสตร์ ปี 22 ฉบับที่ 2, 2535, หน้า 243.
[3] คณึง ฦาไชย, กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เล่ม 1, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531), หน้า 69.
[4] อุดม รัฐอมฤต, เรื่องเดียวกัน, หน้า 243.

วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2553

กระบวนความยุติธรรมทางอาญา

วิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 2

อาจารย์เมธาพร กาญจนเตชะ

การค้นหาความจริงในคดีอาญา

การค้นหาความจริงในคดีอาญา โดยทั่วไปจะมีหลักการค้นหาความจริงอยู่ 2 ระบบ คือ ระบบไต่สวน กับ ระบบกล่าวหา ซึ่งศาลของประเทศต่างๆ ย่อมดำเนินตามกฎหมายในการค้นหาความจริงจากพยานหลักฐานตามระบบที่ประเทศของตนใช้อยู่[1] และย่อมจะแตกต่างกันไป สุดแล้วแต่จะเห็นว่าระบบใดมีความเหมาะสมเพื่อดำเนินไปสู่เป้าหมายได้ดีที่สุด

1. ระบบไต่สวน (Inquisitorial System)

การค้นหาความจริงในระบบนี้เป็นของระบบที่ใช้อยู่ในกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรปซึ่งเป็นระบบซีวิลลอว์ เป็นการพิจารณาคดีที่ไม่ใช่ลักษณะของการต่อสู้ระหว่างคู่ความในคดี แต่เป็นระบบที่ใช้วิธีซักฟอกหาข้อเท็จจริงในคดีที่เกิดขึ้น องค์กรทุกฝ่ายในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะมีการร่วมมือกันในการค้นหาข้อเท็จจริงอย่างจริงจัง ศาลหรือผู้พิพากษาจะเป็นผู้รับผิดชอบในการค้นหาข้อเท็จจริงจากการสืบพยานหลักฐาน และข้อเท็จจริงของการกระทำผิด โดยไม่ปล่อยให้เป็นบทบาทหน้าที่ของพนักงานอัยการและทนายจำเลยเท่านั้น ศาลจะเป็นผู้ดำเนินการค้นหาข้อเท็จจริง ด้วยตนเอง กำหนดประเด็นในคดีในฐานะเป็นผู้ดำเนินการพิจารณาสืบพยาน เป็นผู้ควบคุมการดำเนินคดีทุกขั้นตอนและอยู่ในฐานะที่สามารถให้ความคุ้มครองแก่สิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาได้โดยตรง ไม่มีบทกฎหมายวางระเบียบการสืบพยาน หรือไม่มีบทตัดพยาน (Exclusionary Rule) โดยเคร่งครัดว่าพยานประเภทนี้รับฟังได้หรือไม่ได้ ดังนั้น ศาลมักจะรับพยานหลักฐานทุกชิ้นเข้าสู่สำนวนความ และจะไปพิจารณาละเอียดตอนชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าพยานชิ้นใดควรมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ศาลจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจได้กว้างขวางและ ยืดหยุ่นได้มาก

เนื่องจากระบบนี้ บทบาทสำคัญในการดำเนินกระบวนการพิจารณาค้นหาความจริง คือ ผู้พิพากษาหรือศาลเท่านั้น ดังนั้นระบบนี้จะได้ผลหรือค้นหาความจริงได้ถูกต้องก็ต่อเมื่อ ผู้พิพากษานั้นกระทำการไต่สวนด้วยความระมัดระวัง ไม่ลำเอียง ต้องดำรงตนในฐานที่ไม่เป็นปฏิปักษ์และเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งลักษณะเช่นนี้ได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นทฤษฎีบริสุทธิ์หรืออุดมคติผลจะเป็นจริงเป็นไปได้ยาก เพราะผู้ไต่สวนมักไม่สามารถหลีกเลี่ยงอคติจากการแสวงหาความจริงได้

2. ระบบกล่าวหา (Adversary System)

การค้นหาความจริงในระบบนี้เป็นของระบบคอมมอนลอว์ที่ใช้อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ การดำเนินคดีในระบบนี้อยู่ภายใต้แนวความคิดที่ว่าการดำเนินคดีเป็นการต่อสู้ของบุคคล 2 ฝ่าย จึงมีรูปแบบการดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นการต่อสู้ระหว่างคู่ความทำนองเดียวกับคดีแพ่ง การพิจารณาคดีอาญาในระบบนี้ประกอบด้วยองค์กร 3 ฝ่ายได้แก่

1) ศาล (Trail Judge) ซึ่งจะเป็นผู้รักษากฎเกณฑ์ในการพิจารณาคดีเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างประโยชน์ของรัฐและสิทธิเสรีภาพของเอกชน

2) พนักงานอัยการ (Prosecution)

3) ทนายจำเลย (Defense Attorney)

ระบบการพิจารณาคดีมีรากฐานมาจากการดำเนินคดีโดยประชาชน (Popular Prosecution) เป็นกรณีที่เอกชนคนหนึ่งฟ้องเอกชนอีกคนหนึ่งที่มีฐานะเท่าเทียมกัน มีลักษณะการต่อสู้กันระหว่างโจทก์ จำเลย ส่วนศาลวางตนเป็นกลาง วางเฉย ทำให้โจทก์ผู้ฟ้องคดีต่อศาลมีหน้าที่นำสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด จึงเป็นการต่อสู้คดีอย่างเคร่งครัดและใช้วิธีการค้นหาความจริงโดยการถามค้านเป็นหลัก และศาลจะตัดสินไปตามพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบ ศาลแทบไม่มีหน้าที่ถามพยานบุคคลที่อยู่ต่อหน้าจำเลยคือจะถามเฉพาะเมื่อคำตอบของพยานที่ตอบโจทก์หรือจำเลยไม่เป็นที่ชัดแจ้งหรือไม่เป็นที่เข้าใจ ศาลจะไม่ถามเพื่อค้นหาความจริงจากพยานบุคคลที่มาให้การอยู่ต่อหน้าศาล เพียงแต่จะควบคุมการนำเสนอพยานหลักฐานของคู่ความ ตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับพยานหลักฐานการนำเสนอพยานหลักฐานในคดี จะถือว่าคู่ความทราบอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากมีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว มีการสืบพยานที่เคร่งครัดมาก มีบทตัดพยานที่เด็ดขาด ศาลจะไม่แสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม เหตุผลก็เนื่องจากความจำเป็นของกติกาในการต่อสู้ระหว่างคู่ความมิให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันและในประเทศระบบคอมมอนลอว์ใช้ระบบการพิจารณาคดีที่มีลูกขุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดามาเป็นผู้ชี้ขาดข้อเท็จจริง ดังนั้น การค้นหาความจริงตามระบบคอมมอนลอว์จึงปล่อยให้คู่กรณีนำพยานหลักฐานมาสืบกันเอง เมื่อถึงขั้นสุดท้ายผู้พิพากษาเป็นผู้ตัดสินให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะคดี ตามพยานหลักฐานที่มีการนำมาพิสูจน์ได้

ข้อแตกต่างของระบบไต่สวนและระบบกล่าวหา

1. ระบบไต่สวน

ระบบนี้ศาลยุติธรรมสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสืบสวนโดยถือว่าเป็นเจ้าพนักงานสืบสวนคนหนึ่ง ศาลมีสิทธิที่จะถามปัญหาข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด เช่น ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานชิ้นไหนควรสืบเพิ่มศาลสามารถที่จะสืบได้โดยที่คู่ความไม่ต้องร้องขอ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคู่ความที่มีความไม่เท่าเทียมกันในการต่อสู้คดี เช่น ไม่มีความรู้เพียงพอ หรือมีฐานะยากจนที่ไม่สามารถว่าจ้างทนายความที่มีความสามารถในการต่อสู้คดี เป็นต้น และในขณะเดียวกันก็มีอำนาจที่จะตัดสินคดีด้วย จะเห็นได้ว่าในระบบนี้ศาลสามารถที่จะเข้าไปอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้สูง แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังสำหรับระบบไต่สวนนี้ คือ ถ้าศาลไม่กระทำการไต่สวนด้วยความระมัดระวัง หรือมีความลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคระหว่าง คู่ความได้

2. ระบบกล่าวหา

ระบบนี้ศาลจะวางตนอย่างเป็นกลาง โดยเปิดโอกาสให้คู่ความต่อสู้คดีอย่างเท่าเทียมกัน ศาลจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการต่อสู้คดีระหว่างคู่ความ ถ้ามองเผินๆจะเห็นได้ว่าระบบนี้เป็นการให้คู่ความต่อสู้คดีอย่างเสมอภาคกัน แต่ในความจริงที่ว่าคู่ความมีความต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฐานะ ความรู้ การวางตนเป็นกลางของศาลอาจก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคในการต่อสู้คดีได้ เนื่องจากข้อเท็จจริงบางประการคู่ความที่มีความรู้น้อยกว่า หรือฐานะยากจน ไม่สามารถที่นำพยานหลักฐานที่สำคัญชิ้นนั้นมาเสนอต่อศาลได้ การวางตนเป็นกลางของศาลจึงอาจทำให้คู่ความที่ด้อยกว่าในเรื่องความรู้ และฐานะทางการเงินไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง



[1] ชวเลิศ โสภณวัต, “กฎหมายลักษณะพยานของไทยเป็นกฎหมายในระบบกล่าวหาจริงหรือ”, ดุลพาห ปีที่ 28 เล่ม 6 , 2524, หน้า 36.