วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2553

เอกสารประกอบการสอนชุดที่ 7

วิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 7
อาจารย์เมธาพร กาญจนเตชะ
ประเภทของโทษอาญา
1. โทษที่กระทบต่อชีวิตของผู้กระทำความผิด
โทษประเภทนี้ ได้แก่ การประหารชีวิตผู้กระทำความผิด ซึ่งจะใช้เฉพาะการกระทำความผิดที่รุนแรงมากหรือที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างมาก เป็นวิธีการลงโทษที่อยู่ในกลุ่มของการกำจัดออกไปจากสังคมอย่างถาวร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแก้แค้นทดแทน และการข่มขู่ยับยั้งไม่ให้ผู้อื่นกระทำตาม รวมทั้งเป็นการคุ้มครองสังคม โดยตัดโอกาสไม่ให้กระทำผิดอีกโดยเด็ดขาดนับว่าเป็นโทษที่หนักที่สุด ซึ่งมีความเหมาะสมกับความผิดที่ร้ายแรงและความผิดที่มีความทารุณโหดร้าย แต่อย่างไรก็ตามโทษประหารชีวิตก็มีข้อเสียคือ เมื่อเกิดการผิดพลาดแล้วไม่มีทางแก้ไขได้ นอกจากนี้ยังขัดต่อหลักมนุษยธรรมด้วย ถือได้ว่าเป็นการลงโทษเกินกว่าสัญญาประชาคมที่ได้ให้ไว้ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว การให้สัญญานั้นไม่มีผู้ใดสละเสรีภาพของตนเพื่อให้บุคคลอื่นสังหารตน รัฐจึงไม่มีสิทธิที่จะทำการดังกล่าวได้
2. โทษที่กระทบต่อเสรีภาพของผู้กระทำความผิด
ได้แก่ การจำคุกและการกักขังเป็นวิธีการลงโทษที่อยู่ในกลุ่มของการตัดผู้กระทำความผิดออกไปจากสังคมเป็นการถาวร เช่น การกำหนดโทษจำคุกสูง หรือตลอดชีวิต หรือเป็นการชั่วคราว เช่น การกำหนดโทษจำคุกโดยมีกำหนดเวลาและการกักขัง เป็นต้น ซึ่งการตัดผู้กระทำความผิดออกจากสังคมในช่วงนี้เป็นการดัดนิสัยของผู้กระทำความผิดก่อนที่จะคืนสู่สังคม
วัตถุประสงค์ของการลงโทษจำคุกมีด้วยกัน 4 ประการ คือ
1) เพื่อการแก้แค้นทดแทน กล่าวคือ การจำคุกทำให้ผู้กระทำผิดถูกจำกัดเสรีภาพ เพื่อเป็นการตอบแทนพฤติกรรมที่ได้กระทำไป ทำให้บุคคลทั่วไปเกิดความรู้สึกสาสมกับผลร้ายซึ่งผู้กระทำผิดได้ก่อให้เกิดขึ้นต่อสังคม
2) เพื่อเป็นการข่มขู่ กล่าวคือ การถูกจำกัดเสรีภาพ ถือว่าเป็นสิ่งที่ข่มขู่ตัวผู้กระทำผิดเองมิให้กระทำความผิดซํ้าขึ้นมาอีก หรือเป็นการข่มขู่บุคคลทั่วไปไม่ให้กล้ากระทำความผิดขึ้น
3) เพื่อตัดโอกาสมิให้กระทำความผิดขึ้นมาอีก
4) เพื่อปรับปรุงแก้ไข กล่าวคือ ในช่วงเวลาที่ถูกควบคุมตัวนั้น ทางเรือนจำได้ใช้มาตรการต่างๆในการปรับปรุงแก้ไขฟื้นฟู เพื่อให้กลับตัวเป็นคนดี เช่น การฝึกอาชีพ การให้การศึกษา เป็นต้น ดังนั้น การลงโทษจำคุกจึงถือว่าเป็นการลงโทษแบบบูรณการ (Integration) โดยเป็นการรวมวัตถุประสงค์ของการลงโทษหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งศาลจะนิยมนำโทษจำคุกมาใช้มากที่สุด เพราะทำให้ประชาชนในสังคมยอมรับและไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบ
อย่างไรก็ตามโทษจำคุกก็มีข้อเสีย เช่น รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการควบคุมดูแลมากที่สุด และยังทำให้ผู้กระทำผิดปรับตัวเข้ากับสังคมได้ยากตามหลักของทฤษฏีการตราหน้า (lebeling Theory) ด้วย เนื่องจากอาจถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็นคนขี้คุกอันจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง ความเป็นอยู่ต่อไปในสังคม อีกทั้งในระหว่างจำคุกทำอาจได้รับอิทธิพลหรือพฤติกรรมที่ไม่ดีจากผู้ต้องโทษด้วยกัน
โทษจำคุกเป็นการนำผู้กระทำความผิดไปควบคุมไว้ในเรือนจำและอยู่ภายใต้การควบคุม
ดูแลอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มักใช้กับความผิดที่ร้ายแรงหรือความผิดที่ฝ่าฝืนศีลธรรมหรือความสงบเรียบร้อยของสังคมอย่างมาก ในการใช้โทษจำคุกนั้นจึงมีข้อพิจารณากรณีดังนี้
(1) ผู้กระทำความผิดร้ายแรงบางประเภท เช่น ผู้กระทำผิดที่ก่อภยันตรายหรือคุกคามความปลอดภัยต่อชีวิตของผู้อื่น
(2) ผู้กระทำความผิดซึ่งมีพฤติกรรม หรือกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อค่านิยมพื้นฐานในสังคม อันควรแก่การประณามอย่างยิ่ง เช่น การทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือการหลอกลวงฉ้อฉลที่ก่อความเสียหายต่อสาธารณชนและเศรษฐกิจของชาติ เป็นต้น
(3) ผู้กระทำความผิดซึ่งไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือบทลงโทษที่ศาลได้พิพากษาไว้แล้ว เช่น ผู้กระทำผิดที่จงใจไม่ชำระค่าปรับและชดใช้ค่าเสียหาย หรือได้กระทำผิดเงื่อนไขการคุมประพฤติ เป็นต้น
การกักขังเป็นการกักตัวผู้กระทำความผิดไว้ในสถานที่ที่กำหนด เช่น ในบ้านผู้กระทำความผิดเอง มักใช้กับผู้กระทำความผิดสถานเบา
ปัจจุบันหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ได้เปลี่ยนแนวทางการลงโทษจำคุกใหม่โดยใช้เฉพาะความผิดที่ร้ายแรง และนำโทษกักขังมาใช้กับความผิดไม่ร้ายแรงโดยการกักขังผู้กระทำความผิดไว้ในบ้านของผู้กระทำความผิดเอง (House arrest) หรือสถานที่ที่กำหนดและติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันผู้กระทำความผิดหลบหนี การเปลี่ยนแนวทางการลงโทษนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐที่เกี่ยวกับการจำคุกได้เป็นจำนวนมาก และเป็นการป้องกันมิให้ผู้ที่กระทำความผิดไม่ร้ายแรงเข้าไปอยู่ร่วมกับผู้กระทำความผิดร้ายแรงซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเรียนรู้พฤติกรรมต่างๆจากผู้กระทำความผิดร้ายแรงได้
3. โทษที่กระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของผู้กระทำความผิด
โทษประเภทนี้ได้แก่ การสั่งให้ทำงานเพื่อสังคม (Community service)ในเรื่องต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้กระทำความผิดโดยไม่มีเจตนาร้ายได้รู้สำนึกในการกระทำของตน และหลาบจำการลงโทษประเภทนี้มิได้ใช้เฉพาะผู้กระทำความผิดที่เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่ยังใช้ได้กับผู้กระทำความผิดที่เป็นนิติบุคคลด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น การสั่งให้นิติบุคคลที่ปล่อยมลพิษออกสู่สภาพแวดล้อมต้องดำเนินการกำจัดมลพิษที่ตนปล่อยออกไป หรือโดยการจ่ายเงินสนับสนุนแก่องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น สำหรับประเทศไทยนั้นมาตรการนี้ยังไม่ถือเป็นโทษแต่อาจถูกนำมาใช้ในการคุมประพฤติหากศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำความผิด
4. โทษที่กระทบต่อทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด
โทษประเภทนี้ได้แก่การปรับและการริบทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด การปรับเป็นโทษที่บังคับเอากับทรัพย์สินของผู้กระทำผิดตามที่ศาลกำหนด โดยมักจะกำหนดโทษปรับเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน ซึ่งเป็นโทษที่ใช้กันทั่วไปในความผิดที่ไม่รุนแรงแต่การกำหนดโทษปรับเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน ซึ่งเป็นโทษที่ใช้กันทั่วไปในความผิดที่ไม่รุนแรง แต่การกำหนดโทษปรับที่มีอัตราค่าปรับสูงจะใช้กับความผิดทางเศรษฐกิจหรือความผิดที่กระทำโดยนิติบุคคล เช่นความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น ส่วนการริบทรัพย์สินนั้นเป็นการริบทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิด หรือที่ใช้ในการกระทำความผิด หรือที่ได้มาจากการกระทำความผิดเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดใช้หรือประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นอีกต่อไป เช่น ความผิดคดียาเสพติด หรืออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทยบัญญัติไว้ในมาตรา 18 ได้กล่าวถึงโทษทางอาญาที่จะใช้ลงโทษผู้กระทำผิดไว้ 5 ประการได้แก่
1. ประหารชีวิต
2. จำคุก
3. กักขัง
4. ปรับ
5. ริบทรัพย์สิน
โดยโทษประหารชีวิต นั้นเดิมกฎหมายกำหนดให้เอาไปยิงเสียให้ตาย ต่อมาปีพ.ศ.2546 ได้เปลี่ยนเป็นให้เอาไปฉีดยาหรือสารพิษแทน เนื่องจากการประหารชีวิตแบบเดิมเป็นวิธีการที่ทารุณโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม และกำหนดห้ามนำโทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมาใช้กับผู้กระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยให้เปลี่ยนโทษดังกล่าวเป็นโทษจำคุกห้าสิบปีแทน ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.1989 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก

1 ความคิดเห็น: