วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2553

เอกสารประกอบการสอนชุดที่ 8

เอกสารวิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 8
อาจารย์ เมธาพร กาญจนเตชะ
รูปแบบการระงับข้อพิพาท
1. กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice)
คำว่า “Restorative Justice” หรือ “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” เป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสังคมโลก โดยสหประชาชาติ ได้เสนอให้ใช้คำนี้ในการประชุม UN Expert Meeting on Restorative Justice ที่รัฐบาลคานาดาจัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2544 หมายถึง “การอำนวยความยุติธรรมที่ต้องการทำให้ทุกฝ่ายซึ่งได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมได้กลับคืนสู่สภาพดีเช่นเดิม อันเป็นการสร้าง ‘ความสมานฉันท์ในสังคม’ เป็นเป้าหมายสุดท้าย”[1]
ลักษณะและรูปแบบของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ต้องพิจารณาใน 2 ส่วน คือ
1.1 กระบวนการที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์
กระบวนการ (Process) ต้องเป็นกระบวนการที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ ทำให้ฟื้นฟู โดยมีหลักการว่า ควรเป็นกระบวนการที่ไม่เป็นทางการ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้มาพบในบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดความปรองดอง ส่งเสริมให้ผู้กระทำความผิดได้สำนักผิด ได้ชดใช้ ส่งเสริมให้ชุมชนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วน เกี่ยวข้อง
ในต่างประเทศมีกระบวนการที่ใช้หลายรูปแบบ ได้แก่ การประชุมกลุ่ม อาจเป็นกลุ่มครอบครัว กลุ่มชุมชน หรือประชุมวงกลม (Sentencing Circle) เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตามความสำคัญก็คือ การสร้างความปรองดองของทุกฝ่าย
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ สามารถใช้ได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ได้แก่
- ชั้นตำรวจ หลายประเทศได้ใช้กระบวนการนี้สำหรับความผิดที่ใช้การตักเตือนหรือปรับ
- ชั้นอัยการ กรณีมีการชะลอการฟ้องก็สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้
- ชั้นศาล สามารถใช้ประกอบเป็นเงื่อนไขในการกำหนดคำพิพากษาว่าควรจะเข้าสู่กระบวนการนี้ก่อน
- หลังคำพิพากษา สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ประกอบเงื่อนไขการพักการลงโทษได้
1.2 ผลลัพธ์ที่จะก่อให้เกิด “ความสมานฉันท์” เป็นหัวใจสำคัญ คือ “การแสดงความสำนึกผิด” “การยินยอมที่จะปรับพฤติกรรม” การเยี่ยวยาชดใช้ที่ผู้กระทำผิดพร้อมที่จะชดใช้ให้กับผู้เสียหาย ซึ่งอาจจะไม่ใช่เป็นเรื่องเงินเท่านั้น อาจเป็นการบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะอื่น ๆ
ประเภทความผิดที่สามารถนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาปรับใช้ [2]
1) ความผิดที่เด็กเป็นผู้กระทำความผิด
2) ความผิดจากความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) กรณีสามีทำร้ายภริยา การนำตัวผู้กระทำความผิดที่จะต้องพึ่งพากันไปจำคุกไม่ได้ประโยชน์อะไร
3) ความผิดที่กระทำโดยประมาท ก็สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้ดี
4) ความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ อื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการจำคุกระยะสั้น
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เป็นกระบวนการยุติธรรมแนวใหม่ ที่ฟื้นฟูความยุติธรรม (Restorative Justice) และองค์การสหประชาชาติมีข้อมติที่จะให้ประเทศต่าง ๆ ศึกษาและประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง โดยเห็นว่าอาชญากรรมเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหาย โดยผู้กระทำผิดควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง และมีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบ การจัดการกับอาชญากรรมไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องของรัฐที่จะทำการลงโทษ โดยเฉพาะโทษจำคุกโดยที่ผู้กระทำผิดไม่ได้สำนึกในการกระทำของตน และกลับไปกระทำผิดอีก
การจัดการกับอาชญากรรมควรเป็นการดำเนินการฟื้นฟูความเสียหายให้กลับคืนมา โดยผู้มีส่วนรับผิดชอบคือ ผู้เสียหาย ผู้กระทำผิด และชุมชน เช่นนี้จึงจะเกิดความยุติธรรม จะต้องมุ่งฟื้นฟูความเสียหายทั้งทางวัตถุและจิตใจของผู้เสียหาย และผู้กระทำผิดจะต้องรู้สึกรับผิดชอบสำนึกผิด และอยากเข้ามาชดเชยหรือทำให้ความเสียหายลดน้อยลง กระบวนการดังกล่าวนี้จะเป็นกระบวนการที่แตกต่างไปจากการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรมโดยทั่วไป โดยเป็นกระบวนการที่เน้นการตกลงกันของฝ่าย ผู้เสียหาย ผู้กระทำผิดและชุมชน
กระบวนการยุติธรรมแบบดั้งเดิม ผู้กระทำผิดมักจะพยายามหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ และมักไม่รับรู้หรือสำนึกในการกระทำผิดของตนว่าก่อความเสียหายเพียงใด แต่การฟื้นฟูความยุติธรรมจะทำให้ผู้กระทำผิดต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน และทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในการชดเชยต่อผู้เสียหายและชุมชน
จุดหลักของการฟื้นฟูความยุติธรรมอยู่ที่การพบปะร่วมกันของผู้เสียหาย ผู้กระทำผิดและสมาชิกของชุมชน ในระหว่างการพบปะแต่ละฝ่ายจะมีโอกาสได้เปิดเผยเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และแสดงความรู้สึกของตนเองออกมา การพบปะจะต้องช่วยให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เข้าใจฝ่ายอื่น ๆ และขั้นตอนในการที่จะชดเชยความเสียหาย การพบปะจะจบลงด้วยการตกลงกันว่าผู้กระทำผิดจะชดเชยความเสียหายได้อย่างไร การชดเชยการเป็นในรูปของการจ่ายค่าชดเชย การทำงานให้ผู้เสียหายหรือชุมชน หรือวิธีการอื่น ๆ การตกลงกันของฝ่ายต่าง ๆ อาจทำได้ในรูปแบบต่าง ๆ คือ[3]
1) การใช้วิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้เสียหายกับผู้กระทำผิด
โดยมีคนกลางเรียกว่า ผู้ไกล่เกลี่ย (Mediator) ซึ่งผ่านการอบรมมาอย่างดี มาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือไกล่เกลี่ย เพื่อมุ่งให้ผู้กระทำผิดยอมรับผิดชอบในการกระทำของเขาและยอมรับผิด รวมทั้งพร้อมที่จะขอโทษชดเชย หรือแก้ไขตนเองไม่กระทำผิดซ้ำอีก ขณะเดียวกันก็มุ่งที่จะทำให้ผู้เสียหายพอใจและให้อภัย แต่ก่อนที่จะให้ผู้เสียหายและผู้กระทำผิดมาพบกันเพื่อรับการไกล่เกลี่ยนั้น ต้องผ่านขั้นตอนการไกล่เกลี่ยมาก่อน กล่าวคือ ผู้เสียหายและผู้กระทำผิดต้องยินยอมที่จะเข้าโครงการ และยอมรับในหลักการเบื้องต้นก่อน จึงจะนำเข้ามาพบกัน วิธีการดังกล่าวนี้มีใช้กันมากในแคนาดา สหรัฐ อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ออสเตรีย นอร์เวย์ และฟินแลนด์
2) การประชุมกลุ่มครอบครัว (Family group Conferencing)
เป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพากษาอีกรูปแบบหนึ่ง โดยนอกจากจะมี ผู้กระทำผิด ผู้เสียหาย และผู้ไกล่เกลี่ยแล้ว ยังมีตัวแทนของชุมชนและครอบครัวของ ทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมปรึกษาหารือประชุมกันถึงแนวทางในการจัดการกับความผิดที่เกิดขึ้น นับเป็นการจัดการกับความผิดที่เกิดขึ้นที่แตกต่างจากการพิจารณาคดีโดยทั่วไป โดยยอมรับความเท่าเทียมกันของทุกฝ่ายในการที่จะตกลงแก้ปัญหาร่วมกัน
การประชุมจะเริ่มจากการที่แต่ละฝ่ายจะเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความรู้สึก โดยมีผู้ไกล่เกลี่ยที่จะแปรเปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นความเข้าใจ และทำให้การจัดการกับความผิดที่เกิดขึ้นเป็นไปในทางสร้างสรรค์ โดยเริ่มจากการให้ผู้กระทำผิดสำนึกและรับผิดชอบในการกระทำ พร้อมทั้งทำสิ่งใดในการชดเชยให้ผู้เสียหายและ ชุมชน ในขณะที่ผู้เสียหายและชุมชนก็ให้อภัยและพร้อมที่จะช่วยเหลือให้ผู้กระทำผิดไม่กระทำผิดซ้ำอีก วิธีการนี้มีใช้กันในนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อัฟฟาริกาใต้ อังกฤษ สหรัฐ และ แคนาดา
3) การล้อมวงพิจารณาความ (Sentencing Circle)
เป็นการพิจารณาความที่มีรูปแบบไม่เป็นทางการ โดยผู้พิพากษา อัยการ ทนาย จำเลย ผู้เสียหาย ญาติ และครอบครัว ตลอดจนพยานและตำรวจ จะมานั่งล้อมวงเป็นวงกลมเพื่อพิจารณาความที่เกิดขึ้น โดยให้แต่ละฝ่ายทุกคนได้พูดถึงเหตุ- การณ์ที่เกิดขึ้น ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ จากนั้นจึงเป็นการทำความเข้าใจร่วมกัน การยอมรับผิดของผู้กระทำผิด การให้อภัยของฝ่ายผู้เสียหาย และการชดเชยความเสียหายที่ฝ่ายผู้กระทำผิดจะชดเชยให้ผู้เสียหายหรือสังคม รวมทั้งที่ประชุมจะร่วมกันกำหนด วิธีการลงโทษที่เหมาะสมกับผู้กระทำผิดที่จะช่วยป้องกันการกระทำผิดซ้ำขึ้นอีก
การพิจารณาความวิธีนี้ จึงเปรียบเสมือนคนในชุมชนที่ร่วมกันจัดการกับการกระทำผิดที่เกิดขึ้น โดยใช้วิธีการพิจารณาแบบไม่เป็นทางการ ทุกคนนั่งล้อมวงเสมอกัน และช่วยกันคิดหาหนทางที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมต่อทุกฝ่ายมากกว่าที่จะเน้นการลงโทษ โดยที่ผู้เสียหายไม่ได้รับการทดแทน ในการตกลงไกล่เกลี่ยและการล้อมวงพิจารณาความ อาจลงเอยโดยการให้ผู้กระทำผิดยอมรับผิดและทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อชุมชน เช่น การทำงานบริการสาธารณะ หักเงินเข้ากองทุนสงเคราะห์เหยื่ออาชญากรรม ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหาย เข้าร่วมในการอภิปรายเพื่อให้ความรู้ในการป้องกันอาชญากรรมกับชุมชน ขณะที่ชุมชนเองก็มีการรวมกลุ่มในการสงเคราะห์ผู้พ้นโทษและช่วยเหลือผู้เสียหาย
ในแคนาดา ตำรวจที่ทำงานด้านชุมชนสัมพันธ์จะรับบทบาทในเรื่องนี้ ตำรวจเหล่านี้ใกล้ชิดกับชุมชน ผู้เสียหาย และผู้กระทำผิด จะทำหน้าที่ในการดำเนินการข้างต้น การให้ความรู้และการป้องกันอาชญากรรม โดยการทำงานอย่าง ใกล้ชิดกับผู้นำชุมชน เมื่อมีคดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเกิดขึ้น ตำรวจจะส่งเข้าโครงการ โดยมีผู้ไกล่เกลี่ย ผู้นำชุมชน ร่วมกันเป็นคณะในการตกลงของคู่คดี หากตกลงกันได้ก็ไม่ต้องดำเนินคดีในศาล หากจะมีกิจกรรมที่ผู้กระทำผิดจะต้องกระทำ ก็ร้องขอให้ศาลพิจารณาส่งต่อไป กระบวนการดังกล่าวนี้จะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน โดยไม่ต้องรอการพิจารณาคดีเป็นปี
ในออสเตรเลียมีการนำระบบการล้อมวงพิจารณาความไปใช้ในคดีเด็กและเยาวชนและคดีอาญาทั่วไป จุดประสงค์ก็เพื่อที่จะเบี่ยงเบนผู้กระทำผิดออกจากกระบวนการยุติธรรมแบบดั้งเดิม โดยการให้โอกาสผู้กระทำผิดเข้ามาแก้ปัญหา ข้อพิพาทในที่ประชุมชุมชนแทนการพิจารณาคดีในศาล ยกเว้นในกรณีผู้กระทำผิดปฏิเสธคดีและต้องการที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน การประชุมแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง จะประกอบด้วย ผู้เสียหายและญาติพี่น้อง ผู้กระทำผิดและญาติ พี่น้อง และกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ รวมทั้งผู้นำประชุม
การล้อมวงพิจารณาความ ผู้นำประชุมจะเน้นการอภิปรายถึงการประณามการกระทำผิด โดยหลีกเลี่ยงการประณามคุณลักษณะของผู้กระทำผิด โดยผู้กระทำผิดจะต้องอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีความรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์และคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ส่วนผู้เสียหายจะแถลงถึงผลกระทบของอาชญากรรมทางร่างกาย เศรษฐกิจ และอารมณ์ ซึ่งจะทำให้ผู้กระทำผิดและญาติมีโอกาสที่จะรู้สึกสำนึกในการกระทำของพวกเขาและขอโทษผู้เสียหาย จากนั้นจึงให้มีการตกลงที่จะลงนามข้อตกลงที่จะชดเชยความเสียหาย เช่น ในรูปของการจ่ายค่าชดเชย ทำงานชดใช้ผู้เสียหายหรือสังคม หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ ตามแต่จะตกลง
ปัจจุบันการพิจารณาคดีโดยชุมชนมีกฎหมายรองรับ บางรัฐดำเนินการโดยตำรวจ บางรัฐ อัยการ และบางรัฐผ่านอำนาจศาล และบางรัฐโดยองค์กรศาสนา ใช้กับคดีเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ และคดีอาญาในบางส่วน นอกจากนี้บางประเทศมีการประยุกต์ใช้แนวคิดนี้กับงานราชทัณฑ์ กล่าวคือ ให้เหยื่อและชุมชนเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการราชทัณฑ์
การฟื้นฟูความยุติธรรมจะใช้ในคดีที่ผู้กระทำผิดรับสารภาพหรือยอมรับผิด และทั้งผู้เสียหายและผู้กระทำผิดยินยอมที่จะเข้าร่วมในกระบวนการไกล่เกลี่ย โดยส่วนใหญ่จะใช้กับความผิดในคดีลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ปล้น บุกรุก กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอก และคดีทางเพศ ในส่วนของขั้นตอนที่จะนำการฟื้นฟูความยุติธรรมมาใช้นั้น อาจทำได้ในขั้นตอนของตำรวจ อัยการ หรือของศาล ภายหลังการพิจารณาคดี โดยเป็นคำสั่งศาล ทั้งนี้ บางประเทศจะให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ดำเนินการ บางประเทศให้องค์กรในชุมชนดำเนินการ หรือร่วมกันระหว่างฝ่ายรัฐกับชุมชน ซึ่งรวมถึงการดำเนินการติดตามดูแลให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม ประเทศส่วนใหญ่จะใช้กระบวนการฟื้นฟูความยุติธรรมกับคดีเด็กและเยาวชน แต่ก็มีหลายประเทศที่ใช้ในคดีอาญาทั่วไปเช่นกัน ทั้งนี้ จะต้องมีกฎหมายรองรับให้อำนาจในการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวนี้
เห็นได้ว่า การฟื้นฟูความยุติธรรม เป็นทางเลือกในการจัดการกับการกระทำผิดที่แตกต่างไปจากกระบวนการยุติธรรมแบบดั้งเดิม ซึ่งเน้นในเรื่องการลงโทษผู้กระทำผิด การฟื้นฟูความยุติธรรมจะเน้นการฟื้นฟูความยุติธรรมให้กลับคืนมา โดยให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบและชดเชยให้ผู้เสียหายและชุมชนในทางใดทางหนึ่ง ทั้งนี้ โดยมีกระบวนการในการไกล่เกลี่ย ซึ่งทุกฝ่ายจะเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนร่วมกันในการชดเชยความเสียหาย และทำให้ความยุติธรรมกลับคืนมา การฟื้นฟูความยุติธรรมจึงเป็นกระบวนการยุติธรรมทั้งของผู้เสียหายและผู้กระทำผิด
2 การชะลอการฟ้อง (Suspension of Prosecution)
การชะลอการฟ้องเป็นการสั่งคดีประการหนึ่งของพนักงานอัยการในต่าง- ประเทศ ซึ่งเป็นอำนาจในการใช้ดุลพินิจที่จะไม่ฟ้องผู้ต้องหาซึ่งมีมูลเชื่อว่ากระทำผิด อันมีส่วนช่วยในการลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล หมายความถึงการที่พนักงานอัยการมีความเห็นแล้วว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย แต่จะยังไม่ฟ้องทันที หากจะกำหนดเงื่อนไขควบคุมความประพฤติที่ผู้ต้องหาจะต้องปฏิบัติในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งหากผู้ต้องหาสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นได้ครบถ้วนตลอดช่วงเวลานั้น พนักงานอัยการจะสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหานั้น แล้วปล่อยตัวไป แต่ถ้าผู้ต้องหาไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นได้ พนักงานอัยการจะมีคำสั่งฟ้องและนำตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องต่อศาลต่อไป[4] เป็นการลดจำนวนคดีบางประเภทซึ่งไม่ควรนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลออกไปจากระบบ อันเป็นการลดคดีที่คั่งค้างในศาล และเป็นการกลั่นกรองคดีอาญาบางประเภทที่สามารถแก้ไข ผู้กระทำผิดให้สามารถปรับตัวให้เข้าสู่สังคมได้ดีกว่ากระบวนการตามปกติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี โดยเฉพาะในคดีความผิดบางประเภท เช่น ความผิดซึ่งกระทำโดยประมาท ความผิดระหว่างสมาชิกในครอบครัว ความผิดซึ่งเด็กเป็นผู้กระทำผิด เป็นต้น
วัตถุประสงค์อันสำคัญที่นำวิธีการชะลอฟ้องมาใช้ คือ
1) ให้มีการชะลอการฟ้องผู้กระทำผิดอาญาบางประเภทไว้ชั่วระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาได้มีโอกาสกลับตัวเป็นคนดีได้ภายใต้ความควบคุม ดูแลของเจ้าหน้าที่ และทำให้ไม่เป็นการเสียหายแก่ประวัติและชื่อเสียงของบุคคลนั้น
2) เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีชั้นศาล และการควบคุมทั้งของผู้กระทำผิดและของแผ่นดิน และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดอาญาได้กลับตัวเป็นคนดีแทนที่จะส่งฟ้องศาลและร้องขอการลงอาญา หรือการรอการกำหนดโทษตามวิธีเดิม
วิธีการและระยะเวลาดำเนินการ [5]
การชะลอการฟ้องให้อำนาจพนักงานอัยการที่จะพิจารณาเสนอความเห็นว่า ผู้ต้องหาคนใดที่ตามการสอบสวนได้ความว่า กระทำผิดตามข้อหา แต่เมื่อคำนึงถึงประวัติ ความประพฤติ อุปนิสัย การดำเนินอาชีพ สติปัญญา การศึกษาอบรม สภาพความผิดและสภาพแวดล้อมแห่งจิต แล้วควรได้รับการชะลอการฟ้อง ให้พนักงานอัยการเสนอความเห็นควรชะลอการฟ้องไปยังคณะกรรมการชะลอการฟ้อง (Board of Suspend Prosecution) ซึ่งอาจประกอบด้วยหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
เมื่อคณะกรรมการชะลอการฟ้องพิจารณาแล้วไม่เห็นชอบด้วยกับความเห็นของพนักงานอัยการ ก็ต้องยื่นฟ้องผู้ต้องหาคดีนั้นไป ถ้าเห็นชอบด้วยก็จะอนุญาตให้มีการชะลอการฟ้อง
ผู้ต้องหาที่ได้รับอนุญาตให้ชะลอการฟ้อง ต้องได้รับการคุมประพฤติโดยพนักงานคุมประพฤติ (Probation Officer) และต้องรายงานตัวตามกำหนดด้วย ทั้งนี้ ทั้งผู้ต้องหาและผู้เสียหายต้องยินยอมให้มีการชะลอการฟ้อง เมื่อครบกำหนดการชะลอการฟ้องแล้ว พนักงานคุมประพฤติจะรายงานเสนอพนักงานอัยการเกี่ยวกับความประพฤติของผู้ต้องหาดังกล่าว และพนักงานอัยการจะทำความเห็นเสนอคณะกรรมการชะลอการฟ้องต่อไปว่าควรระงับการฟ้องเด็ดขาดหรือไม่
ระหว่างการคุมประพฤติถ้าผู้ต้องหามีพฤติการณ์ชัดเจนว่า ไม่สามารถกลับตนเป็นคนดีหรือผิดเงื่อนไขที่กำหนดไว้สำหรับการคุมประพฤติ คณะกรรมการชะลอการฟ้องอาจระงับการชะลอการฟ้อง และให้ฟ้องคดีนั้นต่อไป
ถ้าระหว่างการคุมประพฤติ ผู้ต้องหากระทำผิดอีก ก็จะถูกฟ้องทั้งคดีที่ชะลอไว้และคดีความผิดใหม่ด้วย
3. การให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการคำตักเตือนและทำทัณฑ์บนแก่ผู้กระทำผิด[6]
การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการระงับข้อพิพาท มีอยู่ทั่วไป เช่น ในประเทศไทยที่ให้อำนาจตำรวจในการเปรียบเทียบปรับคดีลหุโทษ และคดีที่มีอัตราโทษปรับสถานเดียวและเจ้าพนักงานตามกฎหมายได้ให้อำนาจพนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบปรับได้ แม้คดีนั้นจะมีอัตราโทษเกินกว่าลหุโทษก็ตาม แต่สำหรับคดีอันยอมความได้อื่น ๆ และคดีอาญาแผ่นดินที่ไม่ร้ายแรงและไม่มีบทกฎหมายบังคับให้ต้องนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลเท่านั้นแล้ว พนักงานสอบสวนก็อาจจะจัดทำสำนวนการสอบสวนและเสนอความเห็นเบื้องต้นเห็นควรไม่ฟ้องไปยังพนักงานอัยการเพื่อสั่งไม่ฟ้องต่อไปหากคู่กรณีสามารถทำการเจรจาและตกลงกันได้
ในประเทศนิวซีแลนด์ เลือกที่จะให้อำนาจตำรวจในการดำเนินการตักเตือนและทำทัณฑ์บนผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ได้อย่างเป็นการทั่วไป โดยมีโครงการที่จะดำเนินการอย่างจริงจังมาตั้งแต่ ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา การดำเนินการของประเทศนิวซีแลนด์ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกฎหมาย ของกระทรวงยุติธรรมได้ให้ ข้อเสนอแนะบางประการดังนี้
1) การพิจารณากำหนดกรอบของกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ชัดเจน
2) การกำหนดกรอบการกระทำผิด เพื่อใช้ในการกระบวนยุติธรรมทางเลือก
อย่างไรก็ตาม นิวซีแลนด์ ยังจะไม่นำกระบวนการเตือนหรือทัณฑ์บนโดยตำรวจมาใช้กับการกระทำผิดของผู้ใหญ่ในทันที ทั้งนี้ เนื่องจากจะต้องมีการทบทวนมาตรการที่จะนำมาใช้ให้เหมาะสม ก่อนการดำเนินการเกี่ยวกับการผันคดีไม่ให้ขึ้นสู่ศาล
4. มาตรการตามกฎหมาย การต่อรองการรับสารภาพ
การต่อรองการรับสารภาพเป็นกระบวนการหนึ่งของการกลั่นกรองคดีอาญา(Screening Criminal Cases) ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาล เพื่อประโยชน์และความจำเป็นในด้านต่างๆ นอกเหนือไปจากวิธีการอื่นๆ เช่น การกันผู้ต้องหาเป็นพยาน (Crown Witness)การชะลอการฟ้อง (Suspension of Prosecution) หรือการไต่สวนมูลฟ้อง (Preliminary Inquiry) เป็นต้น ประโยชน์ของการต่อรองการลงโทษสำคัญ 2 ประการ คือ 1. ด้านการบริหารกระบวนการยุติธรรม เพื่อแบ่งเบาภาระหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุกราย โดยผ่านการพิจารณาโดยศาลอย่างเต็มรูป ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลานานและเป็นการสิ้นเปลืองเวลาและงบประมาณอย่างมาก และช่วยแบ่งเบาภาระของการพิจารณาคดีในศาลอาจกระทำได้ โดยจะมีประโยชน์ในแง่การสร้างกระบวนการทางกฎหมายที่มีความชัดเจนเพื่อรองรับวิธีการที่จะได้มาซึ่งคำรับสารภาพ และจะเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย 2. ด้านประสิทธิภาพการปราบปรามการกระทำความผิด การต่อรองการรับสารภาพ จะเป็นเครื่องมือทางกฎหมายอีกมาตรการหนึ่งที่จะส่งผลเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามปัญหายาเสพติด โดยจะสามารถจูงใจให้ผู้กระทำความผิด ที่เป็นเพียงรายย่อยให้ข้อมูลที่สำคัญ อาจสามารถขยายผลการจับกุมผู้กระทำความผิดรายใหญ่ ซึ่งอาจรวมถึงบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการค้ายาเสพติดที่แท้จริงได้ ทั้งนี้ เพื่อตัดสายใยเชื่อมโยงขององค์กรอาชญากรรม (Organized Crime) นอกจากนี้ การนำวิธีการต่อรองการรับสารภาพมาใช้บังคับในประเทศไทยนั้น มีข้อพิจารณาสำคัญบางประการที่จะนำไปสู่การบังคับใช้วิธีการต่อรองการรับสารภาพอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ 1. การมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อคุ้มครองสิทธิของจำเลย 2. การมีหลักการตรวจสอบดุลพินิจและความถูกต้องของการต่อรองการรับสารภาพ 3. การมีหลักเกณฑ์ปฏิบัติภายในและการทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรประกอบ 4. การมีการคุ้มครองความปลอดภัยของพยานความร่วมมือจากต่างประเทศ (การส่งผู้ร้ายข้ามแดน)


[1][Online], available URL: http://www.polsci.chula.ac.th/sumonthip/crime-cj.htm
[2]กิตติพงษ์ กิตยารักษ์, “ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์:หลักการและแนวคิด,” ใน กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: ทางเลือกใหม่สำหรับกระบวนการยุติธรรมไทย (กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2545), หน้า 15-16.
[3][Online], available URL: http://www.correct.go.th/journal/j2/new4.html
[4]เรวัต ฉ่ำเฉลิม, “ชะลอการฟ้อง,” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2522), หน้า 20.
[5]ประเทือง กีร์ติบุตร, “การชะลอการฟ้อง,” บทบัณฑิตย์ 1, 34 (มกราคม 2520): 56-58.
[6][Online], available URL: http://www.bloggang.com/viewblog.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น