วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2553

เอกสารชุดที่ 6

วิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 6
อาจารย์เมธาพร กาญจนเตชะ
สำนักงานศาลยุติธรรม
สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นองค์กรอิสระที่ดูแลงานธุรการของศาลยุติธรรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอิสระในการบริหารงานบุคคลการงบประมาณและการดำเนินการอื่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา การแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
ประวัติสำนักงานศาลยุติธรรม
นับจากวันที่ 20 สิงหาคม 2543 ศาลยุติธรรมที่เคยสังกัดอยู่กับกระทรวงยุติธรรมมากว่า 108 ปี ได้แยกออกเป็นองค์กรอิสระ โดยมีหน่วยงานธุรการที่เรียกว่า สำนักงานศาลยุติธรรม และมี เลขาธิการ สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นการปฏิรูปการ ศาลยุติธรรมครั้งสำคัญ นับเนื่องจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5ทรงปฏิรูป การศาลในรัชสมัยของพระองค์แล้ว ทั้งนี้ด้วยเจตนารมณ์เพื่อให้ศาลยุติธรรมมีความเป็นอิสระอย่าง แท้จริง ให้สามารถดุลและคานกับอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหารได้อย่างเหมาะสม แต่เดิมนั้น แม้ว่าอำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีภายใต้พระปรมาภิไธย มีความเป็นอิสระ แต่การที่งานธุรการของศาลอยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นองค์กรของฝ่ายบริหาร อาจทำให้ความเป็น อิสระของผู้พิพากษาถูกบั่นทอนไปได้ ทั้งนี้ ด้วยตามระบบการศาลยุติธรรมเดิม รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงยุติธรรมมีอำนาจที่ จะสั่งให้ผู้พิพากษาที่มีตำแหน่งต่ำกว่าประธานศาลฎีกาไปช่วยราชการที่ ศาลอื่นในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิมได้ นอกจากนี้ยังมีอำนาจเสนอบัญชีรายชื่อการพิจารณา ความดีความชอบ และการแต่งตั้ง โยกย้ายผู้พิพากษา อันทำให้เสถียรภาพ ของผู้พิพากษาสั่นคอน เนื่องจากหวั่นเกรงว่าอาจถูกกระทรวงยุติธรรมแทรกแซงไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งนี้ตราบใดที่ศาลยังสังกัดอยู่ในกระทรวงยุติธรรม รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงได้แยกอำนาจตุลาการออกจาก อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหารอย่างเบ็ดเสร็จด้วยการให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยงานธุรการเป็นอิสระ ที่เรียกว่า สำนักงานศาลยุติธรรม
ประโยชน์ที่บังเกิดขึ้นจากการแยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรมมาเป็นสถาบันอิสระ สามารถจำแนก ได้หลายประการ กล่าวคือ
1) ประชาชนได้ความเชื่อมั่นว่าอำนาจตุลาการมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ทั้งอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี และอิสระในการบริหารงานธุรการของตนเอง สามารถ เป็นหลักประกันความ เที่ยงธรรมของสังคม และความยุติธรรมที่ประชาชนจะได้รับแม้ในกรณีที่ ประชาชนมีคดีพิพาทกับฝ่ายบริหารก็ตาม
2) ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ในการรับบริการจากศาล เนื่องจากศาลยุติธรรมมีอิสระในการบริหาร งานบุคคล การงบประมาณและการดำเนินการอื่นๆ ทำให้สามารถพัฒนา องค์กรให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดีและแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานที่เดิมเคยมีให้ลุล่วงไปได้ รวมทั้งส่งเสริมให้งานพิจารณาพิพากษาของศาล เป็นไปได้ด้วยความสะดวกรวดเร็ว คล่องตัว และสามารถอำนวยความยุติธรรม ให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3) ประชาชนได้มีโอกาสตรวจสอบข้าราชการ ตุลาการมากขึ้น เกิดความมั่นใจ ในความโปร่งใสของศาลยุติธรรม ด้วยการเพิ่มกลไกการตรวจสอบของประชาชนอันได้แก่การกำหนดให้ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งมีบทบาทในการคุ้มครองและให้ ความเป็นธรรมแก่ผู้พิพากษา และเดิมประกอบด้วยกรรมการที่เป็น ข้าราชการตุลาการทั้งหมด มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการเลือกสรร จากกระบวนการทางวุฒิสภาให้เข้ามามีส่วนสำคัญในการบริหารราชการ ศาลยุติธรรม และเช่นเดียวกันในองค์กรการบริหารศาลยุติธรรมอื่นๆ เช่น คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ที่เรียกว่า ก.บ.ศ. หรือ คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ที่เรียกว่า ก.ศ. ประกอบด้วย กรรมการส่วนหนึ่ง ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการ งบประมาณ ด้านการพัฒนาองค์กร หรือด้าน การบริหารจัดการ ที่ไม่ เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตุลาการหรือข้าราชการศาลยุติธรรมมาก่อน รวมอยู่ด้วย อันทำให้ระบบการบริหารของศาลยุติธรรมเป็นระบบเปิด โปร่งใส พร้อมต่อการตรวจสอบ และมีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชนมากยิ่งขึ้น
4) ประชาชนได้ระบบการศาลยุติธรรมที่เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศดี ยิ่งขึ้นอันจะสนับสนุนส่งเสริมให้ ระบบเศรษฐกิจเข้มแข็งและทำให้ชาวต่างประเทศที่คิดจะลงทุน หรือทำการ ค้าในประเทศไทย เกิดความมั่นใจว่าประเทศเรามีสถาบันตุลาการเป็นอิสระ และมีเสถียรภาพ ไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น