วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2553

เอกสารประกอบการสอน ชุดที่ 5

เอกสารประกอบวิชาระบบความยุติธรรมทางอาญาชุดที่ 5
อาจารย์เมธาพร กาญจนเตชะ
บทบาทของพนักงานอัยการ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เกี่ยวกับบทบาทและอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการกับการสอบสวนคดีอาญา ซึ่งมีลักษณะในการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งการเริ่มต้นให้พนักงานอัยการเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหามากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เดิม ซึ่งจะขอกล่าวรายละเอียดเป็นข้อๆ ดังนี้
1. การมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมก่อนมีความเห็นหรือคำสั่งคดี
เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเห็นว่าการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และมีความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องตามมาตรา 140 มาตรา 141 หรือมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ส่งไปพร้อมกับสำนวนยังพนักงานอัยการแล้ว พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติมได้อีก การจะสอบสวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 และในกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา แล้วส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมคำสั่งเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อทำความเห็นแย้งตามมาตรา 145 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่มีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีดังกล่าวสอบสวนเพิ่มเติมได้อีกเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนมีความคิดเห็นหรือคำสั่งในคดี ให้พนักงานอัยการพิจารณาพยานหลักฐานในคดีให้ได้ความแน่ชัดเสียก่อน ว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดหรือไม่ หากไม่แน่ชัดก็สั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้ส่งพยานมาซักถามตามรูปคดี แม้ในคดีที่แม้จะมีคำรับสารภาพองผู้ต้องหาอยู่แล้วก็ตาม ก็ควรพิจารณาพยานหลักฐานให้แน่ชัดเสียก่อนด้วย นอกจากนี้หากมีการร้องขอความเป็นธรรม เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควร หรือผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องในคดีร้องขอ พนักงานอัยการอาจสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้ส่งพยานมาเพื่อซักถามเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคดีก็ได้ โดยคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม ให้พนักงานอัยการทำความเห็นเสนอสำนวนตามลำดับชั้นถึงอธิบดีเพื่อพิจารณาสั่งประการใดให้ปฏิบัติตามนั้น
เมื่อพิจารณาระเบียบดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่าบทบาทของพนักงานอัยการในส่วนนี้ เป็นบทบาทที่สำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งในคดีอาญา โดยเฉพาะการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานแห่งคดี ซึ่งพนักงานอัยการเห็นสมควรสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมก็สั่งให้พนักงานสอบสวนสอบสวนเพิ่มเติมแทนก็ได้ หรือสั่งให้พนักงานสอบสวนส่งพยานมาเพื่อสอบสวนเองก็ได้ กระบวนการนี้ถือเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาที่สำคัญที่สุด เพราะในกระบวนการใช้ดุลพินิจดังกล่าวของพนักงานอัยการ ถือว่าหากไม่มีน้ำหนักพยานจริงก็ต้องสั่งสอบสวนใหม่ หรืออาจสั่งไม่ฟ้องคดีนั้น หรือหากมีความสงสัยแม้ว่าจะมีคำรับสารภาพก็ตาม ก็สามารถสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมได้ หรือในคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม พนักงานอัยการสามารถสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้ส่งพยานมาเพื่อซักถามเองได้ โดยกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจการสอบสวนคดีอาญาที่ดีทางหนึ่ง อันกล่าวได้ว่าเป็นการรักษาความสมดุล (Balance) ระหว่างกระบวนการดำเนินคดีอาญาของรัฐในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ กับหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ให้เกิดความผิดพลาดในคดีอาญา เป็นหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาตามกฎหมายที่สำคัญเช่นกัน
2. การมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว
การปล่อยชั่วคราวเป็นมาตรการอย่างหนึ่งในคดีอาญา เป็นมาตรการผ่อนคลายการจำกัดเสรีภาพในร่างกาย หรืเสรีภาพในการเคลื่อนไหวเปลี่ยนที่ทางของผู้ต้องหาหรือจำเลย ที่ว่าการปล่อยชั่วคราวเป็นการผ่อนคลาย ก็เพราะว่าในกรณีนั้นเป็นกรณีที่มีความจำเป็นที่ต้องเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ เพราะหากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐแล้ว กรณีก็ต้องปล่อยตัวผู้นั้นไปเลยที่เดียว ทั้งนี้ การควบคุมตัวในระหว่างคดีนั้นถือเป็นเรื่องของข้อยกเว้น กล่าวคือ โดยหลักแล้วจะไม่ต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ในอำนาจรัฐ เว้นแต่มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวในกรณีที่มีความจำเป็น ที่จะต้องมีการควบคุมตัวไว้ในระหว่างคดี อาจมีการพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกัน ซึ่งสามารถพิจารณาได้ดังนี้
การปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน หมายถึง การปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีสัญญาประกันไว้ให้กับเจ้าพนักงาน หรือศาลเลย ผู้ต้องหาหรือจำเลยเพียงสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะมาตามนัดหรือหมายเรียก ขณะที่ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน หมายถึง การปล่อยชั่วคราวโดยผู้ต้องหาหรือจำเลยเองหรือบุคคลอื่น เข้าทำสัญญาประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล ว่าจะมาหรือจะนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย มาส่งตามวันเวลาที่เจ้าพนักงานหรือศาลนัดหรือหมายเรียกมา โดยกฎหมายบัญญัติไว้ว่าเมื่อจะปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก่อนปล่อยไปให้ผู้ประกันหรือผู้เป็นหลักประกันลงลายมือชื่อในสัญญาประกันนั้น
ในสัญญาประกันนอกจากข้อความอื่นอันพึงมี ต้องมีข้อความดังนี้ด้วย
1) ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวหรือผู้ประกัน แล้วแต่ก็กรณี จะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของเจ้าพนักงานหรือศาล ซึ่งให้ปล่อยชั่วคราว


2) เมื่อความสัญญาจะใช้เงินจำนวนที่ระบุไว้
ในสัญญาประกันจะกำหนดภาระหน้าที่หรือเงื่อนไข ให้ผู้ถูกปล่อยชั่งคราว หรือผู้ประกันปฏิบัติเกินความจำเป็นแก่กรณีมิได้
ส่วนปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกัน หมายถึง การปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไปชั่วคราว โดยมีสัญญาประกันพร้อมด้วยหลักประกันอย่างใดอย่างหนึ่งคือมีเงินสดมาวาง มีหลักทรัพย์อื่นมาวาง หรือมีบุคคลอื่นมาเป็นหลักทรัพย์มาวาง หรือมีบุคคลอื่นมาเป็นประกัน โดยแสดงหลักทรัพย์
สำหรับการปล่อยชั่วคราว ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 กำหนดหลักการในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไว้ว่า การกระทำของรัฐที่เป็นการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาตัวบุคคลมาไว้ในอำนาจรัฐ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น เหตุนี้การคุมขังผู้ต้องหา หรือจำเลย ตามปกติจักต้องพิจารณาว่าเป็นกรณีที่น่าเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไม่ด้วย ฉะนั้น หากกรณีคดีมีหลักฐานตามสมควรว่าการกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นความผิดร้ายแรง หรือเป็นที่น่าเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือเป็นที่น่าเชื่อถือว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยินกับพยานหลักฐาน หรือกรณีคดีมีหลักฐานตามสมควรว่า การกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นความผิด และมีเหตุอื่นที่จำเป็นและสมควร ก็จะเป็นกรณีที่จะต้องนำเหตุดังกล่าวมาพิจารณาว่า จำเป็นต้องคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลย เพื่อดำเนินคดีต่อไปหรือไม่ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้การพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาพนักงานอัยการต้องพิจารณาถึงความจำเป็น ในการเอาตัวบุคคลนั้นไว้ในอำนาจรัฐโดยชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ของรัฐ ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและสิทธิเสรีภาพของบุคคลจะถูกกระทบเกินความจำเป็นหรือเกินสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นว่าพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไม่มีเหตุอื่นที่จำเป็นและสมควรแล้ว พนักงานอัยการต้องปล่อยตัวบุคคลหรืออนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตามคำร้องขอเสมอ
อย่างไรก็ตาม แม้ในข้อกฎหมายหรือระเบียบจะกล่าวไว้เช่นนี้แต่ในทางปฏิบัติต้องยอมรับว่า การคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยกลายเป็นเรื่องหลัก แต่ปล่อยชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น ดังนั้น การพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราว พนักงานอัยการจะต้องพิจารณาถึงหลัก และข้อยกเว้นให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน โดยเฉพาะเมื่อได้ทำความเข้าใจหลักการดังกล่าวแล้ว ในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา พนักงานอัยการต้องพิจารณาโดยไม่ชักช้า โดยหัวหน้าพนักงานอัยการเป็นผู้สั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยจะต้องบันทึกเหตุผลในการสั่งไว้ให้ชัดเจน ในกรณีสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว พนักงานอัยการต้องแจ้งผลการพิจารณา พร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราวทราบโดยเร็ว
3. ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรม
ในการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ ที่พนักงานอัยการจะเป็นผู้รับสำนวนการสอบสวนพร้อมผู้ต้องหา เพื่อยื่นฟ้องคดีความนั้นๆ ต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ซึ่งในระหว่างที่รับสำนวนการสอบสวน ผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีอาญาอาจยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในกรณีต่างๆ เกี่ยวกับคดี พนักงานอัยการจึงมีหน้าที่ในการใช้ดุลพินิจสั่งคดีกรณีร้องขอความเป็นธรรมด้วย ซึ่งการใช้ดุลพินิจสั่งคดีดั่งกล่าว ถือเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลอีกกรณีหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควร หรือผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องในคดีร้องขอ พนักงานอัยการอาจสั่งให้พนักงานสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้ส่งพยานมาเพื่อซักถามเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคดีก็ได้
ในคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม ให้พนักงานอัยการทำความเห็นเสนอสำนวนตามลำดับชั้นถึงอธิบดีเพื่อพิจารณาสั่ง เมื่ออธิบดีมีคำสั่งประการใดก็ให้ปฏิบัติตามนั้น
กล่าวโดยสรุป ภาระหน้าที่พนักงานอัยการในการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในฐานะองค์กรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา นับเป็นหน้าที่ที่ทีความสำคัญยิ่ง ที่พนักงานอัยการจะต้องเป็นกลไกการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาในด้านต่างๆ ให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ ในขณะที่งานด้านการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในด้านอื่นๆ ของพนักงานอัยการก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน รวมทั้งภาระหน้าที่ของพนักงานอัยการที่อาจจะต้องมีภารกิจสำคัญเพิ่มขึ้น ในฐานะองค์กรหรือหน่วยงานที่จะต้องรับผิดชอบในการสอบสวนคดีอาญา หรือโดยร่วมกับองค์กรอื่นในอนาคต
4. การใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดี
พนักงานอัยการสามารถใช้ดุลพินิจในการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีได้ ซึ่งขึ้นอยู่สภาวการณ์และเงื่อนไขต่างๆ สำหรับเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องในการสั่งไม่ฟ้องในคดีในชั้นการพิจารณาของพนักงานอัยการนั้น พนักงานอัยการชอบที่จะเป็นไปตามลำดับ ดังนี้
1) พิจารณาเงื่อนไขให้อำนาจดำเนินคดีหรือเงื่อนไขระงับคดี ซึ่งพนักงานอัยการจะต้องกระทำ ก่อนที่จะพิจารณาในเนื้อหาคดีในขั้นต่อไป ถ้ากรณีมีเงื่อนไขระงับคดีพนักงานอัยการก็จะต้องสั่งระงับการดำเนินคดีหรือยุติการดำเนินคดีเพราะเหตุนั้น

2) เมื่อพนักงานอัยการพิจารณาแล้วว่ากรณีไม่มีเงื่อนไขระงับคดีพนักงานอัยการก็จะต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า การกระทำที่กล่าวหานั้นเป็นความผิดต่อกฎหมายหรือไม่ ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำที่กล่าวหา ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมาย พนักงานอัยการก็ต้องสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา
3) พนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำที่กล่าวหานั้น เป็นความผิดต่อกฎหมาย พนักงานอัยการก็ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำผิดหรือไม่ ถ้าผู้ต้องหามิได้เป็นผู้กระทำผิด พนักงานอัยการก็ต้องสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหานั้น
4) ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำที่กล่าวหา เป็นความผิดต่อกฎหมายและเห็นว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิด พนักงานอัยการก็ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าพยานหลักฐานเพียงพอ แก่การพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาหรือไม่ ถ้าเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ พนักงานอัยการก็ต้องสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา
5) แม้ว่าการกระทำที่กล่าวหาเป็นความผิดต่อกฎหมาย ผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดและมีพยานหลักฐานเพียงพอ พนักงานอัยการก็ชอบที่จะพิจารณาต่อไปเป็นลำดับสุดท้ายอีกว่า มีเหตุอันควรที่จะไม่ฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่ ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่ามีเหตุอันควรไม่ฟ้องผู้ต้องหา พนักงานอัยการก็ต้องสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหานั้น
จากกระบวนการหรือขั้นตอนในการสั่งคดีของพนักงานอัยการข้างต้น จะเห็นได้ว่าการใช้ดุลพินิจในการไม่ฟ้องคดี เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการ และโดยที่หลักการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ คือ หลักการดำเนินคดีอาญาตามดุลพินิจ ฉะนั้น ในการสั่งคดีพนักงานอัยการจะต้องพิจารณาในเรื่องดุลพินิจนี้ด้วยเสมอ กล่าวคือหากพนักงานอัยการเห็นว่ามีเหตุตามดุลพินิจ หรือพิจารณาถึงหลักการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา ที่จะไม่ควรถูกดำเนินคดีในชั้นศาล ก็พิจารณาไม่ฟ้องคดีนั้นได้ แต่ดุลพินิจในการสั่งฟ้องคดีจะต้องมีขอบเขตเช่นกัน เพราะดุลพินิจไม่มีขอบเขตย่อมไม่ใช่ดุลพินิจแต่เป็นอำเภอใจ ซึ่งโดยปกติแล้วการสั่งคดีนั้นย่อมถือหลักว่าผู้กระทำได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหรือไม่ ถ้ากระทำผิดต่อกฎหมายก็สั่งดำเนินคดีฟ้องร้องไป แต่ในบางกรณีพนักงานอัยการอาจสั่งไม่ฟ้องคดีที่มีผู้กระทำผิดต่อกฎหมายก็ได้เพราะไม่มีกฎหมายห้าม แต่ต้องมีเหตุอันสมควรที่พนักงานอัยการจะสั่งไม่ฟ้องในกรณีเช่นนั้น ไปพร้อมๆ กันเลย โดยเหตุผลว่าอาจเกิดความขัดแย้งกันในการปฏิบัติหน้าที่ และปัญหาการประสานงานกัน ระหว่างหน่วยงานทั้งสองหน่วยงาน เพียงแต่ตราเป็นข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย กำหนดให้ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มีอำนาจหน้าที่สอบสวนคดีอาญา หรือให้ฝ่ายปกครองตรวจสอบถ่วงดุลเท่านั้น
5. การคุ้มครองสิทธิในกรณีผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี
กรณีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี นั้น การสอบสวนคดี ดังกล่าวประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาได้กำหนดมาตรการและแนวทางในการคุ้มครองสิทธิของเด็กไว้ โดยกฎหมายได้กำหนดให้บุคคลต่อไปนี้เข้าร่วมสอบสวนด้วย คือ
1) พนักงานสอบสวน
2) พนักงานอัยการ
3) นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์
4) บุคคลที่เด็กร้องขอ
5) ทนายความ
การสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี นั้น กฎหมายมีความประสงค์ที่จะให้พนักงานอัยการเข้าคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการคุ้มครองเด็กและเป็นการตรวจสอบอำนาจรัฐไปด้วยในตัว
หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาเกี่ยวกับการสอบสวนในคดีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี นั้น มีดังนี้
1) ผู้ต้องหาต้องอายุไม่เกิน 18 ปี ในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ไม่ใช่วันกระทำความผิด
2) กรณีถืออายุผู้ต้องหาไม่เกิน 18 ปี เป็นหลัก มิได้ถือเอาอัตราโทษเป็นหลัก ดังนั้นถ้าผู้ต้องหาอายุไม่เกิน 18 ปีแล้ว พนักงานอัยการต้องเข้าร่วมคุ้มครองสิทธิโดยร่วมทำการสอบสวนกับพนักงานสอบสวน
3) การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ให้นำบทบัญญัติมาตรา 133 ทวิ และมาตรา 133 ตรี ว่าด้วยการสอบสวนผู้เสียหายหรือพยานอายุไม่เกิน 18 ปีมาใช้บังคับโดยอนุโลม
4) ในการถามปากคำผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เพื่อที่จะได้ใช้คำถามที่เหมาะสม
จากการที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดให้พนักงานอัยการเข้าร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนกรณีของผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ถือเป็นการเริ่มต้นที่ให้พนักงานอัยการเข้าคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาเพื่อให้ผู้ต้องหาได้รับการสอบสวนที่รวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปีพุทธศักราช 2550 มาตรา 40




6. กรณีร่วมชันสูตรพลิกศพ
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคสาม ได้บัญญัติให้พนักงานอัยการเข้าร่วมชันสูตรพลิกศพในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้น โดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ความตายที่เกิดขึ้นจากทั้ง 2 กรณีดังกล่าวนี้ พนักงานอัยการต้องเข้าร่วมกับแพทย์ พนักงานสอบสวน และพนักงานฝ่ายปกครอง ทำการชันสูตรพลิกศพที่เกิดจากการตายทั้ง 2 ประเภทตามที่ได้กล่าวมาแล้ว กฎหมายมาตรานี้ได้แก้ไขใหม่เพื่อที่จะให้ตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวน ทั้งกฎหมายยังได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการในการร้องขอต่อศาลเพื่อทำการไต่สวนถึงเหตุแห่งการตายโดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้
1) ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ ร่วมชันสูตรพลิกศพกับพนักงานสอบสวนและแพทย์
2) ให้พนักงานสอบสวนทำการชันสูตรพลิกศพ ในกรณีที่จะต้องร้องขอให้ศาลไต่สวนการตาย เพื่อส่งให้พนักงานอัยการ ภายในเวลาสามสิบวัน นับแต่วันได้ทราบเรื่อง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนการชันสูตรพลิกศพ
3) เมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนการตาย ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวน ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ
4) ให้ศาลปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่จะทำการไต่สวนไว้ที่ศาลและให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลส่งสำเนาคำร้องและแจ้งกำหนดวันนัดไต่สวนให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือญาติของผู้ตายตามลำดับ อย่างน้อยหนึ่งคนเท่าที่สามารถทำได้ก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
5) ให้พนักงานอัยการนำพยานหลักฐานทั้งปวงที่แสดงถึงการตายมาสืบ
6) ก่อนการไต่สวนเสร็จสิ้น สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล ขอเข้ามาซักถามพยานที่พนักงานอัยการนำสืบ และนำสืบพยานอื่นได้ด้วยเพื่อการนี้ บุคคลดังกล่าวมีสิทธิแต่งตั้งทนายความดำเนินการแทนได้ หากไม่มีทนายความที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาในคดีกฎหมายให้ศาลแต่งตั้งทนายความขึ้นเพื่อทำหน้าที่ทนายความฝ่ายญาติผู้ตาย
7) เมื่อศาลเห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะเรียกพยานที่นำสืบมาแล้วมาสืบเพิ่มเติม หรือเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบก็ได้และศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการไต่สวนหรือทำคำสั่ง
8) ญาติของผู้ตายที่นำสืบพยานตามข้อ 6) มีสิทธิให้ศาลเรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญอื่นมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลเรียกได้
9) เมื่อไต่สวนเป็นที่พอใจแล้ว ศาลจะมีคำสั่งว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และเหตุแห่งการตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครทำร้าย และวินิจฉัยว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามกฎหมายหรือไม่ แต่จะไม่สั่งว่าการกระทำให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่ เพราะไม่ใช่การวินิจฉัยคำฟ้องทางอาญา
10) คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุดแต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิฟ้องร้อง และการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล หากพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้องหรือจะฟ้องเกี่ยวกับการตายนั้น
11) เมื่อศาลมีคำสั่งแล้ว ให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการ เพื่อส่งให้แก่พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น