วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2553

กระบวนความยุติธรรมทางอาญา

วิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 2

อาจารย์เมธาพร กาญจนเตชะ

การค้นหาความจริงในคดีอาญา

การค้นหาความจริงในคดีอาญา โดยทั่วไปจะมีหลักการค้นหาความจริงอยู่ 2 ระบบ คือ ระบบไต่สวน กับ ระบบกล่าวหา ซึ่งศาลของประเทศต่างๆ ย่อมดำเนินตามกฎหมายในการค้นหาความจริงจากพยานหลักฐานตามระบบที่ประเทศของตนใช้อยู่[1] และย่อมจะแตกต่างกันไป สุดแล้วแต่จะเห็นว่าระบบใดมีความเหมาะสมเพื่อดำเนินไปสู่เป้าหมายได้ดีที่สุด

1. ระบบไต่สวน (Inquisitorial System)

การค้นหาความจริงในระบบนี้เป็นของระบบที่ใช้อยู่ในกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรปซึ่งเป็นระบบซีวิลลอว์ เป็นการพิจารณาคดีที่ไม่ใช่ลักษณะของการต่อสู้ระหว่างคู่ความในคดี แต่เป็นระบบที่ใช้วิธีซักฟอกหาข้อเท็จจริงในคดีที่เกิดขึ้น องค์กรทุกฝ่ายในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะมีการร่วมมือกันในการค้นหาข้อเท็จจริงอย่างจริงจัง ศาลหรือผู้พิพากษาจะเป็นผู้รับผิดชอบในการค้นหาข้อเท็จจริงจากการสืบพยานหลักฐาน และข้อเท็จจริงของการกระทำผิด โดยไม่ปล่อยให้เป็นบทบาทหน้าที่ของพนักงานอัยการและทนายจำเลยเท่านั้น ศาลจะเป็นผู้ดำเนินการค้นหาข้อเท็จจริง ด้วยตนเอง กำหนดประเด็นในคดีในฐานะเป็นผู้ดำเนินการพิจารณาสืบพยาน เป็นผู้ควบคุมการดำเนินคดีทุกขั้นตอนและอยู่ในฐานะที่สามารถให้ความคุ้มครองแก่สิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาได้โดยตรง ไม่มีบทกฎหมายวางระเบียบการสืบพยาน หรือไม่มีบทตัดพยาน (Exclusionary Rule) โดยเคร่งครัดว่าพยานประเภทนี้รับฟังได้หรือไม่ได้ ดังนั้น ศาลมักจะรับพยานหลักฐานทุกชิ้นเข้าสู่สำนวนความ และจะไปพิจารณาละเอียดตอนชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าพยานชิ้นใดควรมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ศาลจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจได้กว้างขวางและ ยืดหยุ่นได้มาก

เนื่องจากระบบนี้ บทบาทสำคัญในการดำเนินกระบวนการพิจารณาค้นหาความจริง คือ ผู้พิพากษาหรือศาลเท่านั้น ดังนั้นระบบนี้จะได้ผลหรือค้นหาความจริงได้ถูกต้องก็ต่อเมื่อ ผู้พิพากษานั้นกระทำการไต่สวนด้วยความระมัดระวัง ไม่ลำเอียง ต้องดำรงตนในฐานที่ไม่เป็นปฏิปักษ์และเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งลักษณะเช่นนี้ได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นทฤษฎีบริสุทธิ์หรืออุดมคติผลจะเป็นจริงเป็นไปได้ยาก เพราะผู้ไต่สวนมักไม่สามารถหลีกเลี่ยงอคติจากการแสวงหาความจริงได้

2. ระบบกล่าวหา (Adversary System)

การค้นหาความจริงในระบบนี้เป็นของระบบคอมมอนลอว์ที่ใช้อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ การดำเนินคดีในระบบนี้อยู่ภายใต้แนวความคิดที่ว่าการดำเนินคดีเป็นการต่อสู้ของบุคคล 2 ฝ่าย จึงมีรูปแบบการดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นการต่อสู้ระหว่างคู่ความทำนองเดียวกับคดีแพ่ง การพิจารณาคดีอาญาในระบบนี้ประกอบด้วยองค์กร 3 ฝ่ายได้แก่

1) ศาล (Trail Judge) ซึ่งจะเป็นผู้รักษากฎเกณฑ์ในการพิจารณาคดีเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างประโยชน์ของรัฐและสิทธิเสรีภาพของเอกชน

2) พนักงานอัยการ (Prosecution)

3) ทนายจำเลย (Defense Attorney)

ระบบการพิจารณาคดีมีรากฐานมาจากการดำเนินคดีโดยประชาชน (Popular Prosecution) เป็นกรณีที่เอกชนคนหนึ่งฟ้องเอกชนอีกคนหนึ่งที่มีฐานะเท่าเทียมกัน มีลักษณะการต่อสู้กันระหว่างโจทก์ จำเลย ส่วนศาลวางตนเป็นกลาง วางเฉย ทำให้โจทก์ผู้ฟ้องคดีต่อศาลมีหน้าที่นำสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด จึงเป็นการต่อสู้คดีอย่างเคร่งครัดและใช้วิธีการค้นหาความจริงโดยการถามค้านเป็นหลัก และศาลจะตัดสินไปตามพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบ ศาลแทบไม่มีหน้าที่ถามพยานบุคคลที่อยู่ต่อหน้าจำเลยคือจะถามเฉพาะเมื่อคำตอบของพยานที่ตอบโจทก์หรือจำเลยไม่เป็นที่ชัดแจ้งหรือไม่เป็นที่เข้าใจ ศาลจะไม่ถามเพื่อค้นหาความจริงจากพยานบุคคลที่มาให้การอยู่ต่อหน้าศาล เพียงแต่จะควบคุมการนำเสนอพยานหลักฐานของคู่ความ ตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับพยานหลักฐานการนำเสนอพยานหลักฐานในคดี จะถือว่าคู่ความทราบอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากมีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว มีการสืบพยานที่เคร่งครัดมาก มีบทตัดพยานที่เด็ดขาด ศาลจะไม่แสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม เหตุผลก็เนื่องจากความจำเป็นของกติกาในการต่อสู้ระหว่างคู่ความมิให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันและในประเทศระบบคอมมอนลอว์ใช้ระบบการพิจารณาคดีที่มีลูกขุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดามาเป็นผู้ชี้ขาดข้อเท็จจริง ดังนั้น การค้นหาความจริงตามระบบคอมมอนลอว์จึงปล่อยให้คู่กรณีนำพยานหลักฐานมาสืบกันเอง เมื่อถึงขั้นสุดท้ายผู้พิพากษาเป็นผู้ตัดสินให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะคดี ตามพยานหลักฐานที่มีการนำมาพิสูจน์ได้

ข้อแตกต่างของระบบไต่สวนและระบบกล่าวหา

1. ระบบไต่สวน

ระบบนี้ศาลยุติธรรมสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสืบสวนโดยถือว่าเป็นเจ้าพนักงานสืบสวนคนหนึ่ง ศาลมีสิทธิที่จะถามปัญหาข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด เช่น ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานชิ้นไหนควรสืบเพิ่มศาลสามารถที่จะสืบได้โดยที่คู่ความไม่ต้องร้องขอ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคู่ความที่มีความไม่เท่าเทียมกันในการต่อสู้คดี เช่น ไม่มีความรู้เพียงพอ หรือมีฐานะยากจนที่ไม่สามารถว่าจ้างทนายความที่มีความสามารถในการต่อสู้คดี เป็นต้น และในขณะเดียวกันก็มีอำนาจที่จะตัดสินคดีด้วย จะเห็นได้ว่าในระบบนี้ศาลสามารถที่จะเข้าไปอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้สูง แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังสำหรับระบบไต่สวนนี้ คือ ถ้าศาลไม่กระทำการไต่สวนด้วยความระมัดระวัง หรือมีความลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคระหว่าง คู่ความได้

2. ระบบกล่าวหา

ระบบนี้ศาลจะวางตนอย่างเป็นกลาง โดยเปิดโอกาสให้คู่ความต่อสู้คดีอย่างเท่าเทียมกัน ศาลจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการต่อสู้คดีระหว่างคู่ความ ถ้ามองเผินๆจะเห็นได้ว่าระบบนี้เป็นการให้คู่ความต่อสู้คดีอย่างเสมอภาคกัน แต่ในความจริงที่ว่าคู่ความมีความต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฐานะ ความรู้ การวางตนเป็นกลางของศาลอาจก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคในการต่อสู้คดีได้ เนื่องจากข้อเท็จจริงบางประการคู่ความที่มีความรู้น้อยกว่า หรือฐานะยากจน ไม่สามารถที่นำพยานหลักฐานที่สำคัญชิ้นนั้นมาเสนอต่อศาลได้ การวางตนเป็นกลางของศาลจึงอาจทำให้คู่ความที่ด้อยกว่าในเรื่องความรู้ และฐานะทางการเงินไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง



[1] ชวเลิศ โสภณวัต, “กฎหมายลักษณะพยานของไทยเป็นกฎหมายในระบบกล่าวหาจริงหรือ”, ดุลพาห ปีที่ 28 เล่ม 6 , 2524, หน้า 36.

1 ความคิดเห็น: