วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

เอกสารการสอนชุดที่ 1

วิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 1
อ.เมธาพร กาญจนเตชะ
การดำเนินคดีอาญา
1. การดำเนินคดีอาญาตามแนวความคิดสากล
การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอาญา มีแนวปฏิบัติตามมาตรฐานสากล คือ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญา คือ
บุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมายอย่างเป็นธรรมและเปิดเผยในศาลซึ่งเป็นอิสระและไร้อคติ และการพิจารณาคดีอาญาบุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันขั้นต่ำอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันในเรื่องต่างๆ เช่น มีสิทธิที่จะมีเวลาและได้รับความสะดวกเพียงพอในการสู้คดี สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยปราศจากการชักช้าอย่างไม่เป็นธรรม สิทธิที่จะอุทธรณ์การลงโทษ และคำพิพากษาต่อศาลสูงให้พิจารณาทบทวนอีกครั้งตามกฎหมาย เป็นต้น
2. การดำเนินคดีอาญาตามหลักผู้ที่เข้ามาดำเนินคดี
2.1 หลักการดำเนินคดีอาญาโดยผู้เสียหาย
เป็นเรื่องของผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือบุคคลที่ใกล้ชิดของผู้เสียหายกระทำการดำเนินคดีเอง[1] เป็นในรูปของการแก้แค้นเป็นการส่วนตัวหรือทำสงครามระหว่างกลุ่มชนที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐทำหน้าที่เป็นคนกลางตัดสินความถูกผิด รวมถึงการบังคับให้ผู้กระทำความผิดรับผิดตามข้อเรียกร้องของผู้เสียหาย ด้วยเหตุนี้หลักการดำเนินคดีจึงคำนึงเฉพาะส่วนได้เสียบุคคลเป็นหลัก ไม่มีส่วนได้เสียของสังคมเข้าไปเกี่ยวข้อง[2]
2.2 หลักการดำเนินคดีอาญาโดยประชาชน
การดำเนินคดีอาญาโดยประชาชน (Popular Prosecution) เป็นระบบการดำเนินคดีที่ถือว่าประชาชนทุกคนเป็นหน่วยหนึ่งของรัฐหรือสังคม ถ้ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น ประชาชนทุกคนมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ด้วยและถือว่ามีหน้าที่ในการฟ้องร้องและดำเนินคดีอาญาเป็นของประชาชน จึงทำให้ประชาชนทุกคนเป็นผู้เสียหาย[3] แนวความคิดเช่นนี้ปรากฏขึ้นอย่าง ชัดเจนในระบบกฎหมายโรมัน โดยจำแนกความผิดระหว่างการกระทำผิดต่อส่วนตัว (Delit Private) กับการกระทำความผิดอาญาแผ่นดิน (Delit Public) ออกจากกันและจากการจำแนกการกระทำผิดนี้เอง จึงให้เกิดการฟ้องคดีอาญาตามหลักการดำเนินคดีอาญาโดยประชาชน[4]
2.3 หลักการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ
การดำเนินคดีโดยรัฐ (Public Prosecution) เป็นหลักการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นแนวความคิดทางอรรถประโยชน์นิยม คือ การกระทำใดที่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสังคม รัฐซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมจะต้องเข้าไปดำเนินการป้องกันการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อสังคม หลักการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐมีแนวคิดพื้นฐานหรือแหล่งที่มาจากประเทศในภาคพื้นยุโรปเป็นส่วนใหญ่ โดยจะมุ่งให้ความคุ้มครองสิทธิของสมาชิกในสังคมหรืออาจเรียกว่า ประโยชน์สาธารณะ ประเทศที่ใช้หลักการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ ส่วนมากจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเรียกว่า “พนักงานอัยการ” มีสถานภาพเป็นตัวแทนของรัฐ
ดังนั้น ตามแนวคิดพื้นฐานของหลักดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ บุคคลซึ่งเสียหายไม่มีสิทธิในการเข้ามาฟ้องร้องและดำเนินคดีอาญา โดยมีประโยชน์ของรัฐหรือสังคมเหนือกว่าประโยชน์ของบุคคลรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้ใช้อำนาจในการดำเนินคดีอาญาในการรักษาความสงบเรียบร้อย
การดำเนินคดีอาญาผู้ที่เข้ามาดำเนินคดีไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด คือ ผู้เสียหาย ประชาชน หรือ รัฐก็ตาม สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องอำนวยความยุติธรรมอย่างเสมอภาคกันโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าบุคคลที่เข้ามาจะมีสถานะเช่นไร เนื่องจากบุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกันในการเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ดังนั้น ไม่สมควรให้ความสำคัญกับการดำเนินคดีอาญาในกรณีใดกรณีหนึ่ง เช่น ให้เอกสิทธิหรือให้ความสำคัญกับการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐมากกว่ากรณีที่ผู้เสียหายที่เข้ามาดำเนินคดีอาญาเอง เป็นต้น


[1] อรรถพล ใหญ่สว่าง, ผู้เสียหายในคดีอาญา, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2524), หน้า 5.
[2] อุดม รัฐอมฤต, “การฟ้องคดีอาญา”, วารสารนิติศาสตร์ ปี 22 ฉบับที่ 2, 2535, หน้า 243.
[3] คณึง ฦาไชย, กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เล่ม 1, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531), หน้า 69.
[4] อุดม รัฐอมฤต, เรื่องเดียวกัน, หน้า 243.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น