วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

เอกสารการสอนวิชากฎหมายความผิดเด็ก ชุดที่ 2 อาจารย์เมธาพร กาญจนเตชะ


เอกสารการสอนวิชากฎหมายความผิดเด็ก ชุดที่ 2
อาจารย์เมธาพร  กาญจนเตชะ
การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจต่อเด็กและเยาวชน

1. การจับกุมเด็กและเยาวชน
1.1 การจับกุมเด็ก[1]
                     โดยหลักการห้ามมิให้จับกุมเด็กซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด  เว้นแต่เด็กนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า  หรือมีหมายจับหรือคำสั่งของศาล
                การกระทำความผิดซึ่งหน้า [2] ได้แก่
1) ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำ  หรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทำผิดมาแล้วสดๆ
2) กฎหมายให้ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า  ในกรณีดังต่อไปนี้คือ  เมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับดังผู้กระทำโดยมีเสียงร้องเอะอะ  หรือเมื่อพบบุคคลหนึ่งแทบจะทันทีทันใดหลังจากการกระทำผิดในถิ่นแถวใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุและมีสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำผิดหรือมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสันนิษฐานได้ว่าได้ใช้ในการกระทำผิด  หรือมีร่องรอยพิรุธเห็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าหรือเนื้อตัวของผู้นั้น และเป็นความผิดอาญาที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                                สรุปได้ว่าการจับกุมเด็กนั้นกระทำได้  ดังนี้
1)      เด็กนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า
2)      มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล
                                นอกเหนือจาก 2 กรณีนี้และจะจับเด็กซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดไม่ได้
                1.2 การจับกุมเยาวชน[3]
                       หลักการของมาตรา 66 วรรคสอง  บัญญัติให้การจับกุมเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติถึงการจับกุมไว้ว่า[4] พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลไม่ได้  เว้นแต่
1)       เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า
2)       เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด
3)       เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 (2)  แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้
4)       เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราวตามมาตรา 117
                สำหรับการจับกุมเด็กซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด กับการจับกุมเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดที่กล่าวมาข้างต้นนั้นมีข้อแตกต่างกันที่ว่า  พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจจับกุมเยาวชนได้โดยไม่มีหมายหรือคำสั่งศาลในกรณีที่ต้องด้วยข้อยกเว้นของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (2) (3) และ(4) ด้วย  แต่การจับเด็กไม่อาจนำข้อยกเว้นดังกล่าวไปใช้ได้เพราะมาตรา 66 วรรคหนึ่ง มีความหมายชัดเจนว่า  ห้ามมิให้จับกุมเด็กซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด  เว้นแต่เด็กนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า  หรือมีหมายจับหรือคำสั่งศาล[5]

2. การแจ้งสิทธิของผู้ต้องหา[6]
                มาตรา 69 วรรคหนึ่ง  ได้กำหนดวิธีการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดและการนำตัวเด็กหรือเยาวชนผู้ถูกจับส่งพนักงานสอบสวนโดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1)       ให้เจ้าพนักงานผู้จับแจ้งแก่เด็กหรือเยาวชนนั้นว่าเขาต้องถูกจับ  และแจ้งข้อกล่าวหารวมทั้งสิทธิตามกฎหมายให้ทราบ  หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ
คำว่า “สิทธิตามกฎหมาย” หมายความถึงสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสอง  คือ ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้และถ้อยคำของผู้ผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้  และผู้ถูกจับมีสิทธิที่พบและปรึกษาที่ปรึกษากฎหมายหรือผู้ซึ่งจะเป็นที่ปรึกษากฎหมาย  ถ้าผู้ถูกจับประสงค์จะแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุมที่สามารถดำเนินการได้โดยสะดวกและไม่เป็นการขัดขวางการจับหรือการควบคุมผู้ถูกจับหรือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด  ก็ให้เจ้าพนักงานอนุญาตให้ผู้ถูกจับดำเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี  ในการนี้ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นบันทึกการจับดังกล่าวไว้ด้วย
2)       จะต้องนำตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับทันที  เพื่อให้พนักงานสอบสวนของท้องที่ดังกล่าวส่งตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบโดยเร็ว  ส่วนการส่งตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกจับของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไปยังสถานพินิจ  พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจะดำเนินต่อไปตามมาตรา 70
มาตรา 69 วรรคสอง  บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้จับกุมแจ้งการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด ดังนี้
1)       ถ้าขณะจับกุมมีบิดา มารดา ผู้ปกครองบุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย  อยู่ด้วยในขณะนั้น
1.1)      ให้เจ้าพนักงานผู้จับแจ้งเหตุแห่งการจับให้บุคคลดังกล่าวทราบ
1.2)      ในกรณีความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี เจ้าพนักงานผู้จับจะสั่งให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้นำตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่งก็ได้
2)       ถ้าในขณะนั้นไม่มีบิดา  มารดา  ผู้ปกครอง  บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย อยู่กับผู้ถูกจับ
2.1) ให้เจ้าพนักงานผู้จับแจ้งให้บุคคลดังกล่าวคนใดคนหนึ่งทราบถึงการจับกุมในโอกาสแรกเท่าที่สามารถกระทำได้
2.2) หากผู้ถูกจับประสงค์จะติดต่อสื่อสารหรือปรึกษาหารือกับบุคคลเหล่านั้นซึ่งไม่เป็นอุปสรรคต่อการจับกุม  และอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ให้เจ้าพนักงานผู้จับดำเนินการให้ตามสมควรแก่กรณีโดยไม่ชักช้า
นอกจากนี้มาตรา 69 ยังได้บัญญัติถึงหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้จับกุมแจ้งข้อหาแก่เด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดซึ่งถูกจับกุม
1)       ก่อนส่งตัวผู้ถูกจับให้พนักงานสอบสวนแห่งห้องที่ที่ถูกจับ
1.1)      เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้จับจะต้องทำบันทึกการจับกุมโดยแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบ
1.2)      ห้ามมิให้เจ้าพนักงานผู้จับกุมถามคำให้การผู้ถูกจับ
1.2.1) ถ้าขณะทำบันทึกดังกล่าวบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย อยู่ด้วยในขณะนั้น ต้องกระทำต่อหน้าบุคคลดังกล่าวและจะให้ลงลายมือชื่อเป็นพยานด้วยก็ได้
1.2.2) ถ้อยคำของเด็กหรือเยาวชนในชั้นจับกุมมิให้ศาลรับฟังเป็นพยานเพื่อพิสูจน์ความผิดของเด็กหรือเยาวชน  แต่ศาลอาจนำนำมาฟังคุณแก่เด็กหรือเยาวชนได้


3. การปล่อยชั่วคราว
ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 72 ได้กำหนดวิธีปฏิบัติที่พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติเมื่อได้รับตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกจับ  สำหรับที่เกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวได้กำหนดไว้ในมาตรา 72 วรรคสอง “ ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดมีบิดา มารดา  ผู้ปกครอง  หรือบุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย  และบุคคลหรือองค์การดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ายังสามารถปกครองดูแลเด็กหรือเยาวชนนั้นได้  พนักงานสอบสวนอาจมอบตัวเด็กหรือเยาวชนให้แก่บุคคลดังกล่าวไปปกครองดูแลและสั่งให้นำตัวเด็กหรือเยาวชนไปยังศาลภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนภายหลังถูกจับ  ในกรณีเช่นว่านี้  หากพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเด็กหรือเยาวชนจะไม่ไปศาล  พนักงานสอบสวนจะเรียกประกันจากบุคคลดังกล่าวตามควรแก่กรณีก็ได้”
                จากบทบัญญัติดังกล่าวถือเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่พนักงานสอบสวนอาจมอบตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกจับให้แก่บิดา มารดา  ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยไปปกครองดูแลและสั่งให้นำตัวเด็กหรือเยาวชนไปยังศาลภายใน 24 ชั่งโมง นับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนภายหลังถูกจับได้ในกรณีดังนี้
1)       กรณีที่เด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดมีบิดา  มารดา  ผู้ปกครอง  หรือบุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย
2)       บิดา  มารดา  ผู้ปกครอง  หรือบุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยดังกล่าวจะต้องแสดงให้เห็นว่ายังสามารถปกครองดูแลเด็กหรือเยาวชนนั้นได้
3)       ในกรณีไม่ว่าตามข้อ 1) หรือ ข้อ 2) ดังกล่าว  หากมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเด็กหรือเยาวชนจะไม่ไปศาล  พนักงานสอบสวนจะเรียกประกันจากบุคคลดังกล่าวตามสมควรแก่กรณีก็ได้

4. การผัดฟ้อง
โดยหลักเมื่อมีการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือกรณีเด็กหรือเยาวชนปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน  ให้พนักงานสอบสวนรีบดำเนินการสอบสวน  และส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวให้ทันภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกจับหรือปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน  แล้วแต่กรณี [7]
หากในกรณีที่ไม่สามารถยื่นฟ้องได้ทันภายในกำหนด 30 วัน พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการผัดฟ้อง  โดยมีหลักเกณฑ์คือ
1)       กรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกิน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 5 ปี ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม  หากเกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องเด็กหรือเยาวชนนั้นต่อศาลได้ทันภายในระยะเวลาดังกล่าว (30 วัน)  ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี  ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกิน 15 วัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองครั้ง[8]
      ดังนั้น  เมื่อรวมเวลาแล้วความผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกิน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 5 ปีไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม  พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการจะมีเวลาดำเนินการในชั้นสอบสวนและชั้นพนักงานอัยการได้สูงสุด 60 วัน
2)       ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินห้าปี  ไม่ว่าจะมีโทษปรับหรือไม่ก็ตาม  เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสองครั้งแล้ว  หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปอีก  โดยอ้างเหตุจำเป็นศาลจะอนุญาตตามคำขอนั้นได้ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการได้แสดงถึงเหตุจำเป็นและนำพยานมาเบิกประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาล  ในกรณีเช่นว่านี้  ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกิน 15 วัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองครั้ง[9]
      ดังนั้น  เมื่อรวมเวลาแล้วความผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกิน 5 ปี  ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการจะมีเวลาดำเนินการในชั้นสอบสวนและชั้นอัยการได้สูงสุด 90 วัน
      ในการพิจารณาคำร้องขอผัดฟ้อง  ถ้าเด็กหรือเยาวชนซึ่งเป็นผู้ต้องหายังไม่มีที่ปรึกษากฎหมาย  ให้ศาลแต่งตั้งให้เพื่อแถลงข้อคัดค้านหรือซักถามพยาน
                      ข้อสังเกตุ
หากพิจารณาเกี่ยวกับระยะเวลาในการควบคุมตัวผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ซึ่งบัญญัติว่า   “ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี
            ในกรณีความผิดลหุโทษจะควบคุมไว้ได้เท่าเวลาที่จะถามคำให้การและที่จะรู้ว่า เป็นใคร และที่อยู่ของเขาอยู่ที่ไหนเท่านั้น
            ในกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวน หรือ การฟ้องคดีให้นำตัวผู้ถูกจับไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนตาม มาตรา 83 เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น อันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ โดยให้พนักงานสอบสวน หรือ พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายขังผู้ต้องหานั้นไว้ ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรือ อาจเรียกพยานหลักฐาน มาเพื่อประกอบพิจารณาก็ได้
            ในกรณีความผิดอาญาที่ได้กระทำลง มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินหกเดือน หรือ ปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียวมีกำหนดไม่เกินเจ็ดวัน
            ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าหกเดือนแต่ไม่ถึงสิบปี หรือปรับเกินกว่าห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆกันได้แต่ ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวันและรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินสี่สิบแปดวัน
            ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปี ขึ้นไปจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้ง ติดๆกันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินแปดสิบสี่วัน
            ในกรณีตามวรรคหกเมื่อศาลสั่งขังครบสี่สิบแปดวันแล้ว หากพนักงานอัยการ หรือ พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอขังต่อไปอีกโดยอ้างเหตุจำเป็นศาลจะสั่งขังต่อไปได้ ก็ต่อเมื่อพนักงานอัยการหรือ พนักงานสอบสวน ได้แสดงถึงเหตุจำเป็นและนำพยานหลักฐานมาให้ศาลไต่สวน จนเป็นที่พอใจแก่ศาล”
                      สรุประยะเวลาในการผัดฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นมีระยะเวลาสูงสุด 84 วันเท่านั้น  จะเห็นได้ว่าการผัดฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นมีระยะเวลาแต่ละผัดน้อยกว่าการผัดฟ้องของเด็กและเยาวชน คือในตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาผัดฟ้องไม่เกิน 12 วันต่อผัด และรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 84 วัน  ในขณะที่ระยะเวลาผัดฟ้องเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พุทธศักราช 2553 กรณีฟ้องไม่ทัน 30 วันและผัดฟ้องต่อครั้งไม่เกิน 15 วันได้อีก  4  ครั้ง รวมระยะเวลาผัดฟ้อง  90 วัน ดังนั้นระยะเวลาควบคุมตัวตามมาตรา 78 มีระยะเวลาที่ยาวกว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

5. การสอบสวน
การกำหนดวิธีปฏิบัติในการสอบสวนเด็กหรือเยาวชน[10] ดังต่อไปนี้
1)       ให้กระทำในสถานที่ที่เหมาะสมโดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้นอันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน  ทั้งนี้โดยคำนึงถึงอายุ  เพศ  สภาวะของเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ
2)       ต้องใช้ภาษาและถ้อยคำที่ทำให้เด็กหรือเยาวชนสามารถเข้าใจได้ง่ายโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
3)       ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่สามารถสื่อสารหรือไม่เข้าใจภาษาไทย  จะต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้
                      3.1) ให้จัดหาล่ามให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                      3.2)  จัดหาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือความช่วยเหลืออื่นใดให้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
                      สำหรับในการแจ้งข้อกล่าวและการสอบปากคำหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดนั้น  พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการดังนี้[11]
1)       ต้องมีที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชนร่วมอยู่ด้วยทุกครั้ง
2)       ให้แจ้งด้วยว่าเด็กหรือเยาวชนมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้และถ้อยคำของเด็กหรือเยาวชนอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้  ทั้งนี้เมื่อคำนึงถึงอายุ  เพศ  และสภาพจิตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดแต่ละราย
ในการแจ้งข้อหาและการสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนนั้นบิดา  มารดา  ผู้ปกครอง  บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยจะเข้าร่วมรับฟังการสอบสวนดังกล่าวด้วยก็ได้[12]  ดังนั้นแม้ไม่มีบุคคลดังกล่าวอยู่ด้วยก็ไม่มีผลต่อการแจ้งข้อหาและการสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนแต่อย่างใด

6. การจัดหาที่ปรึกษากฎหมาย
การจัดที่ปรึกษากฎหมายในชั้นสอบสวนจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กหรือเยาวชนมาอยู่ต่อหน้าศาลเพื่อให้ศาลตรวจสอบการจับกุม[13] และถ้าเด็กหรือเยาวชนยังไม่มีที่ปรึกษากฎหมายให้ศาลตั้งให้
       




[1] พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง.
[2] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 80.
[3] พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 66 วรรคสอง.
[4] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78.
[5] สมชัย  ฑีฆาอุตมากร,พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์พลสยามพริ้นติ้ง,2554),หน้า 143.
[6] พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 69.
[7] พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553  มาตรา 78 วรรคหนึ่ง.
[8] พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553  มาตรา 78 วรรคสอง.
[9] พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553  มาตรา 78 วรรคสาม.
[10] พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553  มาตรา 75.
[11] พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553  มาตรา 75 วรรคสอง.
[12] พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553  มาตรา 75 วรรคสาม.
[13] พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553  มาตรา 73.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น