วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 11
อ.เมธาพร กาญจนเตชะ

ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คืออะไร ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice) เป็นกระบวนทัศน์กระบวนการยุติธรรมรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะเด่นคือเป็นทั้ง “วิธีการแบบสันติวิธี” ในการจัดการความขัดแย้งและการกระทำผิดกฎหมายที่นำสู่ “เป้าหมายเชิงสมานฉันท์” ในตัวเอง
ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนมุมมองจากเดิมที่ว่าอาชญากรรมคือการกระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ไปสู่มุมมองที่ว่าอาชญากรรมคือการกระทำที่ทำลายสัมพันธภาพระหว่างบุคคลก่อนที่จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำให้วิธีการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมภายใต้กรอบทัศนะยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มุ่งเน้น “การฟื้นฟูสัมพันธภาพระหว่างบุคคล” ด้วยการประชุมผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย คือผู้กระทำผิด เหยื่ออาชญากรรม ผู้แทนชุมชน เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงาน และอาจมีผู้สนับสนุนของคู่กรณีหรือผู้เกี่ยวข้องอื่นด้วยก็ได้ โดยให้ความสำคัญกับเหยื่ออาชญากรรมและชุมชนที่ได้รับผลกระทบเป็นศูนย์กลาง ซึ่งแตกต่างจากกระบวนทัศน์เชิงแก้แค้นทดแทน (retributive paradigm) อันเป็นกระบวนทัศน์กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักของสังคมที่ให้ความสำคัญต่อการลงโทษผู้กระทำผิดและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมขณะเดียวกันก็ละเลยเหยื่ออาชญากรรมและชุมชน
การประชุมจะช่วยให้ผู้กระทำผิดตระหนักถึงอันตรายหรือความเสียหายที่ตนได้กระทำแก่เหยื่ออาชญากรรมและชุมชนซึ่งเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางอ้อมอันนำไปสู่การชดใช้เยียวยาความเสียหายทั้งทางร่างกาย ทรัพย์สิน และความสัมพันธ์ รวมทั้งสร้างแผนความรับผิดชอบหรือสัญญาข้อตกลงที่เป็นไปได้สำหรับผู้กระทำผิดหรือสำหรับทั้งสองฝ่ายร่วมกัน
ด้วยเหตุนี้ผลลัพธ์ที่เกิดจากวิธีการเชิงสมานฉันท์จึงได้ปรับเปลี่ยนความขัดแย้งและการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทนไปสู่การสมานไมตรีระหว่างบุคคลและความสมานฉันท์ของชุมชนอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของสังคมมนุษย์
ส่วนหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการดำเนินโครงการกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในเรื่องทางอาญา ได้อธิบายความหมายคำที่เกี่ยวข้องไว้ ดังนี้
“โครงการกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” หมายถึง โครงการใดๆ ซึ่งใช้กระบวนการเชิงสมานฉันท์และมุ่งหมายที่จะให้บรรลุผลในทางสมานฉันท์
“กระบวนการเชิงสมานฉันท์” หมายถึง วิธีการใดๆ ซึ่งผู้เสียหายและผู้กระทำความผิด และในกรณีที่สมควรอาจมีบุคคลอื่นๆ หรือสมาชิกคนอื่นๆ ของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมนั้น ได้เข้ามามีส่วนร่วมกันอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากอาชญากรรม โดยทั่วไปแล้วอาจมีการช่วยเหลือโดย “ผู้ประสานงาน” กระบวนการการเชิงสมานฉันท์อาจได้แก่การไกล่เกลี่ย การประนอมข้อพิพาท การประชุมกลุ่ม และการพิพากษาโดยการประชุมล้อมวง
“ผลในทางสมานฉันท์” หมายถึง ข้อตกลงที่เป็นผลมาจากกระบวนการเชิงสมานฉันท์ ผลในทางสมานฉันท์ได้แก่การตอบสนองและโครงการ เช่น การฟื้นฟู การเยียวยา และการทำงานบริการสังคมโดยมุ่งหมายเพื่อให้ตรงกับความต้องการและความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลและความต้องการและความรับผิดชอบร่วมกันของคู่กรณีและเพื่อให้บรรลุผลในการทำให้ผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดได้กลับคืนมามีความสัมพันธ์ใหม่ที่ดีต่อกัน
“คู่กรณี” หมายถึง ผู้เสียหาย ผู้กระทำความผิด และบุคคลอื่นๆ หรือสมาชิกคนอื่นๆ ของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมซึ่งอาจมีส่วนร่วมในโครงการกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้น
“ผู้ประสานงาน” หมายถึง บุคคลซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการช่วยเหลือสนับสนุนการมีส่วนร่วมของคู่กรณีในโครงการกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยมีความยุติธรรมและเป็นกลาง
นอกจากนี้ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้แทนประเทศที่เข้าร่วมประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่างหลักการพื้นฐานว่าด้วยการดำเนินโครงการกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในคดีอาญา ซึ่งสหประชาชาติจัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2001 ณ ประเทศแคนาดา เป็นคนแรกผู้ริเริ่มใช้คำภาษาไทยว่า “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” สำหรับคำว่า “restorative justice” อธิบายเหตุผลที่ใช้คำภาษาไทยเช่นนี้ว่าเนื่องจากในขณะนั้น restorative justice เป็นแนวคิดใหม่สำหรับวงการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมและมีผู้ใช้ศัพท์ภาษาไทยหลากหลาย อาทิเช่น “ความยุติธรรมเชิงสร้างสรรค์” “การพื้นฟูความยุติธรรม” เป็นต้น แต่เนื่องจากว่าการแปลความตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษอาจจะไม่สามารถสื่อความหมายชัดเจน จึงใช้คำว่า “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” โดยคำนึงปรัชญาของแนวคิดนี้ และผลสุดท้ายที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์ในสังคม (social harmony) (กิตติพงษ์ กิตยารักษ์, 2545: 180)
“อันที่จริงยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถใช้ได้กับความขัดแย้งทุกประเภทและทุกระดับความรุนแรงเมื่อคู่กรณียินยอมและผู้ประสานงานเห็นสมควรนำเข้าสู่การประชุม อย่างไรก็ตาม ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถใช้ได้ดีกับคดีที่มีอัตราโทษไม่สูงนัก”
การก่อตัวของแนวคิดยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในไทย แนวคิดยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้รับการแนะนำเข้าสู่เวทีวิชาการด้านการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเมื่อปี พ.ศ. 2543 และมีเวทีสัมมนาทางวิชาการเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2546 จากนั้นเป็นต้นมาแนวคิดยุติธรรมเชิงจารีตซึ่งมีลักษณะคล้ายยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่มีใช้อยู่เดิมในสังคมไทยก็ได้รับการรื้อฟื้นและนำกลับมาใช้คู่ขนานในระบบงานยุติธรรมของไทยเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในฐานะกระบวนการยุติธรรมทางเลือก รวมทั้งได้มีการพัฒนาแนวคิดยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ตามรูปแบบสากลที่กำหนดไว้ในหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการดำเนินโครงการกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในเรื่องทางอาญา และนำมาใช้อย่างแพร่หลายในหน่วยงานต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ และในระยะต่อมาแนวคิดนี้ได้ขยายเข้าสู่โรงเรียน ชุมชน โรงพยาบาล และวงการอื่นๆ ที่เกิดปัญหาความขัดแย้งและต้องการทางเลือกใหม่ๆ เชิงสมานฉันท์ในการแก้ไขความขัดแย้งเหล่านั้น
รูปแบบต่างๆ ของยุติธรรมเชิงสมานฉันท์องค์การสหประชาชาติได้กำหนดรูปแบบของยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไว้ 4 รูปแบบ ดังนี้
รูปแบบแรก การไกล่เกลี่ยเหยื่อ-ผู้กระทำผิด (victim-offenders mediation หรือ VOM) วิธีการไกล่เกลี่ยเหยื่อ-ผู้กระทำผิดประกอบด้วย “การเผชิญหน้า” ระหว่างเหยื่ออาชญากรรมกับผู้กระทำผิดซึ่งพนักงานคุมประพฤติหรือนักสังคมสงเคราะห์หรืออาสาสมัครอาจทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานจัดการให้เกิดการประชุมขึ้น และมีข้อสังเกตสำคัญที่ว่าทั้งเหยื่ออาชญากรรมและผู้กระทำผิดต้องพูดคุยทำความเข้าใจกันในโลกของความเป็นจริงและบนฐานของความสมเหตุสมผลของสองฝ่ายโดยพยายามขจัดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จุดประสงค์สำคัญของการไกล่เกลี่ย คือ เพื่อสนับสนุนให้มีการเยียวยาเหยื่ออาชญากรรมโดยการจัดเวทีที่เป็นกลาง ปลอดภัย และควบคุมได้ให้เขาได้พบปะพูดคุยกับผู้กระทำผิดบนพื้นฐานของความสมัครใจ เปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้เรียนรู้ผลกระทบของอาชญากรรมที่มีต่อเหยื่ออาชญากรรม และเข้ามาแสดงความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของเขาที่กระทำไป และให้โอกาสเหยื่ออาชญากรรมและผู้กระทำผิดได้ร่วมกันพัฒนาและยอมรับแผนการเยียวยาชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมนั้น
รูปแบบที่สอง การประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชน (family and community group conference หรือ FCGC) การประชุมกลุ่มครอบครัวอาจใช้ในโรงเรียน โบสถ์ หรือกลุ่มทางสังคมอื่นๆ โดยกระบวนการนี้มีการย้ำถึงความเอาจริงเอาจังของชุมชนต่ออาชญากรรมและความเต็มใจของชุมชนที่จะยอมรับผู้กระทำผิดกลับคืนสู่ชุมชนอีกครั้ง เมื่อเขาได้รู้สึกสำนึกเสียใจต่อการกระทำผิดของตนแล้ว การประชุมกลุ่มครอบครัวใช้กระบวนการดำเนินการเช่นเดียวกับการไกล่เกลี่ยเหยื่อ-ผู้กระทำผิดแต่มีลักษณะสำคัญคือใช้กับเด็กและเยาวชนกระทำผิดจึงมีครอบครัวเข้าร่วมประชุมด้วยซึ่งทำให้สมาชิกครอบครัวได้มีโอกาสพูดคุยแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับผลกระทบที่พวกเขาได้รับจากอาชญากรรมที่เกิดขึ้น
รูปแบบที่สาม การพิจารณาแบบล้อมวง (sentencing circles) การพิจารณาแบบล้อมวงเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น “วงกลมแห่งสันติวิธี” ใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มชาวพื้นเมืองของทวีปอเมริกาเหนือโบราณโดยเฉพาะชาวอะบอริจินแคนาเดียนและประชากรทางตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกาโดยผู้เข้าร่วมในการพิจารณาแบบล้อมวง ได้แก่ สมาชิกของชุมชนเป็นผู้ที่เคยทำงานเป็นผู้พิพากษา ตำรวจ และอื่นๆ มาแล้วเป็นเวลาหลายปีในแคนาดารวมทั้งที่เคยรับผิดชอบงานการพิจารณาคดีและการควบคุมสอดส่องมาแล้ว การล้อมวงสามารถดำเนินการได้ในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรมรวมทั้งภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว ระหว่างการล้อมวงผู้เข้าร่วมจะได้รับการสนับสนุนให้พูดจากันอย่างเปิดเผยด้วยความเคารพต่อผลกระทบที่เกิดจากอาชญากรรมที่มีต่อชุมชน ขณะเดียวกันก็แสวงหาวิธีในการเยียวยาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายและหาวิธีการบูรณาการผู้กระทำผิด โดยใช้ขนนกเป็นสัญลักษณ์ส่งผ่านไปรอบๆ วง ผู้ที่ถือขนนกคือผู้ที่ได้รับโอกาสเป็นผู้พูดในขณะนั้นโดยไม่มีการขัดจังหวะ กระบวนการนี้อาจมีการล้อมวงเพียงวงเดียวหรือหลายวงซึ่งแต่ละคนมีโอกาสนำเสนอเรื่องราวของตนแตกต่างกันไป
รูปแบบที่สี่ คณะกรรมการบูรณาการชุมชน (community reparative boards) คณะกรรมการบูรณาการชุมชน เป็นวิธีการเชิงสมานฉันท์ในชุมชนที่หวนกลับคืนมาใหม่ เป็นต้นแบบใหม่ที่ชุมชนแสดงความรับผิดชอบต่อเด็กเยาวชนกระทำผิดอย่างกว้างขวาง รู้จักกันในนามของคณะกรรมการเยาวชน คณะกรรมการเพื่อนบ้าน หรือคณะกรรมการยุติธรรมชุมชน คณะกรรมการนี้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเบี่ยงเบนคดีหรือการคุมประพฤติ คณะกรรมการประกอบด้วยผู้คนในชุมชน ผู้กระทำผิด เหยื่ออาชญากรรม ผู้แทนจากกระบวนการยุติธรรม และบางครั้งก็มีสมาชิกครอบครัวของผู้กระทำผิดรวมอยู่ด้วย ใช้กับผู้กระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรง และดำเนินการเช่นเดียวกับรูปแบบอื่นๆ คือ มีการพูดคุยกันด้วยความเคารพก่อนที่คณะจะพิจารณาโทษ คณะกรรมการเหล่านี้มีความสำคัญต่อสมาชิกชุมชนในการอำนวยความยุติธรรมในขั้นตอนที่อยู่ระหว่างชุมชนกับระบบงานยุติธรรมทางอาญา
สำหรับสังคมไทย จัดว่ามีการใช้ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในรูปแบบนี้ซึ่งใช้จารีตประเพณี ขนบธรรมเนียมของท้องถิ่น หรือของกลุ่มชาติพันธุ์ ในการประชุมเพื่อจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยมีการกำหนดข้อตกลงอันนำไปสู่กิจกรรมการชดใช้ความเสียหาย ตลอดจนเยียวยาสมานฉันท์ความรุนแรงอันเกิดจากอาชญากรรมและรับผู้กระทำผิดกลับคืนสู่ชุมชนไปพร้อมๆ กัน เช่น สภาผู้เฒ่า เจ้าโคตร มูชาวาเราะฮฺ ฯลฯ ซึ่งอนุโลมจัดอยู่ในรูปแบบนี้



ประเภทคดีความอาญาที่สามารถใช้ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
อันที่จริงยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถใช้ได้กับความขัดแย้งทุกประเภทและทุกระดับความรุนแรงเมื่อคู่กรณียินยอมและผู้ประสานงานเห็นสมควรนำเข้าสู่การประชุม อย่างไรก็ตาม ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถใช้ได้ดีกับคดีที่มีอัตราโทษไม่สูงนัก ได้แก่
ความผิดที่เด็กหรือเยาวชนเป็นผู้กระทำ (juvenile delinquents) ความผิดที่เด็กหรือเยาวชนเป็นผู้กระทำหรือที่กล่าวมาแล้วข้างต้นโดยเรียกว่า “การกระทำผิด” นั้น จัดว่าเป็นพฤติกรรมกึ่งอาชญากรรมที่มีรูปแบบพิเศษเพราะผู้กระทำเป็นเด็กหรือเยาวชนที่หลักการสากลต่างยึดถือร่วมกันว่าเป็นผู้อ่อนเยาว์ต่อโลก สมควรได้รับการปฏิบัติแตกต่างจากผู้ใหญ่ที่กระทำผิดในเรื่องราวหรือคดีความเดียวกัน
ความผิดจากความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) ความรุนแรงในครอบครัวที่มีผู้หญิง เด็กและอาจรวมถึงคนชราที่ตกเป็นเหยื่อนั้น เป็นปัญหาสังคมกึ่งอาชญากรรมที่ต้องใช้ช่องทางพิเศษของกระบวนการยุติธรรมหรือใช้กระบวนการยุติธรรมที่มีออกแบบเฉพาะสำหรับคดีความประเภทนี้ โดยให้ความสำคัญกับ “เหยื่ออาชญากรรม” ในฐานะประธานของปัญหามากยิ่งขึ้นกว่าเดิมด้วยการคำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้เสียหายและแสวงหาวิธีการที่จะให้ผู้กระทำผิดเยียวยาชดใช้และปรับปรุงนิสัยความประพฤติอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นด้วยการเข้ารับการบำบัดรักษาโดยเล็งเห็นว่าหากส่งตัวผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักและรับโทษจำคุกก็รังจะเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาในครอบครัวเช่น ขาดรายได้ เกิดความแปลกแยก เพราะขาดมาตรการและกลไกสนับสนุนให้เกิดความสมานฉันท์ในครอบครัว ซึ่งกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาใช้กับเรื่องนี้ได้
ความผิดอาญาต่อส่วนตัวหรือความผิดอาญาที่ยอมความกันได้ คดีอาญาประเภทนี้เป็นความผิดที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้เป็นความผิดอันยอมความกันได้ ซึ่งโดยปกติจะมีลักษณะที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิส่วนบุคคลมิได้กระทบกระเทือนสาธารณชน กฎหมายจึงยินยอมให้ถอนคำร้องทุกข์หรือยอมความกันได้และเมื่อยอมความกันแล้วผู้เสียหายจะนำคดีมาฟ้องร้องอีกไม่ได้ คดีอาญาประเภทความผิดที่ยอมความกันได้ตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ (1) ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา (มาตรา 276 วรรค 1) (2) ความผิดฐานอนาจาร (มาตรา 278 และ มาตรา 284) (3) ความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ (มาตรา 309 วรรค 1) (4) ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น (มาตรา 310 วรรค 1 และ มาตรา 311 วรรค 1) (5) ความผิดฐานหมิ่นประมาท (มาตรา 326-328) (6) ความผิดฐานฉ้อโกง (มาตรา 341-342, 344-346 และ มาตรา 349-350) (7) ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ (มาตรา 352-355) (8) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358-359) และ (9) ความผิดฐานบุกรุก (มาตรา 362-364) ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีความผิดที่กฎหมายกำหนดให้เป็นความผิดอันยอมความได้นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว เมื่อเหยื่ออาชญากรรมและผู้กระทำผิดเป็นญาติกันตามมาตรา 71 ได้แก่ ความผิดฐานลักทรัพย์ (มาตรา 334-335) ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ (มาตรา 336 วรรค 1) ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน (มาตรา 343) ความผิดฐานรับของโจร (มาตรา 357) ความผิดฐานทำให้ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย (มาตรา 360)
ข้อพิพาททางแพ่งเกี่ยวเนื่องทางอาญา การกระทำผิดบางอย่างผู้กระทำมีความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา เนื่องจากการกระทำนั้นเข้าองค์ประกอบความผิดทางอาญาในขณะเดียวกันยังทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายด้วยลักษณะของการกระทำที่เป็นความผิดทางแพ่งเกี่ยวเนื่องทางอาญา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญานั้น ผู้กระทำผิดต้องรับผิดตามกฎหมายอาญาและยังต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหายอีกด้วย เพราะฉะนั้นข้อพิพาทในลักษณะนี้จะระงับลงได้ก็ต่อเมื่อคู่พิพาทตกลงประนีประนอมกันทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งด้วย ถ้าตกลงเฉพาะคดีแพ่งโดยไม่ได้กล่าวถึงความผิดทางอาญานั้นหามีผลต่อเนื่องถึงการยอมความในทางอาญาไม่ ในทำนองเดียวกันการยอมความในคดีอาญาอย่างเดียวก็หามีผลรวมถึงการประนีประนอมในทางแพ่งไม่ และในกรณีที่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญานี้ก็ต้องพิจารณาก่อนว่าคดีอาญานั้นเป็นคดีอาญาอันยอมความกันได้หรือไม่ด้วย ซึ่งถ้าเป็นคดีอาญาแผ่นดินซึ่งยอมความกันไม่ได้ก็จะประนีประนอมยอมความกันได้เฉพาะคดีแพ่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ความผิดเล็กๆ น้อยๆ อื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการจำคุกระยะสั้น คดีอาญาประเภทนี้เป็นความผิดประเภทที่แม้จะมีโทษเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่กฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นคดีความผิดอันยอมความกันได้ เพราะถือว่าเป็นความผิดต่อแผ่นดิน ทำให้ต้องมีการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีไปตามลำดับขั้นตอน แต่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมแต่ละลำดับ ได้แก่ ตำรวจ อัยการ และศาลอาจใช้ดุลพินิจเพื่อเบี่ยงเบนคดีประเภทนี้ออกนอกกระบวนการตามอำนาจที่กฎหมายกำหนดไว้ได้เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้โทษจำคุกระยะสั้นอันก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ผู้กระทำผิดและสังคมมากกว่า รวมทั้งลดความแออัดในเรือนจำได้ทางหนึ่ง ความผิดคดีอาญาเล็กๆ น้อยๆ ประเภทนี้ได้แก่ความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ (มาตรา 334) ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ (มาตรา 336) ความผิดที่กระทำโดยประมาท ฯลฯ เป็นต้น
คดีครอบครัว นอกจากคดีอาญาเหล่านี้แล้ว ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ยังสามารถนำมาใช้กับคดีครอบครัว เช่น กรณีฟ้องหย่าต่างๆ ได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้ประโยชน์สูงสุดเกิดแก่เด็กและเยาวชนผู้เป็นผลผลิตที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความแตกร้าวแห่งสัมพันธภาพของครอบครัว
ขั้นตอนและกระบวนการที่สามารถใช้การจัดการความขัดแย้งเชิงสมานฉันท์ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นมาตรการที่สามารถใช้ได้ในทุกขั้นตอนทั้งก่อนพิจารณาคดี ระหว่างการพิจารณาคดี และภายหลังจากการพิพากษาคดี ดังนี้ ขั้นตอนก่อนคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในชุมชน มีการใช้วิธีการเชิงสมานฉันท์โดยชุมชนเพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่ไม่ซับซ้อนสำหรับคดีความอาญาบางประเภทที่ไม่ร้ายแรง ก่อนมีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งเครือข่ายยุติธรรมชุมชน กระทรวงยุติธรรมอาจจัดให้มีหรือเข้าร่วมประชุมหรือฟื้นฟูยุติธรรมเชิงจารีตในชุมชนของตนในขั้นตอนนี้ได้
ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในโรงเรียน ใช้กับความขัดแย้ง พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และพฤติกรรมเกเรของเด็กเยาวชนในโรงเรียน โดยใช้กับกรณีต่างๆ ได้แก่ การทะเลาะเบาะแว้ง ชุลมุนทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน ลักทรัพย์ ลักขโมยของในห้างสรรพสินค้า เสพยาเสพติด มีพฤติกรรมเกเรในชั้นเรียน ขีดเขียนทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ทำลาย
ขั้นตอนเมื่อคดีความเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและก่อนพิพากษาคดี
ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในชั้นตำรวจ ในทางปฏิบัติ ชั้นพนักงานสอบสวนมีการใช้วิธีการเชิงสมานฉันท์อยู่แล้วในคดีประมาท คดีความรุนแรงในครอบครัว คดีความผิดอันยอมความกันได้ ฯลฯ (อยู่ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นพนักงานสอบสวน พ.ศ. ...)
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในชั้นอัยการ สามารถใช้วิธีการเชิงสมานฉันท์ในชั้นพนักงานอัยการในคดีความผิดกึ่งอาชญากรรม (quasi criminal) เช่น คดีความรุนแรงในครอบครัว คดีที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะในการฟ้องร้องดำเนินคดี คดีเด็กและเยาวชนเป็นผู้กระทำผิด ฯลฯ ซึ่งอาจใช้หลักการดำเนินคดีอาญาตามดุลพินิจ และใช้การชะลอการฟ้องประกอบ (อยู่ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ชะลอการฟ้อง พ.ศ....)
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในชั้นพิจารณาคดีของศาล ศาลสามารถใช้วิธีการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้ตลอดเวลาก่อนที่จะมีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดในขั้นตอนการสืบเสาะและพินิจของงานคุมประพฤติ รวมทั้งปัจจุบันมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับแก้ไข) พ.ศ. 2548 เกี่ยวกับสิทธิในการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาของผู้เสียหาย โดยศาลเพิ่มสิทธิให้ผู้เสียหายในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์สามารถร้องขอศาล เพื่อสั่งให้จำเลยชดเชยค่าเสียหายในคดีอาญาได้โดยไม่ต้องฟ้องแพ่งอีกด้วย (มาตรา 44/1) ภาพลักษณ์ของโรงเรียน ฆ่าหรือทรมานสัตว์ อนาจาร มีอาวุธ เป็นต้น
ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในที่ทำงาน มีการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในที่ทำงานในเรื่องเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยนความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างกรณีไม่ร้ายแรง และ กรณีมีการอนาจาร หรือ ล่วงละเมิดทางเพศด้วยวาจาในที่ทำงาน เป็นต้น
ขั้นตอนหลังการพิจารณาคดี
ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในชั้นราชทัณฑ์ เมื่อมีการจำคุกผู้กระทำผิดไประยะหนึ่งแล้ว หากผู้กระทำผิดได้รับการพักการลงโทษ หรือในเวลาใดก็ตามก่อนที่ผู้กระทำผิดจะสิ้นสุดการรับโทษจำคุกกลับคืนสู่ชุมชนสามารถใช้ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์รูปแบบการไกล่เกลี่ยเหยื่อ-ผู้กระทำผิดได้เช่นกัน
บทสรุป
ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้ชื่อว่าเป็นระบบยุติธรรมแห่งอนาคต เนื่องจากในศตวรรษที่ 21 กระแสสังคมโลกพัฒนาไปสู่อีกยุคสมัยหนึ่งที่ “อำนาจ” มิได้อยู่ที่ “รัฐ” อีกต่อไป แต่ “อำนาจ” จะกลับมาอยู่ที่ประชาชนและเครือข่ายประชาสังคมแทน เพราะอิทธิพลของเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ “รัฐ” เล็กลงไปทุกทีๆ และไร้อำนาจการควบคุมความคิดและแบบแผนพฤติกรรมความสัมพันธ์ของคนในรัฐเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ พัฒนาการการเปลี่ยนที่ทางของ “อำนาจ” ในลักษณะนี้ทำให้ประชาสังคมที่โยงใยสัมพันธ์กันเป็นเครือข่ายต่างๆ มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การมีเครือข่ายเชิงยุติธรรมที่เกาะเกี่ยวกันไว้ด้วยกิจกรรมชุมชนเชิงสร้างสรรค์ย่อมทำให้ชุมชนเกิดพลังที่เข้มแข็งในการควบคุมสังคมไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมได้ทันเวลากับการที่รัฐต้องสูญเสียพลังอำนาจในการควบคุมสังคมลงไปในที่สุด ระบบความยุติธรรมที่แท้จริงย่อมนำผู้คนให้บรรลุถึงความสันติสุขสมานฉันท์ และการที่จะไปสู่ระบบความยุติธรรมที่ดีในความคาดหวังในอนาคตนั้นจำเป็นต้องอาศัยยุทธวิธีที่สื่อความหมายและสร้างความศรัทธาแก่ประชาชนในลักษณะเดียวกัน รวมทั้งมีเอกลักษณ์ความเป็นไทยผสมผสานอยู่ด้วย ซึ่ง “ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เชิงสันติวิธีแห่งระบบยุติธรรมในอนาคตของไทยที่ผูกโยงรัฐ ชุมชน คู่กรณี และกลไกการจัดการความขัดแย้งเชิงสมานฉันท์รวมเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างแนบเนียน

http://rescom2006.trf.or.th/display/show_colum_print.php?id_colum=1836

เอกสารชุดที่ 10

วิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 10
อ.เมธาพร กาญจนเตชะ

มาตรการของศาลในการลดปริมาณคดี
การนั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ คืออะไร
คือการที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดในคดีใดคดีหนึ่งออกนั่งพิจารณาคดีสืบพยาน เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากพยาน ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่า คดีที่ขึ้นสู่ศาลยุติธรรมจะได้รับการพิจารณาพิพากษาด้วยความรอบคอบ
การพิจารณาคดีต่อเนื่อง คืออะไร
คือการที่ศาลพิจารณาคดี โดยสืบพยานติดต่อกันตั้งแต่ต้นจนกว่าจะเสร็จคดี จากนั้นจึงจะเริ่มพิจารณาคดีใหม่เรียงลำดับไป
การพิจารณาคดีต่อเนื่อง เป็นแบบ "สืบจนเสร็จ ม้วนเดียวจบ"
ศาลจะนัดสืบพยานทั้งหมดในคดีให้เสร็จในรวดเดียว ไม่สืบไปเลื่อนไป โดยจะนัดสืบพยานวันหนึ่งหรือช่วงเวลาหนึ่งเพียงคดีเดียว ทำให้ศาลมีเวลาอย่างเต็มที่ ที่จะสืบพยานตามที่นัดได้ทุกปาก
ข้อดีของการพิจารณาคดีต่อเนื่อง
· เพิ่มความเชื่อมั่น
โดยเป็นหลักประกันว่าผู้พิพากษาที่นั่งสืบพยานคดีใดจะสืบพยานคดีนั้นโดยตลอดจนเสร็จคดี ทำให้ได้ฟังข้อเท็จจริงจากพยานทั้งหมดด้วยตนเอง การพิพากษาคดีจึงเป็นไปด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ
· รวดเร็ว
โดยศาลได้สร้างกระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนวันนัด เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องมีการดำเนินคดีล่วงหน้า ทำให้สามารถป้องกันการเลื่อนคดีและใช้วันนัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินคดีในภาพรวมทั้งระบบก็จะรวดเร็วขึ้น
· ประหยัด
ศาลจะสืบพยานเท่าที่จำเป็น ไม่ยึดเยื้อและกำหนดวันนัดติดต่อกันไป คู่ความและพยานไม่ต้องมาศาลบ่อยครั้ง ซึ่งจะประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
ประโยชน์แก่พยานและคู่ความ
คู่ความมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาคดีครบองค์คณะ ศาลและคู่ความต้องประสานงานในการหาแนวทางที่จะให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยต้องศึกษารูปคดีเพื่อให้มีการสืบพยานเท่าที่จำเป็น ต้องมีการตรวจสอบความพร้อมของคดีและพยานเพื่อมิให้เกิดข้อขัดข้องในวันนัดสืบพยานและต้องให้ความสำคัญแก่วันนัดสืบพยาน เพื่อให้วันนัดสืบพยานและต้องให้ความสำคัญแก่วันนัดสืบพยาน เพื่อให้วันนัดสืบพยานมีความแน่นนอน ไม่ต้องเลื่อนคดีซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่พยานแลคู่ความทุกฝ่าย
สรุป
การพิจารณาคดีต่อเนื่องและครบองค์คณะเป็นระบบการพิจารณาคดีที่ทำให้ศาลสามารถค้นหาข้อเท็จจริงจากพยานได้อย่างสมบูรณ์ และถูกต้อง ส่งผลให้การพิจารณาคดีรวดเร็วและเป็นธรรม ทั้งเป็นการพัฒนาการพิจารณาพิพากษาคดีในระบบองค์คณะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด