วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2553

เอกสารประกอบการสอนชุดที่ 8

เอกสารวิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 8
อาจารย์ เมธาพร กาญจนเตชะ
รูปแบบการระงับข้อพิพาท
1. กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice)
คำว่า “Restorative Justice” หรือ “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” เป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสังคมโลก โดยสหประชาชาติ ได้เสนอให้ใช้คำนี้ในการประชุม UN Expert Meeting on Restorative Justice ที่รัฐบาลคานาดาจัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2544 หมายถึง “การอำนวยความยุติธรรมที่ต้องการทำให้ทุกฝ่ายซึ่งได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมได้กลับคืนสู่สภาพดีเช่นเดิม อันเป็นการสร้าง ‘ความสมานฉันท์ในสังคม’ เป็นเป้าหมายสุดท้าย”[1]
ลักษณะและรูปแบบของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ต้องพิจารณาใน 2 ส่วน คือ
1.1 กระบวนการที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์
กระบวนการ (Process) ต้องเป็นกระบวนการที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ ทำให้ฟื้นฟู โดยมีหลักการว่า ควรเป็นกระบวนการที่ไม่เป็นทางการ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้มาพบในบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดความปรองดอง ส่งเสริมให้ผู้กระทำความผิดได้สำนักผิด ได้ชดใช้ ส่งเสริมให้ชุมชนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วน เกี่ยวข้อง
ในต่างประเทศมีกระบวนการที่ใช้หลายรูปแบบ ได้แก่ การประชุมกลุ่ม อาจเป็นกลุ่มครอบครัว กลุ่มชุมชน หรือประชุมวงกลม (Sentencing Circle) เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตามความสำคัญก็คือ การสร้างความปรองดองของทุกฝ่าย
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ สามารถใช้ได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ได้แก่
- ชั้นตำรวจ หลายประเทศได้ใช้กระบวนการนี้สำหรับความผิดที่ใช้การตักเตือนหรือปรับ
- ชั้นอัยการ กรณีมีการชะลอการฟ้องก็สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้
- ชั้นศาล สามารถใช้ประกอบเป็นเงื่อนไขในการกำหนดคำพิพากษาว่าควรจะเข้าสู่กระบวนการนี้ก่อน
- หลังคำพิพากษา สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ประกอบเงื่อนไขการพักการลงโทษได้
1.2 ผลลัพธ์ที่จะก่อให้เกิด “ความสมานฉันท์” เป็นหัวใจสำคัญ คือ “การแสดงความสำนึกผิด” “การยินยอมที่จะปรับพฤติกรรม” การเยี่ยวยาชดใช้ที่ผู้กระทำผิดพร้อมที่จะชดใช้ให้กับผู้เสียหาย ซึ่งอาจจะไม่ใช่เป็นเรื่องเงินเท่านั้น อาจเป็นการบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะอื่น ๆ
ประเภทความผิดที่สามารถนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาปรับใช้ [2]
1) ความผิดที่เด็กเป็นผู้กระทำความผิด
2) ความผิดจากความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) กรณีสามีทำร้ายภริยา การนำตัวผู้กระทำความผิดที่จะต้องพึ่งพากันไปจำคุกไม่ได้ประโยชน์อะไร
3) ความผิดที่กระทำโดยประมาท ก็สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้ดี
4) ความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ อื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการจำคุกระยะสั้น
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เป็นกระบวนการยุติธรรมแนวใหม่ ที่ฟื้นฟูความยุติธรรม (Restorative Justice) และองค์การสหประชาชาติมีข้อมติที่จะให้ประเทศต่าง ๆ ศึกษาและประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง โดยเห็นว่าอาชญากรรมเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหาย โดยผู้กระทำผิดควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง และมีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบ การจัดการกับอาชญากรรมไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องของรัฐที่จะทำการลงโทษ โดยเฉพาะโทษจำคุกโดยที่ผู้กระทำผิดไม่ได้สำนึกในการกระทำของตน และกลับไปกระทำผิดอีก
การจัดการกับอาชญากรรมควรเป็นการดำเนินการฟื้นฟูความเสียหายให้กลับคืนมา โดยผู้มีส่วนรับผิดชอบคือ ผู้เสียหาย ผู้กระทำผิด และชุมชน เช่นนี้จึงจะเกิดความยุติธรรม จะต้องมุ่งฟื้นฟูความเสียหายทั้งทางวัตถุและจิตใจของผู้เสียหาย และผู้กระทำผิดจะต้องรู้สึกรับผิดชอบสำนึกผิด และอยากเข้ามาชดเชยหรือทำให้ความเสียหายลดน้อยลง กระบวนการดังกล่าวนี้จะเป็นกระบวนการที่แตกต่างไปจากการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรมโดยทั่วไป โดยเป็นกระบวนการที่เน้นการตกลงกันของฝ่าย ผู้เสียหาย ผู้กระทำผิดและชุมชน
กระบวนการยุติธรรมแบบดั้งเดิม ผู้กระทำผิดมักจะพยายามหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ และมักไม่รับรู้หรือสำนึกในการกระทำผิดของตนว่าก่อความเสียหายเพียงใด แต่การฟื้นฟูความยุติธรรมจะทำให้ผู้กระทำผิดต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน และทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในการชดเชยต่อผู้เสียหายและชุมชน
จุดหลักของการฟื้นฟูความยุติธรรมอยู่ที่การพบปะร่วมกันของผู้เสียหาย ผู้กระทำผิดและสมาชิกของชุมชน ในระหว่างการพบปะแต่ละฝ่ายจะมีโอกาสได้เปิดเผยเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และแสดงความรู้สึกของตนเองออกมา การพบปะจะต้องช่วยให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เข้าใจฝ่ายอื่น ๆ และขั้นตอนในการที่จะชดเชยความเสียหาย การพบปะจะจบลงด้วยการตกลงกันว่าผู้กระทำผิดจะชดเชยความเสียหายได้อย่างไร การชดเชยการเป็นในรูปของการจ่ายค่าชดเชย การทำงานให้ผู้เสียหายหรือชุมชน หรือวิธีการอื่น ๆ การตกลงกันของฝ่ายต่าง ๆ อาจทำได้ในรูปแบบต่าง ๆ คือ[3]
1) การใช้วิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้เสียหายกับผู้กระทำผิด
โดยมีคนกลางเรียกว่า ผู้ไกล่เกลี่ย (Mediator) ซึ่งผ่านการอบรมมาอย่างดี มาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือไกล่เกลี่ย เพื่อมุ่งให้ผู้กระทำผิดยอมรับผิดชอบในการกระทำของเขาและยอมรับผิด รวมทั้งพร้อมที่จะขอโทษชดเชย หรือแก้ไขตนเองไม่กระทำผิดซ้ำอีก ขณะเดียวกันก็มุ่งที่จะทำให้ผู้เสียหายพอใจและให้อภัย แต่ก่อนที่จะให้ผู้เสียหายและผู้กระทำผิดมาพบกันเพื่อรับการไกล่เกลี่ยนั้น ต้องผ่านขั้นตอนการไกล่เกลี่ยมาก่อน กล่าวคือ ผู้เสียหายและผู้กระทำผิดต้องยินยอมที่จะเข้าโครงการ และยอมรับในหลักการเบื้องต้นก่อน จึงจะนำเข้ามาพบกัน วิธีการดังกล่าวนี้มีใช้กันมากในแคนาดา สหรัฐ อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ออสเตรีย นอร์เวย์ และฟินแลนด์
2) การประชุมกลุ่มครอบครัว (Family group Conferencing)
เป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพากษาอีกรูปแบบหนึ่ง โดยนอกจากจะมี ผู้กระทำผิด ผู้เสียหาย และผู้ไกล่เกลี่ยแล้ว ยังมีตัวแทนของชุมชนและครอบครัวของ ทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมปรึกษาหารือประชุมกันถึงแนวทางในการจัดการกับความผิดที่เกิดขึ้น นับเป็นการจัดการกับความผิดที่เกิดขึ้นที่แตกต่างจากการพิจารณาคดีโดยทั่วไป โดยยอมรับความเท่าเทียมกันของทุกฝ่ายในการที่จะตกลงแก้ปัญหาร่วมกัน
การประชุมจะเริ่มจากการที่แต่ละฝ่ายจะเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความรู้สึก โดยมีผู้ไกล่เกลี่ยที่จะแปรเปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นความเข้าใจ และทำให้การจัดการกับความผิดที่เกิดขึ้นเป็นไปในทางสร้างสรรค์ โดยเริ่มจากการให้ผู้กระทำผิดสำนึกและรับผิดชอบในการกระทำ พร้อมทั้งทำสิ่งใดในการชดเชยให้ผู้เสียหายและ ชุมชน ในขณะที่ผู้เสียหายและชุมชนก็ให้อภัยและพร้อมที่จะช่วยเหลือให้ผู้กระทำผิดไม่กระทำผิดซ้ำอีก วิธีการนี้มีใช้กันในนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อัฟฟาริกาใต้ อังกฤษ สหรัฐ และ แคนาดา
3) การล้อมวงพิจารณาความ (Sentencing Circle)
เป็นการพิจารณาความที่มีรูปแบบไม่เป็นทางการ โดยผู้พิพากษา อัยการ ทนาย จำเลย ผู้เสียหาย ญาติ และครอบครัว ตลอดจนพยานและตำรวจ จะมานั่งล้อมวงเป็นวงกลมเพื่อพิจารณาความที่เกิดขึ้น โดยให้แต่ละฝ่ายทุกคนได้พูดถึงเหตุ- การณ์ที่เกิดขึ้น ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ จากนั้นจึงเป็นการทำความเข้าใจร่วมกัน การยอมรับผิดของผู้กระทำผิด การให้อภัยของฝ่ายผู้เสียหาย และการชดเชยความเสียหายที่ฝ่ายผู้กระทำผิดจะชดเชยให้ผู้เสียหายหรือสังคม รวมทั้งที่ประชุมจะร่วมกันกำหนด วิธีการลงโทษที่เหมาะสมกับผู้กระทำผิดที่จะช่วยป้องกันการกระทำผิดซ้ำขึ้นอีก
การพิจารณาความวิธีนี้ จึงเปรียบเสมือนคนในชุมชนที่ร่วมกันจัดการกับการกระทำผิดที่เกิดขึ้น โดยใช้วิธีการพิจารณาแบบไม่เป็นทางการ ทุกคนนั่งล้อมวงเสมอกัน และช่วยกันคิดหาหนทางที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมต่อทุกฝ่ายมากกว่าที่จะเน้นการลงโทษ โดยที่ผู้เสียหายไม่ได้รับการทดแทน ในการตกลงไกล่เกลี่ยและการล้อมวงพิจารณาความ อาจลงเอยโดยการให้ผู้กระทำผิดยอมรับผิดและทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อชุมชน เช่น การทำงานบริการสาธารณะ หักเงินเข้ากองทุนสงเคราะห์เหยื่ออาชญากรรม ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหาย เข้าร่วมในการอภิปรายเพื่อให้ความรู้ในการป้องกันอาชญากรรมกับชุมชน ขณะที่ชุมชนเองก็มีการรวมกลุ่มในการสงเคราะห์ผู้พ้นโทษและช่วยเหลือผู้เสียหาย
ในแคนาดา ตำรวจที่ทำงานด้านชุมชนสัมพันธ์จะรับบทบาทในเรื่องนี้ ตำรวจเหล่านี้ใกล้ชิดกับชุมชน ผู้เสียหาย และผู้กระทำผิด จะทำหน้าที่ในการดำเนินการข้างต้น การให้ความรู้และการป้องกันอาชญากรรม โดยการทำงานอย่าง ใกล้ชิดกับผู้นำชุมชน เมื่อมีคดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเกิดขึ้น ตำรวจจะส่งเข้าโครงการ โดยมีผู้ไกล่เกลี่ย ผู้นำชุมชน ร่วมกันเป็นคณะในการตกลงของคู่คดี หากตกลงกันได้ก็ไม่ต้องดำเนินคดีในศาล หากจะมีกิจกรรมที่ผู้กระทำผิดจะต้องกระทำ ก็ร้องขอให้ศาลพิจารณาส่งต่อไป กระบวนการดังกล่าวนี้จะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน โดยไม่ต้องรอการพิจารณาคดีเป็นปี
ในออสเตรเลียมีการนำระบบการล้อมวงพิจารณาความไปใช้ในคดีเด็กและเยาวชนและคดีอาญาทั่วไป จุดประสงค์ก็เพื่อที่จะเบี่ยงเบนผู้กระทำผิดออกจากกระบวนการยุติธรรมแบบดั้งเดิม โดยการให้โอกาสผู้กระทำผิดเข้ามาแก้ปัญหา ข้อพิพาทในที่ประชุมชุมชนแทนการพิจารณาคดีในศาล ยกเว้นในกรณีผู้กระทำผิดปฏิเสธคดีและต้องการที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน การประชุมแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง จะประกอบด้วย ผู้เสียหายและญาติพี่น้อง ผู้กระทำผิดและญาติ พี่น้อง และกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ รวมทั้งผู้นำประชุม
การล้อมวงพิจารณาความ ผู้นำประชุมจะเน้นการอภิปรายถึงการประณามการกระทำผิด โดยหลีกเลี่ยงการประณามคุณลักษณะของผู้กระทำผิด โดยผู้กระทำผิดจะต้องอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีความรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์และคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ส่วนผู้เสียหายจะแถลงถึงผลกระทบของอาชญากรรมทางร่างกาย เศรษฐกิจ และอารมณ์ ซึ่งจะทำให้ผู้กระทำผิดและญาติมีโอกาสที่จะรู้สึกสำนึกในการกระทำของพวกเขาและขอโทษผู้เสียหาย จากนั้นจึงให้มีการตกลงที่จะลงนามข้อตกลงที่จะชดเชยความเสียหาย เช่น ในรูปของการจ่ายค่าชดเชย ทำงานชดใช้ผู้เสียหายหรือสังคม หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ ตามแต่จะตกลง
ปัจจุบันการพิจารณาคดีโดยชุมชนมีกฎหมายรองรับ บางรัฐดำเนินการโดยตำรวจ บางรัฐ อัยการ และบางรัฐผ่านอำนาจศาล และบางรัฐโดยองค์กรศาสนา ใช้กับคดีเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ และคดีอาญาในบางส่วน นอกจากนี้บางประเทศมีการประยุกต์ใช้แนวคิดนี้กับงานราชทัณฑ์ กล่าวคือ ให้เหยื่อและชุมชนเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการราชทัณฑ์
การฟื้นฟูความยุติธรรมจะใช้ในคดีที่ผู้กระทำผิดรับสารภาพหรือยอมรับผิด และทั้งผู้เสียหายและผู้กระทำผิดยินยอมที่จะเข้าร่วมในกระบวนการไกล่เกลี่ย โดยส่วนใหญ่จะใช้กับความผิดในคดีลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ปล้น บุกรุก กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอก และคดีทางเพศ ในส่วนของขั้นตอนที่จะนำการฟื้นฟูความยุติธรรมมาใช้นั้น อาจทำได้ในขั้นตอนของตำรวจ อัยการ หรือของศาล ภายหลังการพิจารณาคดี โดยเป็นคำสั่งศาล ทั้งนี้ บางประเทศจะให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ดำเนินการ บางประเทศให้องค์กรในชุมชนดำเนินการ หรือร่วมกันระหว่างฝ่ายรัฐกับชุมชน ซึ่งรวมถึงการดำเนินการติดตามดูแลให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม ประเทศส่วนใหญ่จะใช้กระบวนการฟื้นฟูความยุติธรรมกับคดีเด็กและเยาวชน แต่ก็มีหลายประเทศที่ใช้ในคดีอาญาทั่วไปเช่นกัน ทั้งนี้ จะต้องมีกฎหมายรองรับให้อำนาจในการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวนี้
เห็นได้ว่า การฟื้นฟูความยุติธรรม เป็นทางเลือกในการจัดการกับการกระทำผิดที่แตกต่างไปจากกระบวนการยุติธรรมแบบดั้งเดิม ซึ่งเน้นในเรื่องการลงโทษผู้กระทำผิด การฟื้นฟูความยุติธรรมจะเน้นการฟื้นฟูความยุติธรรมให้กลับคืนมา โดยให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบและชดเชยให้ผู้เสียหายและชุมชนในทางใดทางหนึ่ง ทั้งนี้ โดยมีกระบวนการในการไกล่เกลี่ย ซึ่งทุกฝ่ายจะเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนร่วมกันในการชดเชยความเสียหาย และทำให้ความยุติธรรมกลับคืนมา การฟื้นฟูความยุติธรรมจึงเป็นกระบวนการยุติธรรมทั้งของผู้เสียหายและผู้กระทำผิด
2 การชะลอการฟ้อง (Suspension of Prosecution)
การชะลอการฟ้องเป็นการสั่งคดีประการหนึ่งของพนักงานอัยการในต่าง- ประเทศ ซึ่งเป็นอำนาจในการใช้ดุลพินิจที่จะไม่ฟ้องผู้ต้องหาซึ่งมีมูลเชื่อว่ากระทำผิด อันมีส่วนช่วยในการลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล หมายความถึงการที่พนักงานอัยการมีความเห็นแล้วว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย แต่จะยังไม่ฟ้องทันที หากจะกำหนดเงื่อนไขควบคุมความประพฤติที่ผู้ต้องหาจะต้องปฏิบัติในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งหากผู้ต้องหาสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นได้ครบถ้วนตลอดช่วงเวลานั้น พนักงานอัยการจะสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหานั้น แล้วปล่อยตัวไป แต่ถ้าผู้ต้องหาไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นได้ พนักงานอัยการจะมีคำสั่งฟ้องและนำตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องต่อศาลต่อไป[4] เป็นการลดจำนวนคดีบางประเภทซึ่งไม่ควรนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลออกไปจากระบบ อันเป็นการลดคดีที่คั่งค้างในศาล และเป็นการกลั่นกรองคดีอาญาบางประเภทที่สามารถแก้ไข ผู้กระทำผิดให้สามารถปรับตัวให้เข้าสู่สังคมได้ดีกว่ากระบวนการตามปกติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี โดยเฉพาะในคดีความผิดบางประเภท เช่น ความผิดซึ่งกระทำโดยประมาท ความผิดระหว่างสมาชิกในครอบครัว ความผิดซึ่งเด็กเป็นผู้กระทำผิด เป็นต้น
วัตถุประสงค์อันสำคัญที่นำวิธีการชะลอฟ้องมาใช้ คือ
1) ให้มีการชะลอการฟ้องผู้กระทำผิดอาญาบางประเภทไว้ชั่วระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาได้มีโอกาสกลับตัวเป็นคนดีได้ภายใต้ความควบคุม ดูแลของเจ้าหน้าที่ และทำให้ไม่เป็นการเสียหายแก่ประวัติและชื่อเสียงของบุคคลนั้น
2) เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีชั้นศาล และการควบคุมทั้งของผู้กระทำผิดและของแผ่นดิน และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดอาญาได้กลับตัวเป็นคนดีแทนที่จะส่งฟ้องศาลและร้องขอการลงอาญา หรือการรอการกำหนดโทษตามวิธีเดิม
วิธีการและระยะเวลาดำเนินการ [5]
การชะลอการฟ้องให้อำนาจพนักงานอัยการที่จะพิจารณาเสนอความเห็นว่า ผู้ต้องหาคนใดที่ตามการสอบสวนได้ความว่า กระทำผิดตามข้อหา แต่เมื่อคำนึงถึงประวัติ ความประพฤติ อุปนิสัย การดำเนินอาชีพ สติปัญญา การศึกษาอบรม สภาพความผิดและสภาพแวดล้อมแห่งจิต แล้วควรได้รับการชะลอการฟ้อง ให้พนักงานอัยการเสนอความเห็นควรชะลอการฟ้องไปยังคณะกรรมการชะลอการฟ้อง (Board of Suspend Prosecution) ซึ่งอาจประกอบด้วยหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
เมื่อคณะกรรมการชะลอการฟ้องพิจารณาแล้วไม่เห็นชอบด้วยกับความเห็นของพนักงานอัยการ ก็ต้องยื่นฟ้องผู้ต้องหาคดีนั้นไป ถ้าเห็นชอบด้วยก็จะอนุญาตให้มีการชะลอการฟ้อง
ผู้ต้องหาที่ได้รับอนุญาตให้ชะลอการฟ้อง ต้องได้รับการคุมประพฤติโดยพนักงานคุมประพฤติ (Probation Officer) และต้องรายงานตัวตามกำหนดด้วย ทั้งนี้ ทั้งผู้ต้องหาและผู้เสียหายต้องยินยอมให้มีการชะลอการฟ้อง เมื่อครบกำหนดการชะลอการฟ้องแล้ว พนักงานคุมประพฤติจะรายงานเสนอพนักงานอัยการเกี่ยวกับความประพฤติของผู้ต้องหาดังกล่าว และพนักงานอัยการจะทำความเห็นเสนอคณะกรรมการชะลอการฟ้องต่อไปว่าควรระงับการฟ้องเด็ดขาดหรือไม่
ระหว่างการคุมประพฤติถ้าผู้ต้องหามีพฤติการณ์ชัดเจนว่า ไม่สามารถกลับตนเป็นคนดีหรือผิดเงื่อนไขที่กำหนดไว้สำหรับการคุมประพฤติ คณะกรรมการชะลอการฟ้องอาจระงับการชะลอการฟ้อง และให้ฟ้องคดีนั้นต่อไป
ถ้าระหว่างการคุมประพฤติ ผู้ต้องหากระทำผิดอีก ก็จะถูกฟ้องทั้งคดีที่ชะลอไว้และคดีความผิดใหม่ด้วย
3. การให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการคำตักเตือนและทำทัณฑ์บนแก่ผู้กระทำผิด[6]
การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการระงับข้อพิพาท มีอยู่ทั่วไป เช่น ในประเทศไทยที่ให้อำนาจตำรวจในการเปรียบเทียบปรับคดีลหุโทษ และคดีที่มีอัตราโทษปรับสถานเดียวและเจ้าพนักงานตามกฎหมายได้ให้อำนาจพนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบปรับได้ แม้คดีนั้นจะมีอัตราโทษเกินกว่าลหุโทษก็ตาม แต่สำหรับคดีอันยอมความได้อื่น ๆ และคดีอาญาแผ่นดินที่ไม่ร้ายแรงและไม่มีบทกฎหมายบังคับให้ต้องนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลเท่านั้นแล้ว พนักงานสอบสวนก็อาจจะจัดทำสำนวนการสอบสวนและเสนอความเห็นเบื้องต้นเห็นควรไม่ฟ้องไปยังพนักงานอัยการเพื่อสั่งไม่ฟ้องต่อไปหากคู่กรณีสามารถทำการเจรจาและตกลงกันได้
ในประเทศนิวซีแลนด์ เลือกที่จะให้อำนาจตำรวจในการดำเนินการตักเตือนและทำทัณฑ์บนผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ได้อย่างเป็นการทั่วไป โดยมีโครงการที่จะดำเนินการอย่างจริงจังมาตั้งแต่ ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา การดำเนินการของประเทศนิวซีแลนด์ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกฎหมาย ของกระทรวงยุติธรรมได้ให้ ข้อเสนอแนะบางประการดังนี้
1) การพิจารณากำหนดกรอบของกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ชัดเจน
2) การกำหนดกรอบการกระทำผิด เพื่อใช้ในการกระบวนยุติธรรมทางเลือก
อย่างไรก็ตาม นิวซีแลนด์ ยังจะไม่นำกระบวนการเตือนหรือทัณฑ์บนโดยตำรวจมาใช้กับการกระทำผิดของผู้ใหญ่ในทันที ทั้งนี้ เนื่องจากจะต้องมีการทบทวนมาตรการที่จะนำมาใช้ให้เหมาะสม ก่อนการดำเนินการเกี่ยวกับการผันคดีไม่ให้ขึ้นสู่ศาล
4. มาตรการตามกฎหมาย การต่อรองการรับสารภาพ
การต่อรองการรับสารภาพเป็นกระบวนการหนึ่งของการกลั่นกรองคดีอาญา(Screening Criminal Cases) ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาล เพื่อประโยชน์และความจำเป็นในด้านต่างๆ นอกเหนือไปจากวิธีการอื่นๆ เช่น การกันผู้ต้องหาเป็นพยาน (Crown Witness)การชะลอการฟ้อง (Suspension of Prosecution) หรือการไต่สวนมูลฟ้อง (Preliminary Inquiry) เป็นต้น ประโยชน์ของการต่อรองการลงโทษสำคัญ 2 ประการ คือ 1. ด้านการบริหารกระบวนการยุติธรรม เพื่อแบ่งเบาภาระหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุกราย โดยผ่านการพิจารณาโดยศาลอย่างเต็มรูป ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลานานและเป็นการสิ้นเปลืองเวลาและงบประมาณอย่างมาก และช่วยแบ่งเบาภาระของการพิจารณาคดีในศาลอาจกระทำได้ โดยจะมีประโยชน์ในแง่การสร้างกระบวนการทางกฎหมายที่มีความชัดเจนเพื่อรองรับวิธีการที่จะได้มาซึ่งคำรับสารภาพ และจะเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย 2. ด้านประสิทธิภาพการปราบปรามการกระทำความผิด การต่อรองการรับสารภาพ จะเป็นเครื่องมือทางกฎหมายอีกมาตรการหนึ่งที่จะส่งผลเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามปัญหายาเสพติด โดยจะสามารถจูงใจให้ผู้กระทำความผิด ที่เป็นเพียงรายย่อยให้ข้อมูลที่สำคัญ อาจสามารถขยายผลการจับกุมผู้กระทำความผิดรายใหญ่ ซึ่งอาจรวมถึงบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการค้ายาเสพติดที่แท้จริงได้ ทั้งนี้ เพื่อตัดสายใยเชื่อมโยงขององค์กรอาชญากรรม (Organized Crime) นอกจากนี้ การนำวิธีการต่อรองการรับสารภาพมาใช้บังคับในประเทศไทยนั้น มีข้อพิจารณาสำคัญบางประการที่จะนำไปสู่การบังคับใช้วิธีการต่อรองการรับสารภาพอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ 1. การมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อคุ้มครองสิทธิของจำเลย 2. การมีหลักการตรวจสอบดุลพินิจและความถูกต้องของการต่อรองการรับสารภาพ 3. การมีหลักเกณฑ์ปฏิบัติภายในและการทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรประกอบ 4. การมีการคุ้มครองความปลอดภัยของพยานความร่วมมือจากต่างประเทศ (การส่งผู้ร้ายข้ามแดน)


[1][Online], available URL: http://www.polsci.chula.ac.th/sumonthip/crime-cj.htm
[2]กิตติพงษ์ กิตยารักษ์, “ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์:หลักการและแนวคิด,” ใน กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: ทางเลือกใหม่สำหรับกระบวนการยุติธรรมไทย (กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2545), หน้า 15-16.
[3][Online], available URL: http://www.correct.go.th/journal/j2/new4.html
[4]เรวัต ฉ่ำเฉลิม, “ชะลอการฟ้อง,” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2522), หน้า 20.
[5]ประเทือง กีร์ติบุตร, “การชะลอการฟ้อง,” บทบัณฑิตย์ 1, 34 (มกราคม 2520): 56-58.
[6][Online], available URL: http://www.bloggang.com/viewblog.

เอกสารประกอบการสอนชุดที่ 7

วิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 7
อาจารย์เมธาพร กาญจนเตชะ
ประเภทของโทษอาญา
1. โทษที่กระทบต่อชีวิตของผู้กระทำความผิด
โทษประเภทนี้ ได้แก่ การประหารชีวิตผู้กระทำความผิด ซึ่งจะใช้เฉพาะการกระทำความผิดที่รุนแรงมากหรือที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างมาก เป็นวิธีการลงโทษที่อยู่ในกลุ่มของการกำจัดออกไปจากสังคมอย่างถาวร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแก้แค้นทดแทน และการข่มขู่ยับยั้งไม่ให้ผู้อื่นกระทำตาม รวมทั้งเป็นการคุ้มครองสังคม โดยตัดโอกาสไม่ให้กระทำผิดอีกโดยเด็ดขาดนับว่าเป็นโทษที่หนักที่สุด ซึ่งมีความเหมาะสมกับความผิดที่ร้ายแรงและความผิดที่มีความทารุณโหดร้าย แต่อย่างไรก็ตามโทษประหารชีวิตก็มีข้อเสียคือ เมื่อเกิดการผิดพลาดแล้วไม่มีทางแก้ไขได้ นอกจากนี้ยังขัดต่อหลักมนุษยธรรมด้วย ถือได้ว่าเป็นการลงโทษเกินกว่าสัญญาประชาคมที่ได้ให้ไว้ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว การให้สัญญานั้นไม่มีผู้ใดสละเสรีภาพของตนเพื่อให้บุคคลอื่นสังหารตน รัฐจึงไม่มีสิทธิที่จะทำการดังกล่าวได้
2. โทษที่กระทบต่อเสรีภาพของผู้กระทำความผิด
ได้แก่ การจำคุกและการกักขังเป็นวิธีการลงโทษที่อยู่ในกลุ่มของการตัดผู้กระทำความผิดออกไปจากสังคมเป็นการถาวร เช่น การกำหนดโทษจำคุกสูง หรือตลอดชีวิต หรือเป็นการชั่วคราว เช่น การกำหนดโทษจำคุกโดยมีกำหนดเวลาและการกักขัง เป็นต้น ซึ่งการตัดผู้กระทำความผิดออกจากสังคมในช่วงนี้เป็นการดัดนิสัยของผู้กระทำความผิดก่อนที่จะคืนสู่สังคม
วัตถุประสงค์ของการลงโทษจำคุกมีด้วยกัน 4 ประการ คือ
1) เพื่อการแก้แค้นทดแทน กล่าวคือ การจำคุกทำให้ผู้กระทำผิดถูกจำกัดเสรีภาพ เพื่อเป็นการตอบแทนพฤติกรรมที่ได้กระทำไป ทำให้บุคคลทั่วไปเกิดความรู้สึกสาสมกับผลร้ายซึ่งผู้กระทำผิดได้ก่อให้เกิดขึ้นต่อสังคม
2) เพื่อเป็นการข่มขู่ กล่าวคือ การถูกจำกัดเสรีภาพ ถือว่าเป็นสิ่งที่ข่มขู่ตัวผู้กระทำผิดเองมิให้กระทำความผิดซํ้าขึ้นมาอีก หรือเป็นการข่มขู่บุคคลทั่วไปไม่ให้กล้ากระทำความผิดขึ้น
3) เพื่อตัดโอกาสมิให้กระทำความผิดขึ้นมาอีก
4) เพื่อปรับปรุงแก้ไข กล่าวคือ ในช่วงเวลาที่ถูกควบคุมตัวนั้น ทางเรือนจำได้ใช้มาตรการต่างๆในการปรับปรุงแก้ไขฟื้นฟู เพื่อให้กลับตัวเป็นคนดี เช่น การฝึกอาชีพ การให้การศึกษา เป็นต้น ดังนั้น การลงโทษจำคุกจึงถือว่าเป็นการลงโทษแบบบูรณการ (Integration) โดยเป็นการรวมวัตถุประสงค์ของการลงโทษหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งศาลจะนิยมนำโทษจำคุกมาใช้มากที่สุด เพราะทำให้ประชาชนในสังคมยอมรับและไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบ
อย่างไรก็ตามโทษจำคุกก็มีข้อเสีย เช่น รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการควบคุมดูแลมากที่สุด และยังทำให้ผู้กระทำผิดปรับตัวเข้ากับสังคมได้ยากตามหลักของทฤษฏีการตราหน้า (lebeling Theory) ด้วย เนื่องจากอาจถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็นคนขี้คุกอันจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง ความเป็นอยู่ต่อไปในสังคม อีกทั้งในระหว่างจำคุกทำอาจได้รับอิทธิพลหรือพฤติกรรมที่ไม่ดีจากผู้ต้องโทษด้วยกัน
โทษจำคุกเป็นการนำผู้กระทำความผิดไปควบคุมไว้ในเรือนจำและอยู่ภายใต้การควบคุม
ดูแลอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มักใช้กับความผิดที่ร้ายแรงหรือความผิดที่ฝ่าฝืนศีลธรรมหรือความสงบเรียบร้อยของสังคมอย่างมาก ในการใช้โทษจำคุกนั้นจึงมีข้อพิจารณากรณีดังนี้
(1) ผู้กระทำความผิดร้ายแรงบางประเภท เช่น ผู้กระทำผิดที่ก่อภยันตรายหรือคุกคามความปลอดภัยต่อชีวิตของผู้อื่น
(2) ผู้กระทำความผิดซึ่งมีพฤติกรรม หรือกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อค่านิยมพื้นฐานในสังคม อันควรแก่การประณามอย่างยิ่ง เช่น การทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือการหลอกลวงฉ้อฉลที่ก่อความเสียหายต่อสาธารณชนและเศรษฐกิจของชาติ เป็นต้น
(3) ผู้กระทำความผิดซึ่งไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือบทลงโทษที่ศาลได้พิพากษาไว้แล้ว เช่น ผู้กระทำผิดที่จงใจไม่ชำระค่าปรับและชดใช้ค่าเสียหาย หรือได้กระทำผิดเงื่อนไขการคุมประพฤติ เป็นต้น
การกักขังเป็นการกักตัวผู้กระทำความผิดไว้ในสถานที่ที่กำหนด เช่น ในบ้านผู้กระทำความผิดเอง มักใช้กับผู้กระทำความผิดสถานเบา
ปัจจุบันหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ได้เปลี่ยนแนวทางการลงโทษจำคุกใหม่โดยใช้เฉพาะความผิดที่ร้ายแรง และนำโทษกักขังมาใช้กับความผิดไม่ร้ายแรงโดยการกักขังผู้กระทำความผิดไว้ในบ้านของผู้กระทำความผิดเอง (House arrest) หรือสถานที่ที่กำหนดและติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันผู้กระทำความผิดหลบหนี การเปลี่ยนแนวทางการลงโทษนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐที่เกี่ยวกับการจำคุกได้เป็นจำนวนมาก และเป็นการป้องกันมิให้ผู้ที่กระทำความผิดไม่ร้ายแรงเข้าไปอยู่ร่วมกับผู้กระทำความผิดร้ายแรงซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเรียนรู้พฤติกรรมต่างๆจากผู้กระทำความผิดร้ายแรงได้
3. โทษที่กระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของผู้กระทำความผิด
โทษประเภทนี้ได้แก่ การสั่งให้ทำงานเพื่อสังคม (Community service)ในเรื่องต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้กระทำความผิดโดยไม่มีเจตนาร้ายได้รู้สำนึกในการกระทำของตน และหลาบจำการลงโทษประเภทนี้มิได้ใช้เฉพาะผู้กระทำความผิดที่เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่ยังใช้ได้กับผู้กระทำความผิดที่เป็นนิติบุคคลด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น การสั่งให้นิติบุคคลที่ปล่อยมลพิษออกสู่สภาพแวดล้อมต้องดำเนินการกำจัดมลพิษที่ตนปล่อยออกไป หรือโดยการจ่ายเงินสนับสนุนแก่องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น สำหรับประเทศไทยนั้นมาตรการนี้ยังไม่ถือเป็นโทษแต่อาจถูกนำมาใช้ในการคุมประพฤติหากศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำความผิด
4. โทษที่กระทบต่อทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด
โทษประเภทนี้ได้แก่การปรับและการริบทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด การปรับเป็นโทษที่บังคับเอากับทรัพย์สินของผู้กระทำผิดตามที่ศาลกำหนด โดยมักจะกำหนดโทษปรับเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน ซึ่งเป็นโทษที่ใช้กันทั่วไปในความผิดที่ไม่รุนแรงแต่การกำหนดโทษปรับเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน ซึ่งเป็นโทษที่ใช้กันทั่วไปในความผิดที่ไม่รุนแรง แต่การกำหนดโทษปรับที่มีอัตราค่าปรับสูงจะใช้กับความผิดทางเศรษฐกิจหรือความผิดที่กระทำโดยนิติบุคคล เช่นความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น ส่วนการริบทรัพย์สินนั้นเป็นการริบทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิด หรือที่ใช้ในการกระทำความผิด หรือที่ได้มาจากการกระทำความผิดเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดใช้หรือประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นอีกต่อไป เช่น ความผิดคดียาเสพติด หรืออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทยบัญญัติไว้ในมาตรา 18 ได้กล่าวถึงโทษทางอาญาที่จะใช้ลงโทษผู้กระทำผิดไว้ 5 ประการได้แก่
1. ประหารชีวิต
2. จำคุก
3. กักขัง
4. ปรับ
5. ริบทรัพย์สิน
โดยโทษประหารชีวิต นั้นเดิมกฎหมายกำหนดให้เอาไปยิงเสียให้ตาย ต่อมาปีพ.ศ.2546 ได้เปลี่ยนเป็นให้เอาไปฉีดยาหรือสารพิษแทน เนื่องจากการประหารชีวิตแบบเดิมเป็นวิธีการที่ทารุณโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม และกำหนดห้ามนำโทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมาใช้กับผู้กระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยให้เปลี่ยนโทษดังกล่าวเป็นโทษจำคุกห้าสิบปีแทน ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.1989 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก

วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2553

เอกสารชุดที่ 6

วิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 6
อาจารย์เมธาพร กาญจนเตชะ
สำนักงานศาลยุติธรรม
สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นองค์กรอิสระที่ดูแลงานธุรการของศาลยุติธรรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอิสระในการบริหารงานบุคคลการงบประมาณและการดำเนินการอื่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา การแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
ประวัติสำนักงานศาลยุติธรรม
นับจากวันที่ 20 สิงหาคม 2543 ศาลยุติธรรมที่เคยสังกัดอยู่กับกระทรวงยุติธรรมมากว่า 108 ปี ได้แยกออกเป็นองค์กรอิสระ โดยมีหน่วยงานธุรการที่เรียกว่า สำนักงานศาลยุติธรรม และมี เลขาธิการ สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นการปฏิรูปการ ศาลยุติธรรมครั้งสำคัญ นับเนื่องจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5ทรงปฏิรูป การศาลในรัชสมัยของพระองค์แล้ว ทั้งนี้ด้วยเจตนารมณ์เพื่อให้ศาลยุติธรรมมีความเป็นอิสระอย่าง แท้จริง ให้สามารถดุลและคานกับอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหารได้อย่างเหมาะสม แต่เดิมนั้น แม้ว่าอำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีภายใต้พระปรมาภิไธย มีความเป็นอิสระ แต่การที่งานธุรการของศาลอยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นองค์กรของฝ่ายบริหาร อาจทำให้ความเป็น อิสระของผู้พิพากษาถูกบั่นทอนไปได้ ทั้งนี้ ด้วยตามระบบการศาลยุติธรรมเดิม รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงยุติธรรมมีอำนาจที่ จะสั่งให้ผู้พิพากษาที่มีตำแหน่งต่ำกว่าประธานศาลฎีกาไปช่วยราชการที่ ศาลอื่นในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิมได้ นอกจากนี้ยังมีอำนาจเสนอบัญชีรายชื่อการพิจารณา ความดีความชอบ และการแต่งตั้ง โยกย้ายผู้พิพากษา อันทำให้เสถียรภาพ ของผู้พิพากษาสั่นคอน เนื่องจากหวั่นเกรงว่าอาจถูกกระทรวงยุติธรรมแทรกแซงไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งนี้ตราบใดที่ศาลยังสังกัดอยู่ในกระทรวงยุติธรรม รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงได้แยกอำนาจตุลาการออกจาก อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหารอย่างเบ็ดเสร็จด้วยการให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยงานธุรการเป็นอิสระ ที่เรียกว่า สำนักงานศาลยุติธรรม
ประโยชน์ที่บังเกิดขึ้นจากการแยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรมมาเป็นสถาบันอิสระ สามารถจำแนก ได้หลายประการ กล่าวคือ
1) ประชาชนได้ความเชื่อมั่นว่าอำนาจตุลาการมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ทั้งอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี และอิสระในการบริหารงานธุรการของตนเอง สามารถ เป็นหลักประกันความ เที่ยงธรรมของสังคม และความยุติธรรมที่ประชาชนจะได้รับแม้ในกรณีที่ ประชาชนมีคดีพิพาทกับฝ่ายบริหารก็ตาม
2) ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ในการรับบริการจากศาล เนื่องจากศาลยุติธรรมมีอิสระในการบริหาร งานบุคคล การงบประมาณและการดำเนินการอื่นๆ ทำให้สามารถพัฒนา องค์กรให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดีและแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานที่เดิมเคยมีให้ลุล่วงไปได้ รวมทั้งส่งเสริมให้งานพิจารณาพิพากษาของศาล เป็นไปได้ด้วยความสะดวกรวดเร็ว คล่องตัว และสามารถอำนวยความยุติธรรม ให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3) ประชาชนได้มีโอกาสตรวจสอบข้าราชการ ตุลาการมากขึ้น เกิดความมั่นใจ ในความโปร่งใสของศาลยุติธรรม ด้วยการเพิ่มกลไกการตรวจสอบของประชาชนอันได้แก่การกำหนดให้ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งมีบทบาทในการคุ้มครองและให้ ความเป็นธรรมแก่ผู้พิพากษา และเดิมประกอบด้วยกรรมการที่เป็น ข้าราชการตุลาการทั้งหมด มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการเลือกสรร จากกระบวนการทางวุฒิสภาให้เข้ามามีส่วนสำคัญในการบริหารราชการ ศาลยุติธรรม และเช่นเดียวกันในองค์กรการบริหารศาลยุติธรรมอื่นๆ เช่น คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ที่เรียกว่า ก.บ.ศ. หรือ คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ที่เรียกว่า ก.ศ. ประกอบด้วย กรรมการส่วนหนึ่ง ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการ งบประมาณ ด้านการพัฒนาองค์กร หรือด้าน การบริหารจัดการ ที่ไม่ เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตุลาการหรือข้าราชการศาลยุติธรรมมาก่อน รวมอยู่ด้วย อันทำให้ระบบการบริหารของศาลยุติธรรมเป็นระบบเปิด โปร่งใส พร้อมต่อการตรวจสอบ และมีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชนมากยิ่งขึ้น
4) ประชาชนได้ระบบการศาลยุติธรรมที่เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศดี ยิ่งขึ้นอันจะสนับสนุนส่งเสริมให้ ระบบเศรษฐกิจเข้มแข็งและทำให้ชาวต่างประเทศที่คิดจะลงทุน หรือทำการ ค้าในประเทศไทย เกิดความมั่นใจว่าประเทศเรามีสถาบันตุลาการเป็นอิสระ และมีเสถียรภาพ ไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายใด

เอกสารประกอบการสอน ชุดที่ 5

เอกสารประกอบวิชาระบบความยุติธรรมทางอาญาชุดที่ 5
อาจารย์เมธาพร กาญจนเตชะ
บทบาทของพนักงานอัยการ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เกี่ยวกับบทบาทและอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการกับการสอบสวนคดีอาญา ซึ่งมีลักษณะในการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งการเริ่มต้นให้พนักงานอัยการเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหามากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เดิม ซึ่งจะขอกล่าวรายละเอียดเป็นข้อๆ ดังนี้
1. การมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมก่อนมีความเห็นหรือคำสั่งคดี
เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเห็นว่าการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และมีความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องตามมาตรา 140 มาตรา 141 หรือมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ส่งไปพร้อมกับสำนวนยังพนักงานอัยการแล้ว พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติมได้อีก การจะสอบสวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 และในกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา แล้วส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมคำสั่งเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อทำความเห็นแย้งตามมาตรา 145 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่มีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีดังกล่าวสอบสวนเพิ่มเติมได้อีกเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนมีความคิดเห็นหรือคำสั่งในคดี ให้พนักงานอัยการพิจารณาพยานหลักฐานในคดีให้ได้ความแน่ชัดเสียก่อน ว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดหรือไม่ หากไม่แน่ชัดก็สั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้ส่งพยานมาซักถามตามรูปคดี แม้ในคดีที่แม้จะมีคำรับสารภาพองผู้ต้องหาอยู่แล้วก็ตาม ก็ควรพิจารณาพยานหลักฐานให้แน่ชัดเสียก่อนด้วย นอกจากนี้หากมีการร้องขอความเป็นธรรม เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควร หรือผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องในคดีร้องขอ พนักงานอัยการอาจสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้ส่งพยานมาเพื่อซักถามเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคดีก็ได้ โดยคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม ให้พนักงานอัยการทำความเห็นเสนอสำนวนตามลำดับชั้นถึงอธิบดีเพื่อพิจารณาสั่งประการใดให้ปฏิบัติตามนั้น
เมื่อพิจารณาระเบียบดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่าบทบาทของพนักงานอัยการในส่วนนี้ เป็นบทบาทที่สำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งในคดีอาญา โดยเฉพาะการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานแห่งคดี ซึ่งพนักงานอัยการเห็นสมควรสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมก็สั่งให้พนักงานสอบสวนสอบสวนเพิ่มเติมแทนก็ได้ หรือสั่งให้พนักงานสอบสวนส่งพยานมาเพื่อสอบสวนเองก็ได้ กระบวนการนี้ถือเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาที่สำคัญที่สุด เพราะในกระบวนการใช้ดุลพินิจดังกล่าวของพนักงานอัยการ ถือว่าหากไม่มีน้ำหนักพยานจริงก็ต้องสั่งสอบสวนใหม่ หรืออาจสั่งไม่ฟ้องคดีนั้น หรือหากมีความสงสัยแม้ว่าจะมีคำรับสารภาพก็ตาม ก็สามารถสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมได้ หรือในคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม พนักงานอัยการสามารถสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้ส่งพยานมาเพื่อซักถามเองได้ โดยกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจการสอบสวนคดีอาญาที่ดีทางหนึ่ง อันกล่าวได้ว่าเป็นการรักษาความสมดุล (Balance) ระหว่างกระบวนการดำเนินคดีอาญาของรัฐในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ กับหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ให้เกิดความผิดพลาดในคดีอาญา เป็นหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาตามกฎหมายที่สำคัญเช่นกัน
2. การมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว
การปล่อยชั่วคราวเป็นมาตรการอย่างหนึ่งในคดีอาญา เป็นมาตรการผ่อนคลายการจำกัดเสรีภาพในร่างกาย หรืเสรีภาพในการเคลื่อนไหวเปลี่ยนที่ทางของผู้ต้องหาหรือจำเลย ที่ว่าการปล่อยชั่วคราวเป็นการผ่อนคลาย ก็เพราะว่าในกรณีนั้นเป็นกรณีที่มีความจำเป็นที่ต้องเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ เพราะหากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐแล้ว กรณีก็ต้องปล่อยตัวผู้นั้นไปเลยที่เดียว ทั้งนี้ การควบคุมตัวในระหว่างคดีนั้นถือเป็นเรื่องของข้อยกเว้น กล่าวคือ โดยหลักแล้วจะไม่ต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ในอำนาจรัฐ เว้นแต่มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวในกรณีที่มีความจำเป็น ที่จะต้องมีการควบคุมตัวไว้ในระหว่างคดี อาจมีการพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกัน ซึ่งสามารถพิจารณาได้ดังนี้
การปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน หมายถึง การปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีสัญญาประกันไว้ให้กับเจ้าพนักงาน หรือศาลเลย ผู้ต้องหาหรือจำเลยเพียงสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะมาตามนัดหรือหมายเรียก ขณะที่ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน หมายถึง การปล่อยชั่วคราวโดยผู้ต้องหาหรือจำเลยเองหรือบุคคลอื่น เข้าทำสัญญาประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล ว่าจะมาหรือจะนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย มาส่งตามวันเวลาที่เจ้าพนักงานหรือศาลนัดหรือหมายเรียกมา โดยกฎหมายบัญญัติไว้ว่าเมื่อจะปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก่อนปล่อยไปให้ผู้ประกันหรือผู้เป็นหลักประกันลงลายมือชื่อในสัญญาประกันนั้น
ในสัญญาประกันนอกจากข้อความอื่นอันพึงมี ต้องมีข้อความดังนี้ด้วย
1) ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวหรือผู้ประกัน แล้วแต่ก็กรณี จะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของเจ้าพนักงานหรือศาล ซึ่งให้ปล่อยชั่วคราว


2) เมื่อความสัญญาจะใช้เงินจำนวนที่ระบุไว้
ในสัญญาประกันจะกำหนดภาระหน้าที่หรือเงื่อนไข ให้ผู้ถูกปล่อยชั่งคราว หรือผู้ประกันปฏิบัติเกินความจำเป็นแก่กรณีมิได้
ส่วนปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกัน หมายถึง การปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไปชั่วคราว โดยมีสัญญาประกันพร้อมด้วยหลักประกันอย่างใดอย่างหนึ่งคือมีเงินสดมาวาง มีหลักทรัพย์อื่นมาวาง หรือมีบุคคลอื่นมาเป็นหลักทรัพย์มาวาง หรือมีบุคคลอื่นมาเป็นประกัน โดยแสดงหลักทรัพย์
สำหรับการปล่อยชั่วคราว ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 กำหนดหลักการในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไว้ว่า การกระทำของรัฐที่เป็นการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาตัวบุคคลมาไว้ในอำนาจรัฐ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น เหตุนี้การคุมขังผู้ต้องหา หรือจำเลย ตามปกติจักต้องพิจารณาว่าเป็นกรณีที่น่าเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไม่ด้วย ฉะนั้น หากกรณีคดีมีหลักฐานตามสมควรว่าการกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นความผิดร้ายแรง หรือเป็นที่น่าเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือเป็นที่น่าเชื่อถือว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยินกับพยานหลักฐาน หรือกรณีคดีมีหลักฐานตามสมควรว่า การกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นความผิด และมีเหตุอื่นที่จำเป็นและสมควร ก็จะเป็นกรณีที่จะต้องนำเหตุดังกล่าวมาพิจารณาว่า จำเป็นต้องคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลย เพื่อดำเนินคดีต่อไปหรือไม่ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้การพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาพนักงานอัยการต้องพิจารณาถึงความจำเป็น ในการเอาตัวบุคคลนั้นไว้ในอำนาจรัฐโดยชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ของรัฐ ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและสิทธิเสรีภาพของบุคคลจะถูกกระทบเกินความจำเป็นหรือเกินสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นว่าพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไม่มีเหตุอื่นที่จำเป็นและสมควรแล้ว พนักงานอัยการต้องปล่อยตัวบุคคลหรืออนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตามคำร้องขอเสมอ
อย่างไรก็ตาม แม้ในข้อกฎหมายหรือระเบียบจะกล่าวไว้เช่นนี้แต่ในทางปฏิบัติต้องยอมรับว่า การคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยกลายเป็นเรื่องหลัก แต่ปล่อยชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น ดังนั้น การพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราว พนักงานอัยการจะต้องพิจารณาถึงหลัก และข้อยกเว้นให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน โดยเฉพาะเมื่อได้ทำความเข้าใจหลักการดังกล่าวแล้ว ในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา พนักงานอัยการต้องพิจารณาโดยไม่ชักช้า โดยหัวหน้าพนักงานอัยการเป็นผู้สั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยจะต้องบันทึกเหตุผลในการสั่งไว้ให้ชัดเจน ในกรณีสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว พนักงานอัยการต้องแจ้งผลการพิจารณา พร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราวทราบโดยเร็ว
3. ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรม
ในการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ ที่พนักงานอัยการจะเป็นผู้รับสำนวนการสอบสวนพร้อมผู้ต้องหา เพื่อยื่นฟ้องคดีความนั้นๆ ต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ซึ่งในระหว่างที่รับสำนวนการสอบสวน ผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีอาญาอาจยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในกรณีต่างๆ เกี่ยวกับคดี พนักงานอัยการจึงมีหน้าที่ในการใช้ดุลพินิจสั่งคดีกรณีร้องขอความเป็นธรรมด้วย ซึ่งการใช้ดุลพินิจสั่งคดีดั่งกล่าว ถือเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลอีกกรณีหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควร หรือผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องในคดีร้องขอ พนักงานอัยการอาจสั่งให้พนักงานสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้ส่งพยานมาเพื่อซักถามเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคดีก็ได้
ในคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม ให้พนักงานอัยการทำความเห็นเสนอสำนวนตามลำดับชั้นถึงอธิบดีเพื่อพิจารณาสั่ง เมื่ออธิบดีมีคำสั่งประการใดก็ให้ปฏิบัติตามนั้น
กล่าวโดยสรุป ภาระหน้าที่พนักงานอัยการในการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในฐานะองค์กรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา นับเป็นหน้าที่ที่ทีความสำคัญยิ่ง ที่พนักงานอัยการจะต้องเป็นกลไกการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาในด้านต่างๆ ให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ ในขณะที่งานด้านการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในด้านอื่นๆ ของพนักงานอัยการก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน รวมทั้งภาระหน้าที่ของพนักงานอัยการที่อาจจะต้องมีภารกิจสำคัญเพิ่มขึ้น ในฐานะองค์กรหรือหน่วยงานที่จะต้องรับผิดชอบในการสอบสวนคดีอาญา หรือโดยร่วมกับองค์กรอื่นในอนาคต
4. การใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดี
พนักงานอัยการสามารถใช้ดุลพินิจในการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีได้ ซึ่งขึ้นอยู่สภาวการณ์และเงื่อนไขต่างๆ สำหรับเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องในการสั่งไม่ฟ้องในคดีในชั้นการพิจารณาของพนักงานอัยการนั้น พนักงานอัยการชอบที่จะเป็นไปตามลำดับ ดังนี้
1) พิจารณาเงื่อนไขให้อำนาจดำเนินคดีหรือเงื่อนไขระงับคดี ซึ่งพนักงานอัยการจะต้องกระทำ ก่อนที่จะพิจารณาในเนื้อหาคดีในขั้นต่อไป ถ้ากรณีมีเงื่อนไขระงับคดีพนักงานอัยการก็จะต้องสั่งระงับการดำเนินคดีหรือยุติการดำเนินคดีเพราะเหตุนั้น

2) เมื่อพนักงานอัยการพิจารณาแล้วว่ากรณีไม่มีเงื่อนไขระงับคดีพนักงานอัยการก็จะต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า การกระทำที่กล่าวหานั้นเป็นความผิดต่อกฎหมายหรือไม่ ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำที่กล่าวหา ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมาย พนักงานอัยการก็ต้องสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา
3) พนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำที่กล่าวหานั้น เป็นความผิดต่อกฎหมาย พนักงานอัยการก็ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำผิดหรือไม่ ถ้าผู้ต้องหามิได้เป็นผู้กระทำผิด พนักงานอัยการก็ต้องสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหานั้น
4) ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำที่กล่าวหา เป็นความผิดต่อกฎหมายและเห็นว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิด พนักงานอัยการก็ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าพยานหลักฐานเพียงพอ แก่การพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาหรือไม่ ถ้าเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ พนักงานอัยการก็ต้องสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา
5) แม้ว่าการกระทำที่กล่าวหาเป็นความผิดต่อกฎหมาย ผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดและมีพยานหลักฐานเพียงพอ พนักงานอัยการก็ชอบที่จะพิจารณาต่อไปเป็นลำดับสุดท้ายอีกว่า มีเหตุอันควรที่จะไม่ฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่ ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่ามีเหตุอันควรไม่ฟ้องผู้ต้องหา พนักงานอัยการก็ต้องสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหานั้น
จากกระบวนการหรือขั้นตอนในการสั่งคดีของพนักงานอัยการข้างต้น จะเห็นได้ว่าการใช้ดุลพินิจในการไม่ฟ้องคดี เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการ และโดยที่หลักการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ คือ หลักการดำเนินคดีอาญาตามดุลพินิจ ฉะนั้น ในการสั่งคดีพนักงานอัยการจะต้องพิจารณาในเรื่องดุลพินิจนี้ด้วยเสมอ กล่าวคือหากพนักงานอัยการเห็นว่ามีเหตุตามดุลพินิจ หรือพิจารณาถึงหลักการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา ที่จะไม่ควรถูกดำเนินคดีในชั้นศาล ก็พิจารณาไม่ฟ้องคดีนั้นได้ แต่ดุลพินิจในการสั่งฟ้องคดีจะต้องมีขอบเขตเช่นกัน เพราะดุลพินิจไม่มีขอบเขตย่อมไม่ใช่ดุลพินิจแต่เป็นอำเภอใจ ซึ่งโดยปกติแล้วการสั่งคดีนั้นย่อมถือหลักว่าผู้กระทำได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหรือไม่ ถ้ากระทำผิดต่อกฎหมายก็สั่งดำเนินคดีฟ้องร้องไป แต่ในบางกรณีพนักงานอัยการอาจสั่งไม่ฟ้องคดีที่มีผู้กระทำผิดต่อกฎหมายก็ได้เพราะไม่มีกฎหมายห้าม แต่ต้องมีเหตุอันสมควรที่พนักงานอัยการจะสั่งไม่ฟ้องในกรณีเช่นนั้น ไปพร้อมๆ กันเลย โดยเหตุผลว่าอาจเกิดความขัดแย้งกันในการปฏิบัติหน้าที่ และปัญหาการประสานงานกัน ระหว่างหน่วยงานทั้งสองหน่วยงาน เพียงแต่ตราเป็นข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย กำหนดให้ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มีอำนาจหน้าที่สอบสวนคดีอาญา หรือให้ฝ่ายปกครองตรวจสอบถ่วงดุลเท่านั้น
5. การคุ้มครองสิทธิในกรณีผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี
กรณีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี นั้น การสอบสวนคดี ดังกล่าวประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาได้กำหนดมาตรการและแนวทางในการคุ้มครองสิทธิของเด็กไว้ โดยกฎหมายได้กำหนดให้บุคคลต่อไปนี้เข้าร่วมสอบสวนด้วย คือ
1) พนักงานสอบสวน
2) พนักงานอัยการ
3) นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์
4) บุคคลที่เด็กร้องขอ
5) ทนายความ
การสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี นั้น กฎหมายมีความประสงค์ที่จะให้พนักงานอัยการเข้าคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการคุ้มครองเด็กและเป็นการตรวจสอบอำนาจรัฐไปด้วยในตัว
หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาเกี่ยวกับการสอบสวนในคดีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี นั้น มีดังนี้
1) ผู้ต้องหาต้องอายุไม่เกิน 18 ปี ในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ไม่ใช่วันกระทำความผิด
2) กรณีถืออายุผู้ต้องหาไม่เกิน 18 ปี เป็นหลัก มิได้ถือเอาอัตราโทษเป็นหลัก ดังนั้นถ้าผู้ต้องหาอายุไม่เกิน 18 ปีแล้ว พนักงานอัยการต้องเข้าร่วมคุ้มครองสิทธิโดยร่วมทำการสอบสวนกับพนักงานสอบสวน
3) การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ให้นำบทบัญญัติมาตรา 133 ทวิ และมาตรา 133 ตรี ว่าด้วยการสอบสวนผู้เสียหายหรือพยานอายุไม่เกิน 18 ปีมาใช้บังคับโดยอนุโลม
4) ในการถามปากคำผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เพื่อที่จะได้ใช้คำถามที่เหมาะสม
จากการที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดให้พนักงานอัยการเข้าร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนกรณีของผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ถือเป็นการเริ่มต้นที่ให้พนักงานอัยการเข้าคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาเพื่อให้ผู้ต้องหาได้รับการสอบสวนที่รวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปีพุทธศักราช 2550 มาตรา 40




6. กรณีร่วมชันสูตรพลิกศพ
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคสาม ได้บัญญัติให้พนักงานอัยการเข้าร่วมชันสูตรพลิกศพในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้น โดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ความตายที่เกิดขึ้นจากทั้ง 2 กรณีดังกล่าวนี้ พนักงานอัยการต้องเข้าร่วมกับแพทย์ พนักงานสอบสวน และพนักงานฝ่ายปกครอง ทำการชันสูตรพลิกศพที่เกิดจากการตายทั้ง 2 ประเภทตามที่ได้กล่าวมาแล้ว กฎหมายมาตรานี้ได้แก้ไขใหม่เพื่อที่จะให้ตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวน ทั้งกฎหมายยังได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการในการร้องขอต่อศาลเพื่อทำการไต่สวนถึงเหตุแห่งการตายโดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้
1) ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ ร่วมชันสูตรพลิกศพกับพนักงานสอบสวนและแพทย์
2) ให้พนักงานสอบสวนทำการชันสูตรพลิกศพ ในกรณีที่จะต้องร้องขอให้ศาลไต่สวนการตาย เพื่อส่งให้พนักงานอัยการ ภายในเวลาสามสิบวัน นับแต่วันได้ทราบเรื่อง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนการชันสูตรพลิกศพ
3) เมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนการตาย ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวน ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ
4) ให้ศาลปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่จะทำการไต่สวนไว้ที่ศาลและให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลส่งสำเนาคำร้องและแจ้งกำหนดวันนัดไต่สวนให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือญาติของผู้ตายตามลำดับ อย่างน้อยหนึ่งคนเท่าที่สามารถทำได้ก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
5) ให้พนักงานอัยการนำพยานหลักฐานทั้งปวงที่แสดงถึงการตายมาสืบ
6) ก่อนการไต่สวนเสร็จสิ้น สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล ขอเข้ามาซักถามพยานที่พนักงานอัยการนำสืบ และนำสืบพยานอื่นได้ด้วยเพื่อการนี้ บุคคลดังกล่าวมีสิทธิแต่งตั้งทนายความดำเนินการแทนได้ หากไม่มีทนายความที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาในคดีกฎหมายให้ศาลแต่งตั้งทนายความขึ้นเพื่อทำหน้าที่ทนายความฝ่ายญาติผู้ตาย
7) เมื่อศาลเห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะเรียกพยานที่นำสืบมาแล้วมาสืบเพิ่มเติม หรือเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบก็ได้และศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการไต่สวนหรือทำคำสั่ง
8) ญาติของผู้ตายที่นำสืบพยานตามข้อ 6) มีสิทธิให้ศาลเรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญอื่นมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลเรียกได้
9) เมื่อไต่สวนเป็นที่พอใจแล้ว ศาลจะมีคำสั่งว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และเหตุแห่งการตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครทำร้าย และวินิจฉัยว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามกฎหมายหรือไม่ แต่จะไม่สั่งว่าการกระทำให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่ เพราะไม่ใช่การวินิจฉัยคำฟ้องทางอาญา
10) คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุดแต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิฟ้องร้อง และการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล หากพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้องหรือจะฟ้องเกี่ยวกับการตายนั้น
11) เมื่อศาลมีคำสั่งแล้ว ให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการ เพื่อส่งให้แก่พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป