วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

เอกสารการสอนชุดที่ 4

ระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 4
อาจารย์เมธาพร กาญจนเตชะ
องค์กรตำรวจ
1. ความหมาย
ตำรวจ หมายถึง เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานที่สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็น "ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง" มีฐานะเป็นกรม และอยู่ในบังคับของนายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่รักษา ความสงบเรียบร้อยเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนตรวจสอบและสอดส่องดูแลทุกข์สุขของประชาชน ป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดทางกฎหมาย รักษากฎหมาย รวมทั้งดูแลรักษาผลประโยชน์สาธารณะ
ตำรวจเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งและเป็นส่วนแรกในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตำรวจทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนด้วย โดยมีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้ต้องหา ค้นหาหลักฐาน สอบสวน และสรุปสำนวนว่าจะสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่ แล้วจึงส่งเรื่องไปยังอัยการ
2. อำนาจหน้าที่ของตำรวจ
2.1 อำนาจหน้าที่ทั่วไป มีดังนี้
1) รักษาความสงบเรียบร้อยทั้งภายในและภายนอกประเทศเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
2) รักษากฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดทางอาญา
3) บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน
4) ดูแลรักษาผลประโยชน์สาธารณะ
2.2 อำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีอาญา แยกออกได้ 2 กรณี
1) อำนาจหน้าที่ทั่วไป
1.1) อำนาจในการสอบสวนคดีอาญา
1.2) อำนาจในการสืบสวนคดีอาญา
2) อำนาจหน้าที่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สรุปสาระสำคัญและจัดแบ่งเฉพาะที่สำคัญได้ 8 ขั้นตอน ดังนี้
2.1) การร้องทุกข์ในคดีอาญา เมื่อเกิดอาชญากรรมหรือคดีอาญาขึ้น
(1) ผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดที่เกิดขึ้น
(2) เจ้าพนักงานผู้ประสบเหตุ หรือ
(3) ผู้เห็นเหตุการณ์ ฝ่ายหนึ่ง อาจนำเรื่องไปแจ้ง กล่าวโทษ หรือร้องทุกข์ต่อตำรวจ โดยผู้ต้องหา ซึ่งหมายถึง ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดคดีอาญานั้น ๆ อยู่อีกฝ่ายหนึ่ง
2.2) ตำรวจทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน โดยรับแจ้งเหตุแล้วทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเป็นสำนวนคดี และเพื่อให้ตำรวจสามารถดำเนินการได้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติให้อำนาจตำรวจ (พนักงานสอบสวน) ไว้ดังนี้
(1) อำนาจในการสอบสวนและสืบสวนคดีอาญา เพื่อให้ทราบตัวผู้กระทำความผิดและหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์การกระทำผิด
(2) ตรวจค้นตัวบุคคลและสถานที่ เพื่อหาพยานหลักฐานและจับกุมผู้ต้องหา
(3) จับกุมผู้ต้องหา เพื่อนำมาดำเนินคดี
(4) ออกหมายเรียกพยานและผู้ต้องหา มาเพื่อทำการสอบสวนไว้เป็นพยานหลักฐานในคดี
(5) ยึดวัตถุพยาน เพื่อเป็นพยานหลักฐานในคดี
(6) ควบคุมตัวผู้ต้องหา เพื่อทำการสอบสวน
(7) ให้ประกันตัวผู้ต้องหาในระหว่างการสอบสวน
2.3) คดีอาญาที่เลิกกันได้ในชั้นตำรวจในฐานะเป็นพนักงานสอบสวน ดังนี้
(1) คดีอาญาที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว เช่น คดีฉ้อโกงทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์
(2) คดีที่ตำรวจมีอำนาจเปรียบเทียบปรับ และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามกำหนดแล้ว เช่น คดีความผิดพระราชบัญญัติจราจร เป็นต้น
2.4) อำนาจการควบคุมผู้ต้องหาในระหว่างการสอบสวนของตำรวจ เฉพาะคดีที่มีอัตราโทษที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจตำรวจทำการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ในระหว่างการสอบสวนได้ แยกเป็น 2 กรณี คือ
(1) คดีที่อยู่ในอำนาจศาลแขวง ควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ 48 ชั่วโมง
(2) คดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญา ควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ 3 วัน
2.5) การขอผัดฟ้อง และฝากขังผู้ต้องหา หลังจากครบอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาแล้ว หากการสอบสวนยังไม่เสร็จ ตำรวจต้องนำผู้ต้องหาไปขอผัดฟ้อง ฝากขัง ต่อศาลแขวงหรือศาลอาญา ดังนี้
(1) คดีที่อยู่ในอำนาจศาลแขวง ผัดฟ้อง (ในกรณีผู้ต้องหามีประกันตัว) หรือผัดฟ้องฝากขังในกรณีผู้ต้องหาไม่มีประกันตัวได้ไม่เกิน 5 ครั้ง ๆ ละไม่เกิน 6 วัน
(2) คดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญา
(3) คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่า 6 เดือน แต่ไม่ถึง 10 ปี หรือปรับเกินกว่า 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฝากขังได้หลายครั้งติด ๆ กัน แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 48 วัน
(4) คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป ฝากขังได้หลายครั้งติด ๆ กัน ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน รวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 84 วัน
เมื่อศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องฝากขัง (คดีศาลแขวง) หรือฝากขัง (คดีอาญา) แล้ว จะมอบตัวผู้ต้องหาให้อยู่ในอำนาจการควบคุมของศาลซึ่งศาลจะได้มอบให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวไปควบคุมไว้ในเรือนจำต่อไป
กรณีผู้ต้องหาได้ประกันตัวในชั้นสอบสวน ตำรวจไม่ต้องขออำนาจศาลฝากขังแต่อย่างใด
2.6) การสรุปสำนวนของตำรวจ เมื่อตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้ว ก็จะสรุปสำนวนการสอบสวน มีความเห็นทางคดีได้ 3 ทาง ดังนี้
(1) เห็นควรงดการสอบสวน (กรณีไม่มีตัวผู้ต้องหา)
(2) เห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา
(3) เห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา
2.7) กรณีตำรวจมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมตัวผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนการประกันตัวชั้นการควบคุมของอัยการ ผู้ต้องหามีสิทธิจะยื่นคำร้องขอประกันตัวต่ออัยการได้
2.8) กรณีตำรวจมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการเพื่อพิจารณาต่อไป ส่วนตัวผู้ต้องหาหากอยู่ในความควบคุมของตำรวจให้ปล่อยตัวไป หากอยู่ในความควบคุมของศาล ให้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวผู้ต้องหาต่อศาล
สรุป ตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมเป็นลำดับแรก อำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานหรือบริหารงานราชการของตำรวจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาที่สำคัญ มี 8 ขั้นตอน ซึ่งมากเพียงพอที่จะให้ความยุติธรรมและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนได้

3. ขอบเขตอำนาจของตำรวจในการดำเนินคดีอาญา
· ป.วิอาญา มาตรา 120
4. เขตอำนาจสืบสวนคดีอาญาของตำรวจ
· ป.วิอาญา มาตรา 17 “ ...ตำรวจมีอำนาจสืบสวนคดีอาญาได้”
5. ความแตกต่างและความสัมพันธ์ระหว่างการสืบสวนกับการสอบสวนคดีอาญา
· ป.วิอาญา มาตรา 2(10) “การสืบสวน”
· ป.วิอาญา มาตรา 2(11) “การสอบสวน”
6. การใช้ดุลพินิจของตำรวจ
6.1 ประเภทของดุลพินิจตำรวจไทย อาจแยกออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
(1) ดุลพินิจเพื่อดำเนินคดี
(2) ดุลพินิจเพื่อระงับคดี

6.2 การใช้ดุลพินิจของตำรวจ
6.3 กรณีที่ต้องใช้ดุลพินิจ
7. การควบคุมดุลพินิจของตำรวจ
8. มาตรการควบคุมดุลพินิจของตำรวจ
8.1 มาตรการควบคุมภายใน (Internal Control)
8.2 มาตรการควบคุมภายนอก (External Control)

เอกสารการสอนชุดที่ 3

วิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 3
อาจาร ย์เมธาพร กาญจนเตชะ
ทฤษฎีเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา[1]
1. ทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม (Crime Control)
ทฤษฎีนี้ต้องการส่งเสริมและเน้นประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม โดยมุ่งควบคุมระงับและปราบปรามอาชญากรรมเป็นหลัก ทฤษฎีนี้เชื่อว่าการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถจะควบคุมและปราบปรามอาชญากรรม หรือจับกุมอาชญากรมาลงโทษตามกฎหมายได้ ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม และเสรีภาพของประชาชนผู้สุจริตจากการถูกคุกคามจากอาชญากรรม ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมที่ดีต้องมีสถิติการจับกุมผู้กระทำความผิดสูง และผู้ที่ถูกจับกุมได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่กระทำผิดจริง โดยมีหลักประกันแก่สังคมว่าในการดำเนินคดีอาญาจะต้องดำเนินไปอย่างรวดเร็วและมีความแน่นอนและด้วยความเชื่อว่าฝ่ายปกครอง (เจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการ) จะค้นหาข้อเท็จจริงในคดีได้ดีกว่าศาล การค้นหาข้อเท็จจริงในคดีจะพยายามให้ยุติในขั้นต้นของกระบวนการยุติธรรมให้มากที่สุด[2] และหากยอมรับว่าการค้นหาข้อเท็จจริงในชั้นตำรวจและอัยการเพียงพอที่จะเชื่อถือได้แล้ว การใช้ดุลพินิจสั่งคดีย่อมสามารถกระทำได้อย่างไม่ต้องลังเล คดีอาญาต่างๆ ก็สามารถดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอและมีความต่อเนื่อง[3] ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ต้องสงสัยที่เป็นผู้บริสุทธิ์ถูกปล่อยตัวโดยเร็ว และผู้ต้องหาที่มีหลักฐานว่าเป็นผู้กระทำผิดจะถูกดำเนินคดีแน่นอนเช่นกัน

2. ทฤษฎีกระบวนการนิติธรรม (Due Process)
ทฤษฎีนี้ยึดหลักกฎหมายหรือหลักนิติธรรมมากกว่าความคิดในเรื่องการควบคุมอาชญากรรม และไม่เชื่อว่าความความคิดในการควบคุมอาชญากรรมนั้นจะมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการค้นหาข้อเท็จจริง ดังนั้น แนวความคิดของทฤษฎีกระบวนการนิติธรรม จึงไม่เห็นด้วยกับการแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างไม่เป็นทางการของทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม การใช้อำนาจของเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่จำเป็นต้องได้รับการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานมิให้ล่วงละเมิดสิทธิของบุคคล และต้องการให้มีการพิจารณาคดีหรือไต่สวนข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการ และเปิดเผยในศาลสถิตยุติธรรม ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและกฎหมายต่อหน้าองค์คณะของผู้พิพากษาที่เป็นกลาง ไม่ลำเอียงเข้ากับฝ่ายใด
ในปัจจุบัน การดำเนินคดีอาญาไม่สามารถดำเนินตามทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งได้ ต้องนำทฤษฎีทั้งสองมารวมกันจึงจะเกิดผลดีสำหรับดำเนินคดีอาญา ซึ่งการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะต้องสามารถควบคุมและปราบปรามผู้กระทำความผิด และในขณะเดียวกันต้องให้มีการพิจารณาคดีที่เป็นกลางและไม่ลำเอียงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นการคุ้มครองบุคคลตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานซึ่งไม่ควรให้รัฐมาทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ได้ หรือเรียกว่าเป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทางอาญา
[1] Packer, Herbert. The Limits of Criminal Sanction (Stanford : 1968) อ้างใน อภิรัตน์ เพ็ชรศิริ และคณะ, สิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทย (กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2529), หน้า 1.
[2] ประธาน วัฒนวาณิชย์, “ระบบความยุติธรรมทางอาญา : แนวความคิดเกี่ยวกับการควบคุมอาชญากรรมและกระบวนการนิติธรรม”, วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 2520, หน้า 151-152
[3] ประธาน วัฒนวาณิชย์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 151.

เอกสารการสอนชุดที่ 1

วิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 1
อ.เมธาพร กาญจนเตชะ
การดำเนินคดีอาญา
1. การดำเนินคดีอาญาตามแนวความคิดสากล
การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอาญา มีแนวปฏิบัติตามมาตรฐานสากล คือ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญา คือ
บุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมายอย่างเป็นธรรมและเปิดเผยในศาลซึ่งเป็นอิสระและไร้อคติ และการพิจารณาคดีอาญาบุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันขั้นต่ำอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันในเรื่องต่างๆ เช่น มีสิทธิที่จะมีเวลาและได้รับความสะดวกเพียงพอในการสู้คดี สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยปราศจากการชักช้าอย่างไม่เป็นธรรม สิทธิที่จะอุทธรณ์การลงโทษ และคำพิพากษาต่อศาลสูงให้พิจารณาทบทวนอีกครั้งตามกฎหมาย เป็นต้น
2. การดำเนินคดีอาญาตามหลักผู้ที่เข้ามาดำเนินคดี
2.1 หลักการดำเนินคดีอาญาโดยผู้เสียหาย
เป็นเรื่องของผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือบุคคลที่ใกล้ชิดของผู้เสียหายกระทำการดำเนินคดีเอง[1] เป็นในรูปของการแก้แค้นเป็นการส่วนตัวหรือทำสงครามระหว่างกลุ่มชนที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐทำหน้าที่เป็นคนกลางตัดสินความถูกผิด รวมถึงการบังคับให้ผู้กระทำความผิดรับผิดตามข้อเรียกร้องของผู้เสียหาย ด้วยเหตุนี้หลักการดำเนินคดีจึงคำนึงเฉพาะส่วนได้เสียบุคคลเป็นหลัก ไม่มีส่วนได้เสียของสังคมเข้าไปเกี่ยวข้อง[2]
2.2 หลักการดำเนินคดีอาญาโดยประชาชน
การดำเนินคดีอาญาโดยประชาชน (Popular Prosecution) เป็นระบบการดำเนินคดีที่ถือว่าประชาชนทุกคนเป็นหน่วยหนึ่งของรัฐหรือสังคม ถ้ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น ประชาชนทุกคนมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ด้วยและถือว่ามีหน้าที่ในการฟ้องร้องและดำเนินคดีอาญาเป็นของประชาชน จึงทำให้ประชาชนทุกคนเป็นผู้เสียหาย[3] แนวความคิดเช่นนี้ปรากฏขึ้นอย่าง ชัดเจนในระบบกฎหมายโรมัน โดยจำแนกความผิดระหว่างการกระทำผิดต่อส่วนตัว (Delit Private) กับการกระทำความผิดอาญาแผ่นดิน (Delit Public) ออกจากกันและจากการจำแนกการกระทำผิดนี้เอง จึงให้เกิดการฟ้องคดีอาญาตามหลักการดำเนินคดีอาญาโดยประชาชน[4]
2.3 หลักการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ
การดำเนินคดีโดยรัฐ (Public Prosecution) เป็นหลักการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นแนวความคิดทางอรรถประโยชน์นิยม คือ การกระทำใดที่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสังคม รัฐซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมจะต้องเข้าไปดำเนินการป้องกันการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อสังคม หลักการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐมีแนวคิดพื้นฐานหรือแหล่งที่มาจากประเทศในภาคพื้นยุโรปเป็นส่วนใหญ่ โดยจะมุ่งให้ความคุ้มครองสิทธิของสมาชิกในสังคมหรืออาจเรียกว่า ประโยชน์สาธารณะ ประเทศที่ใช้หลักการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ ส่วนมากจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเรียกว่า “พนักงานอัยการ” มีสถานภาพเป็นตัวแทนของรัฐ
ดังนั้น ตามแนวคิดพื้นฐานของหลักดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ บุคคลซึ่งเสียหายไม่มีสิทธิในการเข้ามาฟ้องร้องและดำเนินคดีอาญา โดยมีประโยชน์ของรัฐหรือสังคมเหนือกว่าประโยชน์ของบุคคลรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้ใช้อำนาจในการดำเนินคดีอาญาในการรักษาความสงบเรียบร้อย
การดำเนินคดีอาญาผู้ที่เข้ามาดำเนินคดีไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด คือ ผู้เสียหาย ประชาชน หรือ รัฐก็ตาม สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องอำนวยความยุติธรรมอย่างเสมอภาคกันโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าบุคคลที่เข้ามาจะมีสถานะเช่นไร เนื่องจากบุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกันในการเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ดังนั้น ไม่สมควรให้ความสำคัญกับการดำเนินคดีอาญาในกรณีใดกรณีหนึ่ง เช่น ให้เอกสิทธิหรือให้ความสำคัญกับการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐมากกว่ากรณีที่ผู้เสียหายที่เข้ามาดำเนินคดีอาญาเอง เป็นต้น


[1] อรรถพล ใหญ่สว่าง, ผู้เสียหายในคดีอาญา, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2524), หน้า 5.
[2] อุดม รัฐอมฤต, “การฟ้องคดีอาญา”, วารสารนิติศาสตร์ ปี 22 ฉบับที่ 2, 2535, หน้า 243.
[3] คณึง ฦาไชย, กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เล่ม 1, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531), หน้า 69.
[4] อุดม รัฐอมฤต, เรื่องเดียวกัน, หน้า 243.

วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2553

กระบวนความยุติธรรมทางอาญา

วิชาระบบความยุติธรรมทางอาญา ชุดที่ 2

อาจารย์เมธาพร กาญจนเตชะ

การค้นหาความจริงในคดีอาญา

การค้นหาความจริงในคดีอาญา โดยทั่วไปจะมีหลักการค้นหาความจริงอยู่ 2 ระบบ คือ ระบบไต่สวน กับ ระบบกล่าวหา ซึ่งศาลของประเทศต่างๆ ย่อมดำเนินตามกฎหมายในการค้นหาความจริงจากพยานหลักฐานตามระบบที่ประเทศของตนใช้อยู่[1] และย่อมจะแตกต่างกันไป สุดแล้วแต่จะเห็นว่าระบบใดมีความเหมาะสมเพื่อดำเนินไปสู่เป้าหมายได้ดีที่สุด

1. ระบบไต่สวน (Inquisitorial System)

การค้นหาความจริงในระบบนี้เป็นของระบบที่ใช้อยู่ในกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรปซึ่งเป็นระบบซีวิลลอว์ เป็นการพิจารณาคดีที่ไม่ใช่ลักษณะของการต่อสู้ระหว่างคู่ความในคดี แต่เป็นระบบที่ใช้วิธีซักฟอกหาข้อเท็จจริงในคดีที่เกิดขึ้น องค์กรทุกฝ่ายในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะมีการร่วมมือกันในการค้นหาข้อเท็จจริงอย่างจริงจัง ศาลหรือผู้พิพากษาจะเป็นผู้รับผิดชอบในการค้นหาข้อเท็จจริงจากการสืบพยานหลักฐาน และข้อเท็จจริงของการกระทำผิด โดยไม่ปล่อยให้เป็นบทบาทหน้าที่ของพนักงานอัยการและทนายจำเลยเท่านั้น ศาลจะเป็นผู้ดำเนินการค้นหาข้อเท็จจริง ด้วยตนเอง กำหนดประเด็นในคดีในฐานะเป็นผู้ดำเนินการพิจารณาสืบพยาน เป็นผู้ควบคุมการดำเนินคดีทุกขั้นตอนและอยู่ในฐานะที่สามารถให้ความคุ้มครองแก่สิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาได้โดยตรง ไม่มีบทกฎหมายวางระเบียบการสืบพยาน หรือไม่มีบทตัดพยาน (Exclusionary Rule) โดยเคร่งครัดว่าพยานประเภทนี้รับฟังได้หรือไม่ได้ ดังนั้น ศาลมักจะรับพยานหลักฐานทุกชิ้นเข้าสู่สำนวนความ และจะไปพิจารณาละเอียดตอนชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าพยานชิ้นใดควรมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ศาลจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจได้กว้างขวางและ ยืดหยุ่นได้มาก

เนื่องจากระบบนี้ บทบาทสำคัญในการดำเนินกระบวนการพิจารณาค้นหาความจริง คือ ผู้พิพากษาหรือศาลเท่านั้น ดังนั้นระบบนี้จะได้ผลหรือค้นหาความจริงได้ถูกต้องก็ต่อเมื่อ ผู้พิพากษานั้นกระทำการไต่สวนด้วยความระมัดระวัง ไม่ลำเอียง ต้องดำรงตนในฐานที่ไม่เป็นปฏิปักษ์และเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งลักษณะเช่นนี้ได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นทฤษฎีบริสุทธิ์หรืออุดมคติผลจะเป็นจริงเป็นไปได้ยาก เพราะผู้ไต่สวนมักไม่สามารถหลีกเลี่ยงอคติจากการแสวงหาความจริงได้

2. ระบบกล่าวหา (Adversary System)

การค้นหาความจริงในระบบนี้เป็นของระบบคอมมอนลอว์ที่ใช้อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ การดำเนินคดีในระบบนี้อยู่ภายใต้แนวความคิดที่ว่าการดำเนินคดีเป็นการต่อสู้ของบุคคล 2 ฝ่าย จึงมีรูปแบบการดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นการต่อสู้ระหว่างคู่ความทำนองเดียวกับคดีแพ่ง การพิจารณาคดีอาญาในระบบนี้ประกอบด้วยองค์กร 3 ฝ่ายได้แก่

1) ศาล (Trail Judge) ซึ่งจะเป็นผู้รักษากฎเกณฑ์ในการพิจารณาคดีเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างประโยชน์ของรัฐและสิทธิเสรีภาพของเอกชน

2) พนักงานอัยการ (Prosecution)

3) ทนายจำเลย (Defense Attorney)

ระบบการพิจารณาคดีมีรากฐานมาจากการดำเนินคดีโดยประชาชน (Popular Prosecution) เป็นกรณีที่เอกชนคนหนึ่งฟ้องเอกชนอีกคนหนึ่งที่มีฐานะเท่าเทียมกัน มีลักษณะการต่อสู้กันระหว่างโจทก์ จำเลย ส่วนศาลวางตนเป็นกลาง วางเฉย ทำให้โจทก์ผู้ฟ้องคดีต่อศาลมีหน้าที่นำสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด จึงเป็นการต่อสู้คดีอย่างเคร่งครัดและใช้วิธีการค้นหาความจริงโดยการถามค้านเป็นหลัก และศาลจะตัดสินไปตามพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบ ศาลแทบไม่มีหน้าที่ถามพยานบุคคลที่อยู่ต่อหน้าจำเลยคือจะถามเฉพาะเมื่อคำตอบของพยานที่ตอบโจทก์หรือจำเลยไม่เป็นที่ชัดแจ้งหรือไม่เป็นที่เข้าใจ ศาลจะไม่ถามเพื่อค้นหาความจริงจากพยานบุคคลที่มาให้การอยู่ต่อหน้าศาล เพียงแต่จะควบคุมการนำเสนอพยานหลักฐานของคู่ความ ตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับพยานหลักฐานการนำเสนอพยานหลักฐานในคดี จะถือว่าคู่ความทราบอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากมีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว มีการสืบพยานที่เคร่งครัดมาก มีบทตัดพยานที่เด็ดขาด ศาลจะไม่แสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม เหตุผลก็เนื่องจากความจำเป็นของกติกาในการต่อสู้ระหว่างคู่ความมิให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันและในประเทศระบบคอมมอนลอว์ใช้ระบบการพิจารณาคดีที่มีลูกขุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดามาเป็นผู้ชี้ขาดข้อเท็จจริง ดังนั้น การค้นหาความจริงตามระบบคอมมอนลอว์จึงปล่อยให้คู่กรณีนำพยานหลักฐานมาสืบกันเอง เมื่อถึงขั้นสุดท้ายผู้พิพากษาเป็นผู้ตัดสินให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะคดี ตามพยานหลักฐานที่มีการนำมาพิสูจน์ได้

ข้อแตกต่างของระบบไต่สวนและระบบกล่าวหา

1. ระบบไต่สวน

ระบบนี้ศาลยุติธรรมสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสืบสวนโดยถือว่าเป็นเจ้าพนักงานสืบสวนคนหนึ่ง ศาลมีสิทธิที่จะถามปัญหาข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด เช่น ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานชิ้นไหนควรสืบเพิ่มศาลสามารถที่จะสืบได้โดยที่คู่ความไม่ต้องร้องขอ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคู่ความที่มีความไม่เท่าเทียมกันในการต่อสู้คดี เช่น ไม่มีความรู้เพียงพอ หรือมีฐานะยากจนที่ไม่สามารถว่าจ้างทนายความที่มีความสามารถในการต่อสู้คดี เป็นต้น และในขณะเดียวกันก็มีอำนาจที่จะตัดสินคดีด้วย จะเห็นได้ว่าในระบบนี้ศาลสามารถที่จะเข้าไปอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้สูง แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังสำหรับระบบไต่สวนนี้ คือ ถ้าศาลไม่กระทำการไต่สวนด้วยความระมัดระวัง หรือมีความลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคระหว่าง คู่ความได้

2. ระบบกล่าวหา

ระบบนี้ศาลจะวางตนอย่างเป็นกลาง โดยเปิดโอกาสให้คู่ความต่อสู้คดีอย่างเท่าเทียมกัน ศาลจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการต่อสู้คดีระหว่างคู่ความ ถ้ามองเผินๆจะเห็นได้ว่าระบบนี้เป็นการให้คู่ความต่อสู้คดีอย่างเสมอภาคกัน แต่ในความจริงที่ว่าคู่ความมีความต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฐานะ ความรู้ การวางตนเป็นกลางของศาลอาจก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคในการต่อสู้คดีได้ เนื่องจากข้อเท็จจริงบางประการคู่ความที่มีความรู้น้อยกว่า หรือฐานะยากจน ไม่สามารถที่นำพยานหลักฐานที่สำคัญชิ้นนั้นมาเสนอต่อศาลได้ การวางตนเป็นกลางของศาลจึงอาจทำให้คู่ความที่ด้อยกว่าในเรื่องความรู้ และฐานะทางการเงินไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง



[1] ชวเลิศ โสภณวัต, “กฎหมายลักษณะพยานของไทยเป็นกฎหมายในระบบกล่าวหาจริงหรือ”, ดุลพาห ปีที่ 28 เล่ม 6 , 2524, หน้า 36.